วันนี้ (25 กรกฎาคม) เวลา 09.00 น. ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกซ้อมแผนบูรณาการสาธารณภัย ระดับ 2 ประจำปี 2565 โดยมี วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีและร่วมฝึกซ้อมแผน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จำลองสถานการณ์ว่า ในพื้นที่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม มีเหตุสารเคมีระเบิด เพลิงลุกไหม้อาคารโรงงานผลิตชิ้นส่วนประกอบอุปกรณ์รถยนต์ ซึ่งเป็นอาคารโรงงานขนาดใหญ่ 4 หลัง พื้นที่ 10 ไร่ มีคนงานทั้งหมด 500 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีรั่วไหล ไฟไหม้ อาคารถล่ม รวมถึงมีผู้ประสบภัยติดค้างอยู่บนอาคาร 4 ชั้น และใต้ซากอาคารที่ถล่ม โดยในระหว่างระงับเหตุที่อาคารโรงงาน ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่อพยพคนงานพลิกคว่ำ คนงานติดค้างอยู่ในรถยนต์ที่พลิกคว่ำและลื่นไถลตกน้ำ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์
แต่หลังจากชุดปฏิบัติการทุกชุดรายงานสถานการณ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขมพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นภัยที่มีความรุนแรง ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก จึงแจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับทราบและทำการประกาศยกระดับ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งการอนุมัติยกระดับเป็นสาธารณภัย ระดับ 2 บัญชาการเหตุการณ์โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร เช่น สำนักงานเขตหนองแขม, สำนักการโยธา, สำนักการระบายน้ำ, สำนักเทศกิจ, สำนักผังเมือง, สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล, สำนักการคลัง (กองโรงงานช่างกล), สำนักสิ่งแวดล้อม (กองกำจัดมูลฝอย), สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ (ศูนย์เอราวัณ) รวมถึงหน่วยงานภายนอกอย่าง ทหาร, ตำรวจ, การประปา, การไฟฟ้า, อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.), อาสาสมัครมูลนิธิ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เข้าร่วมฝึกซ้อมแผนดังกล่าว แบบเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ การฝึกซ้อมเป็นการจำลองสถานการณ์สาธารณภัย ระดับ 2 เต็มรูปแบบ Full Scale Exercise เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งหมด 10 ชุดปฏิบัติการ ประกอบด้วย
- ชุดปฏิบัติการเผชิญเหตุชุดแรก First Response
- ชุดปฏิบัติการควบคุมและบัญชาการเหตุ Command and Control Team
- ชุดปฏิบัติการดับเพลิง Fire Team
- ชุดปฏิบัติการกู้ภัยที่สูงและที่อับอากาศ Rope Rescue and Confined Space Rescue Team
- ชุดปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง USAR: Urban Search and Rescue Team
- ชุดปฏิบัติการกู้ภัยทางน้ำ Water Rescue Team
- ชุดปฏิบัติการตอบโต้สารเคมีและวัตถุอันตราย HAZMAT: Hazardous Materials Team
- ชุดปฏิบัติการกู้ภัยอุบัติเหตุจากยานพาหนะและเครื่องจักร Vehicle and Machinery Rescue Team
- ชุดปฏิบัติการสื่อสารอากาศยานไร้คนขับ Communication and Drone Team
- ชุดปฏิบัติการทางการแพทย์ Medical Team
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านต่างๆ สามารถบริหารจัดการสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ทักษะในการบริหารจัดการภัยด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามหลักการและเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกซ้อมสามารถปฏิบัติงานหลักและให้การสนับสนุน รวมทั้งสนธิกำลังเข้าร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.ทวิดากล่าวว่า งานด้านสาธารณภัยต้องมีการซ้อม มีการใช้เครื่องมือ ต้องมีการใช้ทีมหลายๆ ทีมเข้ามาร่วมกัน ต้องมีการสร้างสถานการณ์เสมือนจริง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ซ้อมฝึกการตัดสินใจจากสถานการณ์ โดยการซ้อมในวันนี้มีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันฝึกซ้อม มีสถานการณ์ที่กำหนดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ทั้งสถานการณ์เพลิงไหม้ เพื่อให้เราได้ทดสอบชุดผจญเพลิง ในบางสถานการณ์นอกเหนือจากเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว ยังมีสถานการณ์เรื่องสารเคมีรั่วไหลด้วย หรืออาจมีสถานการณ์ซับซ้อน มีอุบัติเหตุขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีกในระหว่างนั้น เช่น เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ระหว่างเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ เกิดเหตุอาคารที่เพลิงไม้ถล่มลงมา เพื่อเป็นการประเมินกำลังเจ้าหน้าที่ ศักยภาพความสามารถ เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบการทำงาน รวมถึงการทำงานเป็นทีมจากหลายหน่วยงาน ที่มาทำงานร่วมกันในแต่ละหน้าที่ การเข้าพื้นที่เกิดเหตุ การสนธิกำลังกัน
“สาธารณภัยเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด หากเกิดขึ้นแล้วเราต้องพร้อมเข้าระงับเหตุการณ์ ถามว่าอยากให้การฝึกซ้อมวันนี้ราบรื่นไหม ต้องตอบว่าที่จริงอยากให้การฝึกซ้อมราบรื่น แต่ถ้าการฝึกซ้อมไม่ราบรื่นจะดีมาก เพราะจะทำให้เราเห็นว่า ขนาดการฝึกซ้อมยังมีความวุ่นวาย ยังมีปัญหาอุปสรรค ซึ่งสถานการณ์จริงเราไม่รู้ว่าจะมีความยุ่งยากมากกว่านี้อีกกี่เท่า ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่เราจะนำปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมมาปรับปรุงแก้ไขกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานจริงเกิดประสิทธิภาพ” ผศ.ดร.ทวิดากล่าว
ผศ.ดร.ทวิดากล่าวอีกว่า การฝึกซ้อมในวันนี้จะได้เห็นถึงความพร้อมความเชี่ยวชาญและทักษะของแต่ละหน่วยงานในสิ่งที่ตนเองต้องทำ แต่ความพร้อมการเข้าสู่สถานการณ์จะมีความยากที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งพื้นที่การเข้า-ออก ระยะเวลา และประชาชน การซ้อมวันนี้จะไม่มีในส่วนประชาชน ซึ่งในเหตุการณ์จริงจะต้องให้ประชาชนปลอดภัยไว้ก่อน การเข้าถึงพื้นที่จริงอาจจะทำได้ยาก ต้องทำงานแข่งกับระยะเวลาและสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำประชาชนออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย ความพร้อมอาจจะลงลดบ้างด้วยความซับซ้อนจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่เราจะพยายามทำอย่างเต็มที่ การฝึกซ้อมในวันนี้เราทำให้มีความซับซ้อนเกิดขึ้น เพื่อเวลาเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง เราจะได้ใช้เวลาในการคิด การตัดสินใจได้เร็วขึ้น ลดข้อผิดพลาดให้น้อยลง ที่สำคัญ สำนักงานเขตในพื้นที่จะเป็นหน่วยงานหลัก เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่จะรู้ลึก รู้ในรายละเอียดของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดไม่ให้สาธารณภัยเกิดขึ้นก่อนได้มาก สำนักงานเขตจะสามารถกำกับควบคุมพื้นที่ให้มีความง่ายต่อการเข้าสู่สถานการณ์มากขึ้นในด้านการปฏิบัติงาน การฝึกซ้อมดังกล่าวจะทำให้ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเข้าใจ รู้บทบาทภารกิจหน้าที่ของตน เมื่อเกิดเหตุจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมในการช่วยเหลือประชาชนให้รอดชีวิต และเจ้าหน้าที่ปลอดภัย ลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขอขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งทหารทุกเหล่าทัพ ตำรวจ อาสาสมัครมูลนิธิ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมกันฝึกซ้อมแผนบูรณาการสาธารณภัยในครั้งนี้