ถึงวันนี้ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ต่างให้ความสำคัญกับ ‘ความยั่งยืน’ เช่นเดียวกับหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่เร่งผลักดัน OR สู่ Green Retail มุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี 2030 ก่อนที่จะก้าวไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050
แน่นอนว่าการที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายเหล่านั้นได้ OR มีความพร้อมเดินหน้าภายใต้แผนการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนด้วยแนวทาง OR SDG ในด้าน G-Green ผ่านตัวอย่างโครงการด้านความยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน (Energy) ด้านการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะนำ OR ไปสู่การเป็น Green Retail โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่มี เข้าไปร่วมพัฒนาและต่อยอดให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม
เปิดแนวทางความยั่งยืนด้านพลังงาน
เมื่อเจาะลึกลงมาถึงโครงการที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่ง OR มีแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งในภาพการลงทุน ในระบบผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์เซลล์ และการซื้อพลังงานหมุนเวียนผ่านการใช้เอกสารสิทธิ์ในการยืนยันการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือ REC (Renewable Energy Certificate)
โดยในไตรมาส 3 ปี 2023 บริษัทติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งสะสมในองค์กรสูงถึง 8.563 MWp และมีการจัดซื้อพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบเอกสารสิทธิ์ ในการยืนยันการใช้พลังงานหมุนเวียน (REC: Renewable Energy Certificate) เพิ่มเติมอีกด้วย
ร่วมปลูกป่าสร้างโลกสีเขียว – โครงการความยั่งยืนด้านการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงโครงการด้านการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการดูดซับ (Capture) โดย OR ดำเนินโครงการด้านการดูดซับ 2 โครงการ ได้แก่
- โครงการปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกร่วมกับกรมป่าไม้ ในพื้นที่เป้าหมาย 1,900 ไร่ ณ จังหวัดเชียงรายและพะเยา เพื่อนำการดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการปลูกและบำรุงรักษาป่าไปขอการรับรองคาร์บอนเครดิตกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)
โดยปัจจุบัน OR ได้ดำเนินการไปแล้ว 1,500 ไร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการขอขึ้นทะเบียนโครงการกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)
ตามด้วย 2. โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ บนพื้นที่โครงการรวม 8,100 ไร่
นับว่าเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ดูแลและบำรุงรักษาป่าชุมชน เพื่อให้มีป่าที่สมบูรณ์ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชน เป็นการช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการปลูกป่าชุมชนยังส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและสัตว์ในพื้นที่โครงการด้วยเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น เครดิตที่ได้รับจากโครงการภาคป่าไม้ จะเป็นเครดิตประเภทการดูดซับ ซึ่งสามารถนำมาใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้
ชูแนวคิดโครงการ Circular Living ต่อยอดธุรกิจ Café Amazon
อีกหนึ่งจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ คือโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเริ่มจากแนวคิดการนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือ Upcycling เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาวางจำหน่ายภายในร้าน เน้นเจาะกลุ่มลูกค้า B2C (Business to Customer) รวมถึงลูกค้าแฟรนไชส์ B2B (Business to Business)
OR เปิดให้บริการร้านในรูปแบบ Café Amazon Circular Living โดยนำวัสดุเหลือใช้มา Upcycling แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ภายในร้าน ได้แก่ เสื้อพนักงาน ผ้ากันเปื้อน และโซฟา ซึ่งผลิตมาจากบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มขวดพลาสติก PET ที่ผ่านการใช้งานแล้ว มาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 180-220 องศาเซลเซียส เพื่อให้พลาสติกหลอมละลาย จากนั้นดึงออกมาเป็นเส้นใยรีไซเคิล ส่งต่อให้โรงงานสิ่งทอนำไปทอเป็นผืนผ้า และตัดเย็บออกมาเป็นผลิตภัณฑ์
ปัจจุบัน Café Amazon ได้มีการรวบรวมแก้วพลาสติก PET ผ่านโครงการคืนคัพ โดยจัดตั้งเป็นตู้รับคืนแก้วสะอาดแบบอัตโนมัติจำนวน 10 สาขา เพื่อจัดเก็บรวบรวมแก้วเครื่องดื่มเย็นของ Café Amazon ให้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ Upcycling ที่มีคุณค่าต่อไป
นอกจากนี้ยังได้นำเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ (Coffee chaff) ของเสียในกระบวนการผลิตจากโรงคั่วกาแฟ นำมาอบและบดเพื่อไล่ความชื้น ขึ้นรูปและประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในร้าน เช่น โต๊ะ, ตู้, เก้าอี้, ชั้นวางของ เป็นต้น
อีกทั้งยังได้มีการนำถุงฟอยล์ที่ใช้บรรจุเมล็ดกาแฟมาบดอัดเป็น Eco-Board เพื่อใช้เป็นผนังเมนูและตกแต่งร้าน Café Amazon
หาโอกาสต่อยอดสู่การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ผ่านโครงการ UCO Texas
โครงการ Used Cooking Oil to B100 ที่นำมาปรับใช้กับธุรกิจ Texas Chicken ร้านไก่ทอดซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำมันเป็นวัตถุดิบที่ร้านใช้มากสุด เพราะต้องรักษามาตรฐานการทอดไก่ให้สดใหม่อยู่ตลอดเวลา
และเพื่อเป็นการลดของเสียจากกระบวนการประกอบอาหารดังกล่าว OR จึงได้มีการจัดเก็บและรวบรวมน้ำมันทอดใช้แล้วมาศึกษา วิเคราะห์ และปรับปรุงคุณภาพ เพื่อนำไปผลิตน้ำมันไบโอดีเซลต่อไป
โครงการ LPG Scrap Cylinder Recycling สู่กระบวนการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่
หากย้อนไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจในโรงซ่อมบำรุงและทดสอบก๊าซหุงต้มของ OR มีการรองรับการตรวจสอบและซ่อมบำรุงถังก๊าซที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคได้อย่างครอบคลุม โดยถังก๊าซหุงต้ม ปตท. ทุกใบได้รับการดูแลรักษาอย่างดี และผ่านการทดสอบตามวาระการใช้งาน
ที่สำคัญ ก๊าซหุงต้มที่ตรวจสอบแล้วไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก.151 จะถูกคัดแยกจากกระบวนการซ่อมบำรุง และนำไปสู่กระบวนการกำจัดทิ้ง โครงการ Scrap LPG Cylinder Recycling จึงริเริ่มขึ้น เพื่อชิ้นส่วนอย่างโกร่งกำบังวาล์ว และฐานถังเก่าของก๊าซหุงต้มที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจากกระบวนการตรวจสอบและการทดสอบ นำไปแปรรูปเป็นเม็ดเหล็ก (Steel Shot) และเหล็กม้วน (Steel Coil) เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มต่อไป
“ทั้งหมดเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ ดิษทัต ปันยารชุน แม่ทัพใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่จะทำให้ทุกย่างก้าวของ OR มั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกับผู้คนและสังคม”