×

กมธ. แก้จน วุฒิสภา ไม่เห็นด้วยแก้ รธน. มาตรา 144 และ 185 ของพลังประชารัฐ ชี้ตัดหัวใจสำคัญการป้องกันคอร์รัปชัน

โดย THE STANDARD TEAM
22.06.2021
  • LOADING...
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

วันนี้ (22 มิถุนายน) สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา (ส.ว.) แถลงข่าวแสดงจุดยืนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับ ที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้ว่า ที่ประชุม กมธ. มีมติเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 250 ในมาตรา144 และมาตรา 185 ซึ่งถูกเสนอโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 

 

เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักการสำคัญห้ามไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ หรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นหลักการที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 และแม้การเสนอแก้ไขครั้งนี้จะยังมิได้ทำลายหลักการสำคัญดังกล่าว 

 

สังศิตกล่าวว่า การเสนอแก้ไขตัดส่วนสำคัญที่มีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 ออกไปที่เกี่ยวกับบทลงโทษ และตัดข้อห้ามในการเข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณออกไปถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ อีกทั้งหลักการที่โดนตัดไปยังถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชันข้อ 7 และ 8 อีกด้วย 

 

ด้าน ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ส.ว. กล่าวว่า ในมาตรา 185 เป็นเรื่องของการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและส่วนใหญ่ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยคอรัปชันที่ไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และในรัฐธรรมนูญ 2560 ในหมวดที่ 8 มาตรา 184-187 มีสาระสำคัญคือ ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งก้าวก่ายประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และในมาตรา 144 วรรค 2 ไม่ให้ ส.ส. และ ส.ว. เสนอแปรญัตติมีส่วนใช้งบประมาณทั้งทางตรงและทางอ้อม 

 

ขณะที่ คํานูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า การพิจารณาครั้งนี้ถือว่าเป็นความลำบากใจของ กมธ. และ ส.ว. อีกหลายคน เนื่องจากในมาตรา 144 และ 185 รวมอยู่ใน 5 ประเด็นของร่างที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ 

 

ส่วนการตัดสินใจในการลงมติในขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นอย่างไรนั้นถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคน แต่ขณะนี้คงต้องรอการนำเสนอของผู้เสนอญัตติก่อน เพราะประเด็นนี้มีเสียงคัดค้านจำนวนมาก จึงต้องรอรับฟังการชี้แจงอีกครั้ง 

 

ส่วน ส.ว. คนอื่นยังไม่สามารถตอบแทนได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ถือว่าเป็น 2 มาตราที่ ส.ว. หยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างมาก ส่วนการตัดอำนาจ ส.ว. เป็นเรื่องของ ส.ว. แต่ละคนในฐานะปัจเจก ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีมุมมองที่เหมือนกันบ้างและแตกต่างกันบ้าง

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising