ทุกวันนี้การ Collaboration มีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้ากับเสื้อผ้า เสื้อผ้ากับเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้ากับนักร้อง นักร้องกับรถ รถกับเฟอร์นิเจอร์ ไขว้กันไปมาไม่รู้จบ แต่สำหรับวงการแฟชั่นบ้านเรา กับแค่การที่จะให้แบรนด์เสื้อผ้าสองแบรนด์มาเจอกันยังนับได้ว่ามีเพียงแค่นับนิ้วมือ เพราะถ้าอยากจะให้มันออกมาดีคงต้องอาศัยหลายปัจจัย
ไม่ว่าจะเป็นตัวแบรนด์ที่ต้องเป็นที่รู้จัก ช่วงเวลาและความเหมาะสมของการร่วมงานต้องเหมาะเจาะ สินค้าของแต่ละแบรนด์พอมาเจอกันแล้วต้องแปลกใหม่ และยิ่งถ่ายรูปสวย เข้ากับยุค และขายได้ก็จะยิ่งดีไปกันใหญ่ เช่นเดียวกับบทสัมภาษณ์ในวันนี้ที่มีแต่ ‘D’ กับ ‘D’
‘D’ แรกคือ Disaya แบรนด์สุดโรแมนติกที่ก่อตั้งโดย ออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล ดีไซเนอร์ที่ออกแบบชุดให้กับศิลปินหญิง เอมี ไวน์เฮาส์ บนปกอัลบั้มชื่อดังอย่าง Back to Black จับมือกับ เบสท์-ปฏิพัทธ์ ชัยภักดี
‘D’ ที่สอง Dry Clean Only แบรนด์สุดขบถที่แม้แต่ริฮานนาและบียอนเซ่ยังเคยใส่เสื้อผ้าของเขา ครั้งนี้สองดีไซเนอร์จะมาพูดคุยถึงเรื่องการทำงาน การโคจรมาเจอกันของสองแบรนด์ที่ต่างกันสุดขั้ว กระแสแฟชั่นรักษ์โลก ความเปลี่ยนแปลง และการเอาตัวรอดในยุคดิจิทัล
เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมงานครั้งนี้สักหน่อย ใครเป็นคนติดต่อใครไปก่อน
ออม: ทางทีม Disaya ติดต่อไปก่อนค่ะ เรารู้สึกว่าถ้าสองแบรนด์นี้มาเจอกันมันน่าสนใจ มันใหม่ เราอยากรู้ว่าคาแรกเตอร์ของทั้ง Disaya และ Dry Clean Only เมื่อมาบวกกันแล้วจะเป็นอย่างไร และดูมีความเป็นไปได้
เบสท์: คุยแบบทีเล่นทีจริงอยู่นาน พอได้รับคำเชิญจากทางแบรนด์ เรายังไม่ได้ตอบตกลงทันทีนะ เรากลับไปทำการบ้านก่อนว่าถ้าต้องทำจริงๆ มันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า เราไม่ห่วงกับทาง Disaya อยู่แล้ว แต่สำหรับเรา ถ้ารับปากอะไรไป เราห่วงว่ามันจะออกมาดีหรือเปล่า หรือจะออกมาในลักษณะไหนมากกว่า ใช้เวลานานเหมือนกัน ประมาณ 1-2 ปีกว่าจะเกิดขึ้น จากความเป็นคุณหนูมีคนขับรถของ Disaya มาเจอ Dry Clean Only ที่นั่งรถไฟใต้ดิน ภาพที่ได้มันน่าจะสนุก จึงตอบตกลง
แสดงว่าทาง Disaya น่าจะเห็นอะไรบางอย่าง
ออม: คือเรามีจุดร่วมที่เหมือนกัน เราชอบความ Craftsmanship ชอบอะไรที่เป็นงานประดิดประดอย งานปัก งานฝีมือ ซึ่งถ้าเอามารวมกันแล้วเราจะได้ภาพของผู้หญิงที่น่าสนใจมากขึ้น จริงๆ แกนหลักของคอลเล็กชันนี้เราเน้นความเป็นรากเหง้าของแต่ละแบรนด์ เรามีที่มาอย่างไร เราก็เลยกลับไปดูคอลเล็กชันเก่าๆ
เบสท์: เรามองว่ามันเป็นผู้หญิงคนเดียวกันนะ แค่คนละภาพ ไม่ใช่คนละคนเสียทีเดียว ถ้าเรามาย้อนดูข้อมูลกลุ่มลูกค้า เขาซื้อทั้ง Disaya และ Dry Clean Only จริงๆ อยู่ที่ว่าเราจะทำออกมาในรูปแบบไหน ทำอย่างไรให้มันสนุก หรือแม้แต่คอนเซปต์ของการร่วมงานครั้งนี้ก็ตาม
เราปรึกษาพี่ออมว่ามีชุดเก่าๆ บ้างไหม เพราะเราอยากทำเรื่อง Sustainable Fashion ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามพูดมาตลอด เราจึงเอาชุดเก่าในคลังของ Disaya ตั้งแต่คอลเล็กชันปี 2013 มันยิ่งท้าทายเราว่าลุคที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร
จากการย้อนดูผลงานเก่าๆ แล้วได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ อะไรกลับมาบ้าง
ออม: ตอนที่เริ่มคุยกัน เบสท์ไปที่ออฟฟิศเพื่อรื้อดูงานเก่าของพี่ออมตั้งแต่ปี 2003 ช่วงธีสิสปริญญาตรี-ปริญญาโท แล้วมานั่งดูด้วยกัน
เบสท์: เราติดตามผลงานตั้งแต่ที่พี่ออมจบจาก Central Saint Martins ใหม่ๆ ที่มันโคตรจะเป็นตัวตนเขาเลย เช่น คาแรกเตอร์หมีที่ไร้เดียงสา แต่เป็นแบรนด์ชุดชั้นใน ที่แม้กลับมาดูตอนนี้ก็ยังได้แรงบันดาลใจอยู่ เราจึงหยิบยุคนั้นมาเป็นคีย์หลักของคอลเล็กชัน เราชอบ Disaya ตอนทำกำไลหมี สร้อยหมี จี้หมี ที่โดนก๊อบเยอะมาก มันเป็นแฟชั่นไทยยุคแรกๆ ที่บูมมาก เราเลยอยากหยิบช่วงนั้นของ Disaya มาเล่น
มาถึงปี 2019 นี้ ผู้หญิงของแต่ละแบรนด์เป็นอย่างไรบ้างจากตอนนั้น
ออม: ของ Disaya คือผู้หญิงที่มีความโรแมนติกค่อนข้างสูง เป็นคนประณีต รักงานฝีมือและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ยังคงเป็นคุณหนูอย่างที่เบสท์บอก แต่ปรับตัวให้ทันแฟชั่นในยุคสมัยนี้ ซึ่งจะเห็นได้จากหลายๆ โปรเจกต์ที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็น #DisayaCulture ที่เราเล่าว่าเธอฟังเพลงอะไร กินข้าวที่ไหน หรือ Disaya Vacationist ที่บอกว่าพวกเธอไปเที่ยวแบบไหน เสื้อผ้าที่ใส่ไปเที่ยวเป็นอย่างไร ใช้ของอะไร สิ่งเหล่านี้จะแสดงตัวตนของผู้หญิง Disaya ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรายังเป็นผู้หญิงคนเดิม แค่กิจกรรมของเราเปลี่ยนเท่านั้นเอง เราโตขึ้น เราไม่อยู่กับที่ เราเดินทาง และมาถึงจุดที่มาเจอ Dry Clean Only อย่างในตอนนี้
เบสท์: ผู้หญิงของเราก็ไม่หยุดนิ่งเหมือนกัน เราชอบอ่านข่าว ชอบอ่านหนังสือ ชอบท่องเที่ยว เพราะมันทำให้เราโตขึ้น ส่วนสิ่งที่พัฒนาเราว่าน่าจะเป็นเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค เราทำงานมาเข้าปีที่ 12 แล้ว ในช่วง 10 ปีแรกเราจะเน้นงานฝีมือและการตกแต่งเยอะหน่อย ตอนนี้เปลี่ยนทิศทางใหม่ เราข้ามงานปักที่คนก๊อบเยอะๆ แล้วมาสนใจเรื่องแพตเทิร์น การถ่ายทอดเรื่องราวของผ้า วัสดุ และเทคนิคที่ดูแยบยล สะอาดตามากขึ้นจากที่เราไม่เคยได้ให้ความสำคัญ แต่เราก็ยังเก็บงานปักไว้อยู่นะ เพราะมันเป็นหัวใจของเรา หรือแม้กระทั่งการทำแคมเปญ การประชาสัมพันธ์ เราว่าเรื่องเล่าบางทีก็สำคัญกว่าสินค้า
ถ้าจินตนาการให้ผู้หญิงของทั้งสองแบรนด์มาเจอกัน คิดว่าพวกเธอจะใส่ชุดอะไรมาทำกิจกรรมอะไรร่วมกัน
เบสท์: ทำทุกอย่างที่เธออยากทำเลย ใส่อะไรก็ได้ ไม่มีขอบเขตและกฎเกณฑ์ ยุคนี้ไม่มีการมาถามแล้วว่าจะใส่อะไรไปเที่ยวหรือไปปาร์ตี้ จริงๆ จะใส่ชุดนี้ไปวัดก็ได้ถ้าคุณรู้กาลเทศะ แต่หาคาร์ดิแกนมาคลุมด้วยนะ
ออม: ไปวัดเลยเหรอ (หัวเราะ)
เบสท์: ก็ได้นะ เรียบร้อย ทำบุญ
หลายปีที่ผ่านมามี Fashion Collaboration เกิดขึ้นเยอะมาก อยากรู้ว่าทั้งสองคนมีมุมมองต่อกลยุทธ์นี้อย่างไร คิดว่าจะทำอย่างไรให้มันออกมาประสบความสำเร็จ
ออม: ก็เหมือนคำถามแรกเลย การร่วมงานของสองแบรนด์นี้เราว่ามันน่าสนใจ คือมันเป็นอะไรที่ เฮ้ย มารวมกันได้ยังไง เพราะฉะนั้นเรื่องราวมันมาแล้ว ความน่าสนใจจึงตามมา เราตื่นเต้นมาก เราอยากทำ เราอิน มันต้องเกิดขึ้นให้ได้
เบสท์: แก่นของแต่ละแบรนด์ก็สำคัญนะ จุดแข็ง ที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาทำร่วมกันเลย ถ้าอย่างนั้นใครก็ทำได้ ไม่น่าตื่นเต้น แต่มันจะตื่นเต้นก็ต่อเมื่อแต่ละแบรนด์ต้องแข็งจริง ยิ่งถ้าเป็นเสื้อผ้าเจอเสื้อผ้า มันยิ่งต้องทำการบ้านเป็นเท่าตัว ตอนนี้มันดาษดื่นมาก คนนั้นทำกับคนนี้ คนนี้ทำกับคนนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำมันไม่ใช่แค่เสื้อผ้าแล้ว แต่มันคือเรื่องที่เราจะต้องเล่าหลังจากนี้
เหมือนตอนแรกคนอาจจะงงว่ามาเจอกันได้ยังไง เหมือนมวยคนละรุ่น คนละเส้นทาง คนเลยรอดูว่าสิ่งที่ออกมามันจะเป็นอย่างไร ประมาณไหน ซึ่งเราว่ามันน่าจะเซอร์ไพรส์พอสมควร
การนำเสื้อเก่ามาทำใหม่ดูเป็นแนวทาง Sustainable Fashion เข้ากระแสปัจจุบันด้วย
เบสท์: มันก็เป็นเทรนด์ของโลกแหละ น่าจะไปได้อีกเป็นสิบปีเลย แบรนด์เราใช้เรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อ Disaya เอาชุดเก่ามาให้เราทำ พอลูกค้าที่เคยซื้อมาเห็นชุดนั้นในฟอร์มใหม่ก็สามารถบอกเรื่องนี้ไปยังลูกค้าหรือผู้บริโภคไปในตัวว่าโลกมันกำลังมีกระแสนี้อยู่ เข้ากับเหตุบ้านการเมืองพอดี ชุดไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ชุดของ Disaya มีเท่าไรก็เท่านั้นเลย บางชุดมี 7 ตัว บางชุดมี 2 ตัว บางชุดมีตัวเดียว เราไม่ได้ทำมาใหม่เพื่อยอดขาย เราจริงใจถึงขั้นนี้เลย
ออม: สำหรับ Disaya เราสื่อสารออกไปในแง่ของ Timeless Beauty สมมติว่าลูกค้าซื้อเดรสจากคอลเล็กชันนี้ แต่คุณเอากลับมาใส่อีกทีใน 4 ปีถัดไปก็ไม่เบื่อ มันคือความยั่งยืนในแง่ของมูลค่า พอมาเป็นโปรเจกต์นี้ เราไม่ได้มองว่าจะต้องทำเงิน มันคือความชอบของเราล้วนๆ เราเลยอยากเอาเรื่อง Sustainability ของทั้ง Disaya และ Dry Clean Only มารวมกัน กลายเป็นชุดพิเศษ One of a Kind ที่มีชิ้นเดียว ถ้าอยากได้ต้องซื้อเลยทันที
จากการร่วมงานครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรจากกันและกันบ้าง
ออม: ความดิบ แต่จริงๆ ความดิบเรามีอยู่แล้วนะ มันเป็นแก่นของเราตั้งแต่เรียนเหมือนกัน แค่พอมาทำเสื้อผ้าขายมันก็จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง โดยเฉพาะคาแรกเตอร์ของแบรนด์และผู้หญิง Disaya ด้วยที่มีความเป็นคุณหนูอย่างที่ทุกคนเห็น มันก็เลยมาปลดปล่อยกันที่นี่
เบสท์: เราได้เรื่องระบบอุตสาหกรรมเลย แบรนด์เราเป็นห้องเสื้อเล็กๆ เหมือนโฮมเมด แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ก็คือเรื่องของการดำเนินธุรกิจ เพราะมันจะมีอีกส่วนแยกออกมาเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ว่าเราจะต้องผลิตอะไร เท่าไร อย่างไร เหมือนที่พี่ออมพูดว่าบางทีการทำแฟชั่น ตัวตนเราต้องมี แต่ผู้บริโภคก็สำคัญ อยู่ที่เราจะเก็บตัวตนได้กี่เปอร์เซ็นต์ ลูกค้ากี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราเอาแต่ใจ เราก็ไม่รู้ว่าลูกค้าจะชอบด้วยหรือเปล่า
ถึงจุดนี้คุณมองแฟชั่นไทยอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดในยุค Digital Disruption แบบนี้
ออม: เราคิดเรื่องนี้มาพักใหญ่แล้ว เราว่ามันเร็วขึ้นกว่าเดิม หลายแบรนด์มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนขึ้น ทุกคนไม่หยุดนิ่ง จะว่าวิ่งเลยก็ว่าได้ โลกมันแคบลง ทุกอย่างอยู่บนจอ ใครทำอะไรเรารู้หมด ทุกอย่างมาเร็วไปเร็ว แต่เราต้องอยู่ให้รอด เราเลยต้องกลับมาที่ต้นกำเนิดว่าเราเป็นใคร คุณภาพ การพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่ใช่แค่ความสวยงามที่เราออกแบบ เรื่องเล่า ที่มาที่ไป สมัยนี้มันไม่ใช่แค่เสื้อผ้า
เบสท์: ถ้าให้เรามองแฟชั่นไทย หลายคนอาจจะคิดว่าการสร้างแบรนด์มันง่าย เพราะเราเห็นจากในมือถือ แค่ไปซื้อผ้ามาตัด ถ่ายรูป โพสต์ลง พร้อมขาย แค่นั้นก็เรียกว่าแบรนด์แล้ว ตัวเลือกก็เยอะมากขึ้น แต่สำหรับเรามันมีมากกว่านั้น ทั้งเรื่องของออฟฟิศ งานหลังบ้านก่อนที่จะมาเป็นเบื้องหน้า เราจะต้องมีคนช่วยกี่ร้อยคน ประชุมกันไม่รู้กี่ร้อยรอบ แฟชั่นสำหรับเรามันเป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก มันคืออาชีพเดียวที่เรามี
อยู่ที่ว่าคุณจะให้ความสำคัญกับธุรกิจมากแค่ไหน ในขณะเดียวกันสินค้าก็ต้องมีจุดยืนด้วย คุณภาพต้องมี อีก 5-10 ปีข้างหน้าเราว่ามันคือการขายการใช้ชีวิตไปแล้ว ไม่หยุดอยู่แค่เสื้อผ้าแน่นอน
เราจะได้เห็นอะไรนอกจากคอลเล็กชันพิเศษนี้ไหม
เบสท์: เรามีสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ต่อมาจากอันนี้ นอกจากชุดพิเศษไฮบริดที่เราทำขึ้นมาอีกเฟสหนึ่ง เป็นสินค้าทั่วไป เป็นเสื้อผ้าที่ใส่ง่าย เราอยากจะโชว์ไอเดียที่เรามีร่วมกันว่าเราทำป๊อปอัพขึ้นมา ก็จะเอาสิ่งที่พี่ออมเรียน CSM ความเป็นอังกฤษ ลอนดอน มีเซอร์ไพรส์ที่ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าด้วย แม้กระทั่งแบ็กดรอปเราก็เขียนด้วยมือ ถุงช้อปปิ้งเราก็ไม่มีแจกให้ เพราะอยากให้นำถุงมาเอง
ออม: ใช่ๆ ที่น่าสนใจคือเรานำลายครบรอบ 10 ปีกลับมาใช้ แต่เอามาทำใหม่ ใส่คาแรกเตอร์หมีของ Disaya กับนกอินทรีของ Dry Clean Only ในบรรยากาศแบบอเมริกันดั้งเดิม
เบสท์: เหมือนผู้ล่าสองคนมาเจอกัน ทุกอย่างจะเกิดขึ้นวันที่ 11 เดือน 11 วันลอยกระทงนี้ ลอยเราไปด้วยก็ได้ Sustainable ดี
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์