×

ปภ. แจ้ง 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพิ่มสูงจากพายุโนรู เตรียมรับมือช่วง 28 ก.ย. – 2 ต.ค.

โดย THE STANDARD TEAM
27.09.2022
  • LOADING...
แม่น้ำโขง

วันนี้ (27 กันยายน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 42/2565 ลงวันที่ 26 กันยายน 2565 แจ้งว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง 

 

พบว่า พายุไต้ฝุ่นโนรูบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันตามลำดับ โดยจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของไทยในวันที่ 29 กันยายน 2565 ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม ดังนี้

 

  1. สถานีนครพนม จังหวัดนครพนม ปัจจุบันระดับน้ำ +137.85 เมตร จากระดับทะเลปานกลางต่ำกว่าตลิ่ง 5.11 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 ประมาณ 1.50-2.00 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

 

  1. สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันระดับน้ำ +130.76 เมตร จากระดับทะเลปานกลางต่ำกว่าตลิ่ง 5.96 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 ประมาณ 1.50-2.00 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

 

  1. สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันระดับน้ำ +98.78 เมตร จากระดับทะเลปานกลางต่ำกว่าตลิ่ง 4.75 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ประมาณ 2.00-2.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

 

กอปภ.ก. จึงได้ประสาน 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วง 24 ชั่วโมง และจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง พร้อมตรวจสอบและซ่อมแซมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำให้มั่นคงแข็งแรง และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ต้นน้ำ 

 

อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising