นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอร์แฮมของอังกฤษ ค้นพบหลุมดำขนาดมหึมา ซึ่งมีมวลราว 3.3 หมื่นล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ ชี้เป็นหนึ่งในหลุมดำที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยพบมา
การค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Notices of the Royal Astronomical Society โดย ดร.เจมส์ ไนติงเกล (James Nightingale) ผู้เขียนนำจากภาควิชาฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม กล่าวว่า “หลุมดำซึ่งมีมวลราว 3 หมื่นล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ เป็นหนึ่งในหลุมดำที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา และอยู่ในขีดจำกัดของขนาดหลุมดำที่มนุษย์เชื่อว่าจะมีขนาดใหญ่ได้ถึงขีดสุดแค่ไหนตามทฤษฎีในปัจจุบัน ฉะนั้นนี่จึงเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง”
นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีสังเกตหลุมดำด้วยเทคนิคเลนส์ความโน้มถ่วง ซึ่งใช้กาแล็กซีใกล้เคียงมาทำหน้าที่เป็นเลนส์ขยายภาพขนาดยักษ์ เผยให้เห็นการมีอยู่ของหลุมดำมวลมหาศาล เทหวัตถุทรงพลังจนแม้แต่แสงก็ไม่สามารถหนีรอดออกมาจากแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของมันได้ หลังจากนั้น พวกเขาก็ได้ทำแบบจำลองด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเดอร์แฮม และใช้ภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเพื่อยืนยันขนาดของหลุมดำมวลมหาศาลนี้
“วิธีการนี้จะสามารถช่วยให้เราตรวจจับหลุมดำได้อีกมากมาย ซึ่งจะช่วยเผยให้เห็นว่าเทหวัตถุเหล่านี้มีวิวัฒนาการอย่างไรในจักรวาล” ดร.ไนติงเกลกล่าว
ทั้งนี้ หลุมดำมวลมหาศาลเป็นวัตถุที่มีมวลมากที่สุดในจักรวาล โดยมีมวลระหว่าง 1-4 หมื่นล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าสามารถพบพวกมันได้ที่ใจกลางกาแล็กซีขนาดใหญ่ทั้งหมด รวมถึงกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา อย่างไรก็ตาม หลุมดำมวลมหาศาลเป็นเทหวัตถุที่พบได้ยาก และยังมีปริศนาอีกหลายอย่างที่มนุษย์ยังไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งต้องพึ่งพาการค้นคว้าจากแวดวงฟิสิกส์ดาราศาสตร์เพื่อไขความกระจ่างต่อไป
แฟ้มภาพ: Elena11 Via Shutterstock
อ้างอิง: