ในปี 2567 ไทยเผชิญกับวิกฤตหมอกควัน น้ำท่วมตั้งแต่ภาคอีสาน ภาคเหนือ จรดภาคใต้ ขณะเดียวกันดินโคลนถล่มซ้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ภัยพิบัติที่ไม่มีใครคาดคิด ทำให้ประชาชนสูญเสียบ้าน ทรัพย์สิน รวมถึงชีวิต
หลายคนบอกว่าไม่ได้รับการเตือนหรือแจ้งอพยพที่ละเอียดพอ คำถามคือ การเตือนภัยและการเตรียมการแบบไหนถึงจะมากพอในการป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น ทำไมภาครัฐของไทยถึงไม่สามารถรับมือได้ทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรง
เพื่อหาทางรับมือกับภัยพิบัติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น THE STANDARD ชวน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญการจัดการภัยพิบัติ ร่วมพูดคุยย้อนถึงการรับมือในยามโลกแปรปรวน รวมถึงอะไรคือสิ่งที่ประชาชนและรัฐต้องเรียนรู้ เลือกที่จะลงมือทำหรือไม่ทำในยามที่ภัยพิบัติจ่อรออยู่หน้าบ้าน
และการรับมือภาวะโลกเดือดกับ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม
นาฬิกาสภาพอากาศหากอุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
Nature Climate Change หน่วยงานดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เปิดเผยว่า โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปเรียบร้อยแล้ว
ทำไมต้อง 1.5 องศาเซลเซียส เพราะตัวเลขนี้ถือเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ที่ทั่วโลกพยายามจำกัดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกิน เนื่องจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศครั้งสำคัญ และหายนะจะเกิดขึ้นบนโลกโดยไม่อาจย้อนกลับได้
ตลอดปี 2567 ไทยเผชิญกับหายนะทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ยาวนานขึ้น และถี่ขึ้น
ในฤดูร้อน ปัญหาหมอกควันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 44.6-44.9 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา กระทบระบบนิเวศทางทะเล หญ้าทะเลตายกว่า 10,000 ไร่ ปะการังฟอกขาวกระทบต่อแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ
ครึ่งปีหลังเมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุม โลกเดือดทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ภาคเหนือมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำไหลทะลักท่วมบ้านเรือน และที่ไม่มีใครคาดคิด น้ำได้นำพาโคลนเข้าปกคลุมในพื้นที่อำเภอแม่สายและบริเวณโดยรอบ
ภาคใต้ได้รับความเสียหายครั้งร้ายแรง น้ำท่วม ฝนตกหนัก ตกนาน จนถึงขณะนี้หลายจังหวัดทางภาคใต้ก็ยังคงประสบอุทกภัย
เมื่อสถานการณ์รุนแรง จาก ‘ภัย’ ถูกอัปเกรดขึ้นเป็น ‘ภัยพิบัติ’ เราจะเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร
สภาพบ้านเรือนหลังพายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุก นครศรีธรรมราช
ภาพ: คุณครูตรึก พฤกษะศรี
กฎหมายสาธารณภัยที่ไม่ยืดหยุ่น
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารสาธารณะและนโยบาย โดยเฉพาะการจัดการภัยพิบัติ วิเคราะห์ถึงการรับมือภัยพิบัติของไทยในยามโลกแปรปรวนกับ THE STANDARD ว่า ตอนปี 2547 สึนามิไม่อยู่ในทะเบียนสาธารณภัยของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 พอมาปี 2554 สึนามิอยู่ แต่สิ่งที่ไม่อยู่คือ PM2.5
ทำให้เห็นว่ากฎหมายไม่ยืดหยุ่นและมักจะออกตามหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แผน หรือระเบียบจะยืดหยุ่นกว่ากฎหมาย เพราะสามารถที่จะแก้ไขตามพลวัตของเหตุการณ์ได้
รศ.ทวิดา อธิบายด้วยว่า กฎหมายเขียนไว้แบบกว้างๆ และการนำมาใช้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ถูกนำมาใช้ แต่กลับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขมีอำนาจสูงสุด เพราะในกฎหมายไม่มีรายละเอียดเรื่องโรค ต่อมาจึงมีการแก้ไขเพิ่มโรคระบาดในมนุษย์ และให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการสาธารณภัยระดับ 4
ที่เป็นเช่นนี้เพราะการกำหนดใช้อำนาจมีผล การตีความว่าอะไรคือสาธารณภัยจะเป็นตัวเปิดช่องทางว่าใช้อำนาจได้แค่ไหน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สาธิตการทำเมนูอาหารด้วย ‘ปลาหมอคางดำ’
ภาพ: ฐานิส สุดโต
ช่วงที่ปลาหมอคางดำระบาด รศ.ทวิดา เล่าว่า ทุกคนบอกว่าให้อาจารย์ทำเรื่องไปเลย สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถเป็นสาธารณภัยได้ แต่ตามกระบวนการจะต้องรอกรมประมงตีความ รอกรมบัญชีกลางกำหนดเป็นสาธารณภัยเหตุเดือดร้อน เจ้าหน้าที่จึงต้องแบ่งรับแบ่งสู้โดยการทำเรื่องรอ หรือเหตุการณ์สะพานลาดกระบังถล่ม ก็ไม่ถูกตีความเป็นสาธารณภัย ทำให้เกิดข้อจำกัดในการชดเชยหรือให้ความช่วยเหลือ
รศ.ทวิดา บอกด้วยว่า ในความหมายที่แท้จริง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ควรใช้ในการจัดการภาวะฉุกเฉิน เพราะตามเนื้อหาเป็นการป้องกันสาธารณภัยไม่ให้เป็นภัยพิบัติ ดังนั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงหมายความถึงการป้องกันและลดความเสี่ยง ไม่ใช่พรที่ให้อำนาจเฉพาะเวลาเกิดเรื่อง ขณะเดียวกันการใช้อำนาจตามกฎหมายมักเกิดช่องว่างเมื่อกฎหมายระบุไม่ชัดเจน เช่น การจัดการมวลน้ำข้ามจังหวัด ขณะเดียวกันแต่ละกระทรวงก็ต่างแก้ไขกฎหมายตามมุมมองของตนเอง การแก้ไขกฎหมายจึงควรต้องตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมองเห็นทุกคน
ขณะเดียวกันหากแปรตรงตัว ‘ภัยพิบัติ’ คืออันตรายที่เกิดในพื้นที่ส่วนรวมเกินกว่ากำลังความสามารถในการรับมือของชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีความน่ากลัวอย่างหนึ่งคือ คนไทยชอบถอดบทเรียนแล้วหยุด โดยลืมไปว่าสถานการณ์ครั้งต่อไปไม่มีวันมาเหมือนเดิม
“เมื่อมี Global Warming (ภาวะโลกร้อน) Global Boiling (โลกเดือด) สภาพภูมิอากาศจะทำให้เลวร้ายลงไปจนคุณตามมันไม่ทัน แล้วคุณจะบอกว่าเหตุการณ์จะเกิดเหมือนเดิมได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”
ถ้าเราเรียนรู้กับมันจริง เราก็จะสร้างมาตรการขึ้นมาทำให้เราแข็งแรงกับเหตุการณ์นั้น ถ้าเหตุการณ์เหมือนเดิมเป๊ะเราจะไม่เป็นไร แต่ทำไมเราถึงพังทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ต่อไป เพราะสิ่งที่เตรียมไว้มันหย่อนยานลงไปแล้ว ถ้าเหตุการณ์มาแบบเดิมมันจะไม่มีความหมาย
นักท่องเที่ยวกำลังหนีคลื่นยักษ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ต 26 ธันวาคม 2547
ภาพ: Getty Images
ใครจะเชื่อว่าเกิด ‘ภัยพิบัติ’
รศ.ทวิดา ระบุว่า ปี 2547 ที่เกิดสึนามิ ไม่มีใครพร้อม น้ำลดก็ยังลงไปดู ส่วนตัวเรียนมาเอง ถ้าวันนั้นอยู่ที่ชายหาดก็คงตาย เพราะเวลานั้นคงไปเดินเล่น พอเห็นน้ำลดก็รู้ว่ามีโอกาสเกิดสึนามิ แต่ถามว่าเคยมีข้อมูลอะไรมาให้เราเชื่อไหม เช้าวันนั้นแผ่นดินไหวที่ไหน ประเทศไทยไม่เคยพัฒนาอะไรอย่างนี้ไว้ แล้วจะบอกว่าให้ประชาชนรู้เอาเองว่าน้ำลดคือสึนามิ มันก็ใจร้ายอยู่นะ
แล้วลองคิด สมมติว่าถ้าอาจารย์กดเช็กข่าวแล้วบอกพ่อกับแม่ว่า เดี๋ยวมีคลื่นยักษ์ขึ้นมา ให้ไปที่สูง แม่จะเชื่อหรือไม่ น้ำท่วมปี 2554 จำได้ว่าให้พ่อออกจากบ้าน พ่อไม่ออก ฉะนั้นการบอกให้ไปที่สูง ต้องสูงแค่ไหน วันนั้นไม่มีความรู้อะไรเลย พื้นทะเลสูงเท่าไร คนอยู่ภูเก็ตต้องไปตรงไหน อยู่พังงาไปตรงไหน ไม่มีใครรู้เลย
แต่กลับกัน เด็กหญิงชาวอังกฤษซึ่งตะโกนบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือสึนามิ เพราะในระบบการศึกษาของยุโรปเด็กเรียนรู้ชีวิตในห้องเป็นเนเจอร์ของการเติบโตแบบหนึ่ง
เช่นเดียวกัน วันนั้นเราไม่รู้จักสึนามิ ถ้ามีคนมาบอกว่าต้องใช้เงินประมาณ 50-100 ล้านบาทในการลงทุนระบบเตือนภัย 6 จังหวัดภาคใต้ โดยที่ไม่เคยมีบันทึกที่ไหนเลยว่าจะเกิดสึนามิในภาคใต้ของประเทศไทย มีเพียง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช เตือนคุณ เป็นคุณจะอนุมัติเงินหรือไม่
รศ.ทวิดา กล่าวด้วยว่า และต้องไม่ลืมว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในช่วงปี 2540 เป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เรามีความเชื่อว่าสถานที่ท่องเที่ยวต้องไม่บอกว่ามีความเสี่ยงอะไร ซึ่งเป็นมุมมองที่ผิด
ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มีแผ่นดินไหวทุกวัน มีความเสี่ยงภูเขาไฟระเบิด ทำไมคนยังไปเที่ยวกัน เพราะเขาเชื่อว่าหากเกิดอะไรใน 2 ประเทศนี้จะมีระบบเตือนภัยและการอพยพที่เป็นระบบ
“เวลาพูดว่าประชาชนรู้แค่ไหน บางทีต้องยุติธรรมกับประชาชนเหมือนกันว่า มันไม่มีอะไรจากใครเลยไปให้ประชาชนด้วยเหมือนกัน ในการจัดการภัยพิบัติ ความรู้ ข้อมูล ความพร้อม เป็น 3 อย่างที่ต้องติดตัวประชาชน มีความรู้ ไม่ว่าความรู้จะมาจากการถ่ายทอดเรื่องเล่า ความรู้ในห้องเรียน หรือการเรียนรู้เสริมก็ตาม ส่วนข้อมูล รัฐเป็นฝ่ายฟัง และรัฐต้องแข่งรับมือกับพวกข่าวลือ และความพร้อม ซึ่งคำถามคือ ความพร้อมที่จะให้เราไปแค่ไหน”
รศ.ทวิดา ย้ำด้วยว่า การเรียนรู้เป็นอย่างเดียวที่จะทำให้ประชาชนเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่เกิดจากใครสักคนหรือกลไกบางอย่างปรับปรุงเรื่องใหม่ๆ หรือข้อมูลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดได้
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ภาพ: กทม.
เผื่อแค่ไหนกับภัยพิบัติ
เมื่อมองย้อนไปในสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เราจะพบว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือแผนรับมือภัยพิบัติ รศ.ทวิดา ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าน้ำท่วมโคลนถล่มเชียงรายคล้ายสึนามิในปี 2547 มาก วันนั้นตนมีความรู้เรื่องสึนามิแต่ไม่เห็นข้อมูล ส่วนน้ำท่วมเชียงรายก็รู้เรื่องน้ำท่วม รู้เรื่องแผ่นดินไหว รู้เรื่องสัณฐานวิทยา เพราะทำวิจัยอยู่ที่นั่น แต่ไม่เคยรู้เลยว่าจะมีโคลนถล่มได้ขนาดนั้น
ขณะเดียวกันแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดเชียงรายมีแผนการสำหรับน้ำท่วม แต่ไม่มีแผนรองรับเรื่องโคลน
ด้านสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ หากให้เปรียบคงเหมือนน้ำท่วมปี 2554 ของจังหวัดนครสวรรค์ที่รับน้ำมากเกินไป ทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักพร้อมกันหมดในเวลาอันสั้น จึงไม่มีใครอยู่ในศักยภาพที่ไปช่วยใครได้อย่างรวดเร็ว ทุกคนต้องช่วยตัวเองก่อน
รศ.ทวิดา ระบุด้วยว่า แม้จะไม่สามารถบอกได้ว่าในพื้นที่มีการเตรียมพร้อมมากแค่ไหน แต่หากสิ่งที่เตรียมไว้รับมือแล้วไม่เพียงพอ ต่อจากนี้ไปคงต้องเริ่มทำให้เวอร์ขึ้นไปอีก และต้องฟังให้มากขึ้น ฟังทั้งประชาชนที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ ฟังนักวิชาการให้มากขึ้น อะไรที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดมากที่สุดและน้อยที่สุด หลักฐานการยืนยัน มีสถิติ
“หากจังหวัดบอกว่า นี่คือเต็มศักยภาพของเขาแล้ว แสดงว่าคราวหน้าต้องไม่ใช่แบบนี้ ก็ต้องยินยอมให้การเพ้อเจ้อเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะยอมแค่ไหน เพราะมาตรการยิ่งมากเท่าไรจะมีการลงทุนทางด้านทรัพยากรเยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่คือการใช้เวลา การใช้อัตรากำลัง การทำให้คนมีศักยภาพ การให้ความรู้และสื่อสารกับคน การจัดระบบพื้นที่ใหม่ทั้งหมด หากวันนั้นเตรียมมาในแบบที่คิดกันแล้วว่าพอ งวดหน้าก็อาจต้องคิดเกินวิธีคิดเดิมไปอีกสักเท่าตัว”
ภาพสถิติการเกิดพายุตั้งแต่ปี 2528-2548
ภาพ: Joint Typhoon Warning Center (JTWC)
‘ไม่รู้-หย่อนยาน-บกพร่อง’ บทเรียนจากสึนามิ
จากพายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี 2505 สู่ ‘พายุไต้ฝุ่นเกย์’ พายุลูกประวัติศาสตร์และทรงพลังที่สุดที่เข้าถล่มภาคใต้ของไทยในปี 2532
รศ.ทวิดา ชี้ให้เห็นว่า เหตุวาตภัยที่เกิดขึ้นอาจเป็นช่องว่างความเข้าใจของทั้งประชาชนและการศึกษา เพราะคนเข้าใจว่ายากที่จะเกิดแบบนี้ นานๆ ครั้งจะเกิดพายุลูกใหญ่อย่างไต้ฝุ่นเกย์ แค่สร้างบ้านให้แข็งแรง แต่ยังไม่อยากย้ายถิ่นไปไหน ทำให้คนใส่ใจมากขึ้น นำความรู้ทางพยากรณ์อากาศมาใช้ ติดตั้งระบบมากขึ้น และสุดท้ายเหตุการณ์เงียบไป
จนกระทั่งปี 2541 ดร.สมิทธ ธรรมสโรช รองปลัดกระทรวงคมนาคมสมัยนั้น เคยออกปากเตือนว่าประเทศไทยมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิอย่างที่เคยเกิดขึ้นที่ปาปัวนิวกินี ถ้าไม่ถูกสอนในระบบการศึกษาคนจะเชื่อหรือไม่ ยกเว้นเป็นชาวมอแกนที่มีเรื่องเล่าว่า คืนพระจันทร์เต็มดวงถ้าน้ำลดไปเยอะ ปีศาจจะขึ้นมากินคนบนชายหาด ให้หนีขึ้นที่สูง และในปี 2547 ก็เกิดสึนามิ
รศ.ทวิดา ยังชี้ให้เห็นว่า จากปี 2547 เรามีบทเรียนเยอะ ประชาชนมีทักษะเอาตัวรอด เรามีคนที่รู้ว่าควรต้องทำงานอย่างไร แต่ที่คิดว่าเราพลาดคือการไปเข้าใจว่าที่สูญเสียมากเป็นเพราะการไม่รู้จักสึนามิ เราเลยเรียนรู้กันแต่ว่าสึนามิคืออะไร จนเราหย่อนยานการจัดตั้งระบบบริหารจัดการ
ในการเตือนแผ่นดินไหว สึนามิใช้เครื่องมือต่างกัน และแต่ละประเทศก็มีรูปแบบไม่เหมือนกัน หากเลือกที่จะเตือนเร็วความถูกต้องจะน้อยมาก แต่ถ้าเลือกความถูกต้องเวลาจะเหลือน้อยมาก อย่างฮาวายหรืออินโดนีเซีย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะเตือนทันที เพราะเป็นสึนามิท้องถิ่น (Local Tsunami) มีระยะห่างระหว่างจุดกำเนิดกับชายฝั่งน้อยกว่า 100 กิโลเมตร คลื่นลูกแรกจะมาภายใน 10-20 นาที ความเร็วสูงสุดของสึนามิที่เคยบันทึกไว้คือเท่ากับเครื่องบิน Air Force One หรือความเร็ว 600-700 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือราว 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และไทยก็ได้นำระบบการเตือนภัยแบบฮาวายมาใช้ อย่างไรก็ตาม บางวัฒนธรรมถ้าเตือนแล้วไม่เกิดบ่อยๆ ก็ไม่ทำแล้ว
ในปี 2547 เพราะความไม่รู้ หน่วยกู้ชีพบางหน่วยถูกสั่งให้ไปช่วยเพราะน้ำท่วม อุปกรณ์ที่นำลงไปก็เป็นคนละเรื่องกับที่ไปงัดรถหรือเรือประมงที่มาเกยบ้าน ในคลิปคลื่นซัดใส่ฝรั่งสวมกางเกงว่ายน้ำที่ตะโกนว่าน้ำท่วม วันนั้นไม่มีคำว่าสึนามิ
แต่วันนี้ต่างกันเยอะ เมื่อเรามีความรู้คนจะฟังคำเตือน วันนี้เรามีข้อมูล ระบบเตือนภัยในพื้นที่ทุกทะเลอันดามันเชื่อมกันหมดแล้ว ระบบมี ขอแค่ให้ใช้ได้ ท้องถิ่นมีกระบวนการ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แม้จะเป็นปี 2550 แต่ก็เขียนมาบนความพร้อมที่ถูกยกระดับขึ้นไปแล้ว แต่ไม่เท่าปี 2548
“ต้องถามว่าการ์ดตกหรือเปล่า ช่วงที่ระบบเตือนภัยเริ่มทำงานในเดือนมิถุนายน 2548 ถ้ามาเหมือนเดิมรับประกันคนไม่ตายเท่าเดิม คนไม่หาย บ้านอาจยังพังอยู่บ้าง แต่มาถึงวันนี้คนชิน เพราะว่ามันไม่เกิดสักที ป้ายเตือนเลือนไปบ้าง หอเตือนภัยเสียงอาจเบาลงบ้าง ตรวจสอบไหม อาจมีที่ย่อหย่อนลง นักท่องเที่ยวเปลี่ยนหน้า คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นอาจไม่อยู่แล้ว เด็กรุ่นใหม่อาจมีบทเรียน เจ้าหน้าที่รู้แค่ไหน โรงแรมแต่ละที่สร้างไว้สูงแค่ไหน พื้นที่อพยพมีแค่ไหน คลื่นจะมา 12-14 เมตรเหมือนเดิม หรือเราจะเผื่อไว้ที่ 20 เมตร”
ฉะนั้นอยู่ที่ฝีมือว่าเราให้ศักยภาพท้องถิ่นพอหรือไม่ ให้เขาแค่ไหนแล้ว ทรัพยากร งบประมาณ ความรู้ เวลา ความเชี่ยวชาญ ทักษะที่ไปฝึกให้ คนยังอยู่ที่เดิมหรือไม่ ได้เสริมสร้างชุมชนเหมือนเดิมหรือไม่ ขณะเดียวกันสึนามิจะเกิดเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะมีการคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่สึนามิจะเกิดขึ้นบริเวณจังหวัดระนอง ซึ่งระยะห่างจากจุดกำเนิดน้อยกว่าเดิม ยังไม่นับพายุคลื่นซัดฝั่งแบบพายุไต้ฝุ่นเกย์จะมาอีกหรือไม่
ซอยบ้านไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากดินโคลนถล่ม
ภาพ: ฐานิส สุดโต
รศ.ทวิดา ย้ำว่า การปรับปรุงและกระตือรือร้นจึงต้องมีตลอดเวลา เราต้องเลิกพูดว่าคาดไม่ถึง นักวิทยาศาสตร์เราเก่ง เอาเรื่องคาดไม่ถึงมากองไว้ให้ได้เห็น แล้วก็ต้องคาดการณ์เกินไปสักหน่อย แต่วันนี้ขอให้ช่วยทำข้อมูลขึ้นมาหน่อย กลุ่มเปราะบางอยู่ตรงไหน ความเปราะบางล่อแหลมอยู่ที่ไหน ไม่ใช่ทำแค่ภัยจะเกิดที่ไหนได้บ้าง
แล้วบริหารจัดการตามนั้น ใช้ข้อมูลในการสร้างมาตรการที่รับได้มากที่สุดที่จะผ่อนเบาให้เกิดขึ้นได้ ทำให้ปลอดภัยขึ้นได้ เพราะประชาชนจะยอมแบบสู้ เขาสามารถเก็บกวาดบ้านเองได้ถ้าผลกระทบไม่มาก ฉะนั้นจะต้องเป็นมาตรการที่เขาพอจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ฟื้นตัวได้เร็ว นั่นหมายความว่าประชาชนต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐล่วงหน้า เมื่อประชาชนจัดการตัวเองได้แข็งแรงเขาจะโอบรับมาตรการของรัฐมากขึ้น เชื่อในการตัดสินใจของรัฐมากขึ้น
ขณะเดียวกันในการเกิดสาธารณภัยแต่ละระดับ ผู้ที่ใหญ่ที่สุดหรือมีอำนาจสั่งการจะไม่เหมือนกัน อยากจะให้จำหลักการนี้ให้แม่น ‘เรามีนายได้แค่คนเดียว และเราไม่จำเป็นต้องมีนายคนเดียวกัน’ แม้อาจารย์จะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. แต่เมื่อลงไปหน้างานก็ต้องฟังผู้บัญชาการหน้างาน คอยสนับสนุน และเชื่อมั่นให้มากพอว่าคนที่มีอำนาจทำได้
กรุงเทพมหานครปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM2.5
ภาพ: ฐานิส สุดโต
กทม. ตั้งการ์ดรับความเสี่ยง
รศ.ทวิดา เปิดเผยถึงสถานการณ์อหิวาตกโรคที่แม่สอด จังหวัดตาก ว่าแม้สาธารณสุขก็ยังไม่ยืนยันว่าเข้าไทย แต่ได้รับคำสั่งจากผู้ว่าฯ กทม. แล้วว่าต้องออกสื่อเตือนให้ประชาชนระวัง เพราะจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ และไม่แน่ว่าคนไปเที่ยวเมียนมาอาจมาเคานต์ดาวน์ที่กรุงเทพฯ
ตอนนี้เราจึงตั้งการ์ดแล้วว่า ถ้าเกิดจริงจะทำอย่างไร จะเคลื่อนไหวอย่างไร การเตรียมพร้อมไว้ก่อนได้เปรียบ ส่วนที่คิดล่วงหน้าเวลาของจริงมาแล้วไม่เหมือนเดิม แต่ส่วนที่ไม่เหมือนจะเหลือน้อย เพราะเราคิดไว้ก่อนแล้ว ดังนั้นเอาสมองที่เหลือคิดอีกส่วนที่ไม่เหมือนแล้วแก้โจทย์เฉพาะหน้า
“คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าบทเรียนมันจะไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเตรียมไปก็เท่านั้น ไม่จริง แม้บทเรียนจะไม่เหมือนเดิมเลยสักครั้ง แต่ไม่น้อยกว่า 5-60% ของบทเรียนจะเหมือนเดิมทุกครั้ง และจะมีองค์ความรู้หลักบางอย่างที่ให้เราไปเตรียมพร้อมได้”
เช่นเดียวกับสถานการณ์อุทกภัย น้ำเหนือ-อีสานจะมาก่อน ตอนที่น้ำท่วมอีสาน กทม. ลุกขึ้นมาเตรียมหนักมาก เพราะแม้จะลอกท่อระบายน้ำ แก้จุดต่ำ ปรับฟันหลอ แต่เราก็กลัวน้ำเหนือ และ Rain Bomb จากภาวะโลกร้อน โลกเดือด ซึ่งจะตกประมาณ 100 มิลลิเมตร แต่ความสามารถในการรับน้ำของ กทม. อยู่ที่ 60 มิลลิเมตร จึงต้องตั้งรับให้ดี
รศ.ทวิดา ยังกล่าวถึงการรับมือฝุ่นของ กทม. ว่านโยบายหรือมาตรการที่ออกมาได้รับการทดลอง วิเคราะห์และหารือกับผู้คนจำนวนมาก เราลองทำทุกทางเพื่อหาทางป้องกัน ตั้งแต่การกวดขันรถบรรทุก ส่งรถอัดฟางให้เกษตรกรเช่าเพื่อที่จะไม่ต้องเผา ติดตั้งจุดตรวจวัดฝุ่นทั่ว กทม. ปลูกต้นไม้ เตรียมความพร้อมตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม เพราะเรารู้ว่าเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ค่าฝุ่นจะเป็นสีแดง
ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงการรับมือภัยพิบัติ แต่ ‘ภาวะโลกเดือด’ นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม กล่าวกับ THE STANDARD ว่าปีที่ผ่านมาเกิดสภาพภูมิอากาศสุดขีด ส่งผลกระทบที่เห็นชัดมากที่สุดคือเรื่องน้ำท่วมฉับพลันและฝนตกหนัก
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปยังส่งผลกระทบทางอ้อม พืชไม่ออกผลตามฤดูกาล รวมถึงส่งผลกระทบไปจนถึงปลายน้ำก็คือทะเล น้ำท่วมทำให้ความเค็มทะเลเปลี่ยน มีตะกอนลงไปทับปะการัง หญ้าทะเล รวมถึงขยะที่โดนน้ำท่วมกวาดลงไปในทะเลจำนวนมหาศาล
ขณะที่ทางระบบนิเวศเกิดปรากฏการณ์ Ecosystem Collapse หรือความพินาศของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นตั้งแต่ต้นปีเช่นกัน การฟอกขาวของปะการัง 90% ของประเทศเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ที่สุดที่ไทยเคยเจอมา รวมถึงพบปะการังในบริเวณน้ำตื้นตายไปจำนวนมาก มากกว่า 50-60% และไม่มีวี่แววว่าจะฟื้น
ในปี 2050 ต่างชาติพูดถึงปะการังทั่วโลกว่า 97% จะตายหากโลกยังเป็นอย่างนี้อยู่ และใน 10-20 ปีข้างหน้าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป ปะการังในประเทศไทยจะเหลือน้อยกว่า 10%
หญ้าทะเลก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ผศ. ดร.ธรณ์ ระบุว่า หญ้าทะเลลดลงจำนวนมหาศาลส่งผลกระทบต่อพะยูน ทำให้อดอาหารและต้องอพยพ ซึ่งพบว่าในปีนี้มีพะยูนตายลงอย่างที่ยังไม่เคยเจอมาก่อนถึง 45 ตัว สูงสุดตั้งแต่เคยมีการบันทึกมา จากเดิมที่เฉลี่ยสูงสุดปีละ 12 ตัว
ในปีนี้ ครบรอบ 20 ปีสึนามิ ผศ. ดร.ธรณ์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า “ระบบนิเวศได้รับผลกระทบรุนแรง แต่หนักสุดคือแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ โดนทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก โดยเฉพาะในเขตที่เป็นช่องแคบระหว่างเกาะซึ่งเต็มไปด้วยปะการังโขด มีปลาการ์ตูนนีโม่อยู่เป็นร้อยๆ เป็นจุดที่สวยมากและมาง่ายมากสำหรับทุกคน”
คลื่นเข้ามาตามทะเลระหว่างเกาะ ภาพที่เห็นคือปะการังก้อนขนาดใหญ่ที่ถูกพัดกระจัดกระจาย บางก้อนกลิ้งไปไกล 200 เมตรหรือไกลกว่านั้น หลายอย่างเปลี่ยนสภาพไปไม่เหมือนเดิมโดยสิ้นเชิง
ผ่านไป 20 ปี บริเวณนี้ก็ยังไม่เหมือนเดิม และไม่มีวันเหมือน ทุกอย่างเปลี่ยนสภาพไปถาวร คลื่นสึนามิทำลายทุกสิ่ง
“นั่นคือสึนามิ คือปรากฏการณ์ที่เกิดตามธรรมชาติ เราอาจไม่ชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มันเป็นไปตามวัฏจักร ทว่าสิ่งที่ผมเห็นในวันนั้นเทียบไม่ได้กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้ ทะเลที่พินาศเพราะโลกร้อน หากให้จัดลำดับความพินาศของแนวปะการังที่เห็นมา โลกร้อนตอนนี้นับเป็นอันดับหนึ่ง สึนามิยังเบากว่าและเกิดเป็นที่เท่านั้น”
ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กำลังเก็บกิ่งปะการังเขากวางที่โดนคลื่นสึนามิถล่ม
ภาพ: Thon Thamrongnawasawat / Facebook
ผศ. ดร.ธรณ์ เปิดเผยว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี คือตัวเลขที่บ่งชี้ว่าไทยอาจสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวหากสูญเสียระบบนิเวศทางทะเล จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา เรายังห่างไกลสำหรับการวางแผนระยะยาว มีเพียงการแถลงข่าวแต่ในแง่ของการปฏิบัติ สำหรับการรับมือภัยพิบัตินั้นไม่เพียงพอ
เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ปะการังจะฟอกขาวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะหนักสุดในปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่ไม่รู้จะมาเมื่อไร แต่คาดการณ์ว่าจะมาภายใน 5-6 ปีจากนี้ ในปีนั้นจะมีปะการังตายอีกจำนวนมาก
“ผมพูดถึงโลกร้อนมา 30 ปีกว่าปีแล้ว ผมบอกว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นและให้เตรียมรับมือกันนะ ก็ไม่มีใครสนใจหรือให้งบประมาณในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับมือหรือปรับตัว พอปะการังตายไปเกือบหมดถึงค่อยพูดกัน ปัญหาโลกร้อนไม่ได้แก้ไขได้เร็วขนาดนั้น และต่อให้มีงบประมาณที่จะโยนเข้ามาก็ไม่มีเวลาหรือทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ทัน เพราะปัญหาจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”
ป้ายการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ภาพ: Getty Images
ผศ. ดร.ธรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยกให้ปัญหาโลกร้อนติด Top 4 อันดับความเสี่ยงต่อเนื่องไปอีก 10 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่าคอลเซ็นเตอร์และ AI
ประกอบด้วย 1. Extreme Weather 2. ความพินาศของกระบวนการโลก 3. ปรากฏการณ์ Ecosystem Collapse และ 4. Natural Short ไม่มีน้ำ
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า หากมันเป็นปัญหาธรรมดาภาคธุรกิจคงไม่ยกให้เป็น Top 4 ความเสี่ยงระดับภัยพิบัติของมนุษยชาติ ขณะเดียวกันเลขาธิการสหประชาชาติออกมาตะโกนบอกว่าโลกเดือดโลกร้อน
แต่การเดินหน้าแก้ปัญหาของผู้มีอำนาจในรัฐบาลยังไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ แต่รวมถึงรัฐบาลที่ผ่านมา หากให้เป็นคะแนนคงสอบตกทั้งหมด เพราะปัญหาโลกร้อนต้องใช้พลังในการแก้ไขปัญหาเป็น 10 ปี การวางแผนรับมือกับน้ำท่วมฝนตกหนักก็ต้องใช้เวลา 10-20 ปีและใช้เงินจำนวนมหาศาล
ผศ. ดร.ธรณ์ ระบุว่า สิ่งสำคัญคือการสอนให้เด็กมีความรู้ ทุกคนรู้ว่าก๊าซเรือนกระจกมีกี่ชนิด สามารถท่องได้หมด แต่ไม่มีความรู้เรื่องการปรับตัว หากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่า ฝนตกหนักเมื่อดูแอปพลิเคชันและข้อมูลต่างๆ ติดตามเว็บต่างๆ ดูว่าพื้นที่มีดินถล่ม-น้ำไหลบ่าหรือไม่ แล้วให้พยายามลากพ่อแม่ออกจากพื้นที่เสี่ยง
เยาวชนต้องนำเอาความรู้ที่มีอยู่ตอนนี้ไปปรับตัวรับมือกับสภาพโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้น รวมถึงการปรับตัวในด้านอาชีพต่างๆ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ต้องมีการปรับวิธีการนำเสนอ ไม่ใช่ว่ารายงานแค่น้ำท่วมแค่ไหน แต่จะต้องเชื่อมโยงเพื่อแนะนำวิธีการปรับตัวกับผู้คน
น้ำท่วมหลังฝนตกหนักในพื้นที่เมืองเชียงใหม่
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ
ผศ. ดร.ธรณ์ ย้ำว่าสิ่งที่เราจะทำได้เพื่อเตรียมรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า คือการรักษาปะการังเฉพาะจุดไข่แดง ในจุดที่ยังพอมีทางที่จะช่วยเหลือ เช่น ปะการังบริเวณเกาะสีชังจนถึงพัทยาในจังหวัดชลบุรีประมาณ 10% ซึ่งไม่ค่อยฟอกขาว และมีข้อมูลยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบมากมาย
นอกจากนี้ยังมีปะการังบริเวณทะเลอันดามันเหนือ บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน
ขณะเดียวกันเรากำลังพยายามทำนวัตกรรมต่างๆ เช่น การปลูกหญ้าทะเลให้พะยูนกิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจต้องทำคอกให้พะยูนเข้ามาอาศัย เนื่องจากหากปล่อยให้ว่ายน้ำในทะเลก็ไม่รู้จะไปหาอาหารได้จากที่ไหน
ส่วนประชาชนนั้น ผศ. ดร.ธรณ์ ระบุว่า ต้องเริ่มจากการโยนคำว่า ไม่ได้ติดตามข้อมูล, ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนี้, เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น และเตรียมการรับมือ ทิ้งไป หากมั่นใจว่าฝนจะตกหนัก เตือนกันมาว่าวันนี้ตกหนักแน่ ก็ต้องทำอะไรสักอย่าง
“ทุกคนมีข้ออ้างทั้งนั้น แต่ ณ วันนี้ภัยพิบัติมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อย่างที่เราเห็นภาพกันอยู่ คนแก่ติดเตียงติดบ้านออกจากบ้านไม่ได้อาจมีแค่ 1% อีก 99% อาจเป็นพ่อแม่เราที่กู้ภัยไปช่วยไม่ทัน ฉะนั้นเราต้องวางแผนคิดในกรณีฉุกเฉิน กรณีที่เลวร้ายที่สุด และบวกเพิ่มจากประสบการณ์เข้าไปอีก เพราะเราอาจไม่เคยประสบเหตุการณ์อย่างที่คนชุมพรเจอ ฉะนั้นขอให้ท่องไว้ว่า สิ่งที่ผ่านมาในอดีตอาจไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในอนาคตให้เราคูณสองเข้าไป”