×

รู้จัก Dirty Bomb ระเบิดกัมมันตรังสีที่รัสเซียอ้างถึง มีอานุภาพรุนแรงแค่ไหน น่ากังวลหรือไม่

26.10.2022
  • LOADING...
Dirty Bomb

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 ตุลาคม) รัสเซียได้กล่าวอ้างว่าฝ่ายยูเครนเตรียมใช้ระเบิดกัมมันตรังสี หรือ Dirty Bomb เพื่อหวังพลิกเกมในสงครามที่กินเวลายืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 8 ขณะที่รัฐบาลเคียฟและพันธมิตรชาติตะวันตกออกมาโต้ว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะยูเครนจะใช้ระเบิดที่กระจายสารพิษในดินแดนของตัวเองไปเพื่ออะไร

 

แม้ตอนนี้เราจะยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดพูดจริงหรือเท็จกันแน่ แต่วันนี้ THE STANDARD จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับระเบิดกัมมันตรังสี อาวุธล่าสุดที่อาจถูกเลือกใช้ในสมรภูมิรบ รวมทั้งดูว่าอาวุธชนิดมีอานุภาพรุนแรงแค่ไหน ส่งผลกระทบอย่างไร และทำไมรัสเซียถึงเอ่ยชื่อมันขึ้นมา

 

รัสเซียพูดอะไร?

 

  • เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม) รัสเซียได้ร่อนจดหมายถึงองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยอ้างว่ายูเครนจะใช้ระเบิดกัมมันตรังสีในสงครามที่เกิดขึ้น และได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือในการประชุมแบบปิดร่วมกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวานนี้ (25 ตุลาคม)

 

  • พลโท อิกอร์ คิริลลอฟ (Igor Kirillov) หัวหน้ากองกำลังป้องกันนิวเคลียร์ ชีวภาพ และเคมีของรัสเซีย เปิดเผยในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า ยูเครนมีเป้าหมายที่จะใช้การโจมตีด้วยอาวุธดังกล่าวในประเทศของตัวเอง และโทษว่าเป็นความผิดของรัสเซีย

 

  • โดยวานนี้ ดมิทรี โพลีอันสกี (Dmitriy Polyanskiy) รองเอกอัครราชทูต UN ของรัสเซีย กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกับ UNCS ว่า “รัสเซียมองว่าสถานการณ์นี้อันตรายมาก ยูเครนมีเหตุผลมากพอที่จะใช้ระเบิดดังกล่าว เพราะเราต่างรู้ดีว่ายูเครนต้องไม่พ่ายแพ้ และประเด็นต่อมาคือยูเครนต้องการดึง NATO เข้ามาสู้รบกับรัสเซียโดยตรง”

 

  • ฉะนั้นเขามองว่าถึงระเบิดกัมมันตรังสีจะมีความอันตรายในการใช้งาน แต่ก็จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายยูเครนไม่ใช่น้อย

 

  • อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยูเครนและเจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกได้ออกมาโต้ว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง แถมยังเป็นเรื่องไร้สาระ อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่ารัสเซียอาจเป็นฝ่ายที่กำลังพิจารณาใช้ระเบิดกัมมันตรังสีเสียเอง และจะโยนความผิดมาให้ยูเครน เพื่อเป็นข้ออ้างในการยกระดับความรุนแรงของปฏิบัติการทางทหาร หลังจากในช่วงที่ผ่านมากองกำลังของยูเครนได้รุกคืบตีเมืองคืนมาได้หลายส่วน

 

ระเบิดกัมมันตรังสีคืออะไร รุนแรงแค่ไหน?

 

  • ระเบิดกัมมันตรังสี (Dirty Bomb) เป็นอุปกรณ์ระเบิดธรรมดาที่มีการยัดไส้ด้วยส่วนผสมของวัสดุกัมมันตรังสี เช่น โคบอลต์-60 หรือ ซีเซียม-137 โดยเป็นอาวุธที่ออกแบบมาโดยมุ่งเน้นทำให้พื้นที่ในรัศมีของระเบิดนั้นเกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี

 

  • ต้องย้ำว่าระเบิดกัมมันตรังสีไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ เพราะเป็นการใช้อุปกรณ์ระเบิดทั่วไปมาสอดไส้ด้วยวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าวไปแล้วข้างต้น แตกต่างจากอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นวัตถุระเบิดซึ่งมีอำนาจทำลายล้างสูงจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ จนสามารถถล่มเมืองทั้งเมืองให้ราบเป็นหน้ากลอง เหมือนเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

 

  • แต่อานุภาพการระเบิดของระเบิดกัมมันตรังสีนั้นต่ำกว่ามาก หรือสามารถทำได้แค่สร้างความเสียหายให้กับอาคารได้ไม่กี่หลังเท่านั้น

 

  • โดยปกติแล้วระเบิดกัมมันตรังสีมักจะถูกมองว่าเป็นอาวุธของผู้ก่อการร้าย เพราะเป็นอาวุธที่สามารถสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมได้อย่างมาก จากการแพร่กระจายสารพิษโดยรอบพื้นที่เกิดเหตุ แต่ด้วยความที่อานุภาพการทำลายล้างของมันไม่รุนแรงมากเท่ากับระเบิดชนิดอื่นๆ จึงไม่ค่อยเห็นการใช้ระเบิดชนิดนี้ในทางการทหาร

 

  • ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลคืออาวุธดังกล่าวอาจมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกระทบให้กับพลเรือน เพราะถึงแม้อานุภาพการระเบิดจะไม่รุนแรง แต่หากสารกัมมันตรังสีแพร่ออกมา น้ำและอาหารในพื้นที่จะไม่สามารถนำไปบริโภคได้ในระยะเวลาหนึ่ง

 

  • ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวด้วยว่า ผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลันนั้นค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่แล้วคนในพื้นที่เกิดเหตุจะสามารถหนีออกจากบริเวณดังกล่าวได้ทันก่อนที่จะได้รับปริมาณรังสีเยอะจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่สิ่งที่น่าห่วงคือความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจมีมหาศาล จากการที่ต้องอพยพคนออกจากเขตระเบิด หรืออาจรุนแรงจนกระทั่งต้องละทิ้งเมืองนั้นไปเลยระยะหนึ่ง

 

  • ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา เฮนรี เคลลี (Henry Kelly) นักฟิสิกส์ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น เคยสรุปสถานการณ์สมมติเกี่ยวกับอานุภาพของระเบิดกัมมันตรังสี โดยอิงจากปริมาณและประเภทของวัสดุนิวเคลียร์ที่ใช้ในระเบิด เพื่อดูว่าสารพิษจะสามารถแพร่กระจายไปไกลแค่ไหน

 

  • ข้อมูลระบุว่าระเบิดกัมมันตรังสีที่ถูกยัดไส้ด้วยซีเซียม (ซึ่งคนร้ายอาจได้มาจากการขโมยอุปกรณ์การแพทย์ เพราะเป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่มีส่วนในการรักษาโรคมะเร็ง) อาจทำให้ต้องอพยพคนออกจากพื้นที่ระเบิดห่างไปหลายช่วงตึก และอาจทำให้พื้นที่นั้นไม่ปลอดภัยไปนานหลายสิบปี

 

  • แต่หากเกิดการระเบิดในโรงงานที่มีการใช้ก้อนโคบอลต์ในนิวยอร์ก เคลลีประเมินว่ากัมมันตรังสีอาจปนเปื้อนแผ่กว้างครอบคลุมพื้นที่ราว 380 ตารางไมล์ (1,000 ตารางกิโลเมตร) จนพื้นที่ในเกาะแมนฮัตตันอาจไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย

 

เคยมีใครใช้มาก่อนหรือไม่?

 

  • ตอบได้สั้นๆ คือ ไม่เคยมี

 

  • อย่างไรก็ตาม เคยมีรายงานว่ากลุ่มก่อการร้าย เช่น อัลกออิดะห์ หรือ ISIS ได้สร้างหรือพยายามที่จะพัฒนาระเบิดชนิดนี้ แต่ก็ยังไม่เคยมีการใช้งานจริงมาก่อน

 

ทั่วโลกมีปฏิกิริยาอย่างไร?

 

  • ยูเครนพร้อมด้วยชาติพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพยุโรป และ NATO ได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของรัสเซียในทันที โดยระบุว่ารัสเซียพยายามที่จะสร้างสถานการณ์ขึ้น เพื่ออ้างว่าเป็นความผิดของศัตรูอย่างยูเครน

 

  • ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวในการปราศรัยเมื่อคืนวันที่ 23 ตุลาคมว่า “ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ทุกอย่างดี พวกเขาเข้าใจดีว่าใครอยู่เบื้องหลังการกระทำสกปรกที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งนี้”

 

  • ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการตรวจพิสูจน์นิวเคลียร์ ระบุเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมว่า หน่วยงานจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพื้นที่ 2 แห่งในยูเครนที่รัสเซียอ้างว่ามีการเตรียมการใช้ระเบิดกัมมันตรังสี ตามคำขอของรัฐบาลยูเครนที่ต้องการพิสูจน์ความโปร่งใส แต่ IAEA ไม่ได้ระบุว่าสถานที่ 2 แห่งนั้นคือที่ใด

 

  • ด้านทำเนียบขาวกล่าวว่า ทางการกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่ามีการเตรียมการเพื่อใช้ระเบิดกัมมันตรังสีในยูเครนหรือไม่ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าจะมีการใช้อาวุธดังกล่าวในเร็วๆ นี้

 

  • แหล่งข่าวทางทหารรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว AFP ว่า การที่รัสเซียกล่าวอ้างว่าจะมีการใช้ระเบิดกัมมันตรังสีในสงคราม อาจเป็นเพราะรัสเซียหวังใช้กลยุทธ์ยกระดับสงคราม เนื่องจากตอนนี้กำลังรบแนวหน้าของรัสเซียกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก หลังกองกำลังยูเครนโต้กลับอย่างเต็มกำลัง

 

  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกันยายน กองกำลังของรัสเซียต้องถอยร่นลงมาจนเสียพื้นที่ที่เคยยึดครองได้หลายพันตารางกิโลเมตรในทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน ฉะนั้นแล้วตอนนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่รัสเซียจำเป็นต้องยกระดับสงครามเพื่อไม่ให้ตนเองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

 

  • แต่ถึงเช่นนั้นนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า หากรัสเซียจะใช้ระเบิดกัมมันตรังสีเพื่อสร้างสถานการณ์ให้มีการยกระดับการทำสงครามจริงดังที่ชาติตะวันตกและยูเครนว่าไว้ ก็มีโอกาสน้อยมากที่รัสเซียจะยกระดับสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพราะจนถึงขณะนี้หน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตกก็ยังไม่เห็นสัญญาณที่รัสเซียสั่งเคลื่อนกองกำลังนิวเคลียร์

 

สถานการณ์สงครามในยูเครนนั้นก็ยังคงต้องจับตากันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่รัสเซียเริ่มดูจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จนปูตินต้องแก้เกมด้วยการเรียกระดมพลสำรอง 3 แสนนาย ประกาศผนวกรวม 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

และแม้จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีข้อบ่งชี้แน่ชัดว่าจะมีฝ่ายใดใช้อาวุธดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่หากเกิดขึ้นจริง คนที่รับผลกระทบสาหัสที่สุดก็หนีไม่พ้นชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่เคยคิดอยากสร้างสงคราม 

 

ภาพ: Sergey Kamshylin Via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising