หลัง ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ได้เขียนข้อความและตั้งค่าการเข้าถึงแบบสาธารณะ โดยระบุว่าจะยื่นลาออกจากตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพล ในวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.) เนื่องจากต้องการธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการและไม่อาจทรยศต่อประชาชนและความถูกต้อง ตามที่มีรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้
THE STANDARD ต่อสายตรงถึง ดร.อานนท์ เพื่อสอบถามถึงเรื่องราวดังกล่าวที่เกิดขึ้น และต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงที่ได้สนทนากันแบบเปิดอก ตรงไปตรงมา เพื่อต้องการสื่อสารความคิดเห็นถึงประชาชน
THE STANDARD: จนถึงตอนนี้ อาจารย์ยังยืนยันอยู่ไหมว่าจะลาออก?
ดร.อานนท์: ยืนยันครับ
THE STANDARD: จากนี้ไปต้องดำเนินการอย่างไรต่อ?
ดร.อานนท์: การลาออกก็ไม่ได้มีขั้นตอนอะไรซับซ้อนครับ ก็คงเขียนหนังสือลาออกและเซ็นชื่อส่งไปตามขั้นตอนของทางราชการ เป็นการลาออกจากตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพล แต่งานสอนก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไป พรุ่งนี้ผมก็มีนัดต้องไปถ่ายภาพกับมหาบัณฑิต นักศึกษาลูกศิษย์ตามปกติ
THE STANDARD: พื้นที่เสรีภาพทางวิชาการที่อาจารย์บอกว่าต้องการจะธำรงรักษาไว้คือแบบไหนครับ ช่วยขยายความหน่อย?
ดร.อานนท์: ครับ ผมขอเรียนตามตรงว่าผมเพิ่งมารับตำแหน่ง ผอ. ได้เพียง 3 สัปดาห์ และมีการสำรวจและออกโพลไปแล้ว 3 ชิ้นด้วยกัน ชิ้นแรกคือ คุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชิ้นที่สองคือ ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล คสช. ของ ป.ป.ช. และชิ้นที่สาม ซึ่งทำเสร็จตั้งแต่วันศุกร์ เป็นกรณีสำรวจความเห็นประชาชนเกี่ยวกับ ‘นาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อน’ ที่กำลังเป็นประเด็นขณะนี้
การเข้ามาแทรกแซงงานทางวิชาการ ซึ่งเรามีการสำรวจด้วยขั้นตอนทางวิชาการที่รัดกุม ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างด้วยเครื่องมือ Random digit dialing ในการสร้าง master sample และสุ่มตัวอย่างรัดกุมมากๆ
หากปล่อยให้มีการแทรกแซง ระเบียบวิธีตามขั้นตอนทางวิชาการก็จะถูกทำลาย ผมจะเอาหน้าที่ไหนไปตอบคำถามประชาชนได้ และผมไม่สามารถตอบน้องๆ หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ผลสำรวจเป็นไปตามหลักวิชาการได้ และผมก็ตอบคำถามตัวเองไม่ได้ด้วย
THE STANDARD: ทำไมผลสำรวจล่าสุดจึงถูกระงับ?
ดร.อานนท์: อาจจะเป็นเพราะผู้บริหารบางคนเกรงว่าจะกระทบต่อกิจการของนิด้า จึงมีคำสั่งขอให้ระงับการนำเสนอผลสำรวจดังกล่าว
THE STANDARD: เรื่องนี้สะท้อนบทบาทมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นพื้นที่ทางวิชาการอย่างไร?
ดร.อานนท์: ผมต้องบอกก่อนว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้สั่งเซนเซอร์ ซึ่งผมขอบอกตรงนี้ ขอให้เขียนเลยนะครับว่า การที่มหาวิทยาลัยเซนเซอร์ตัวเองเป็นเรื่องร้ายแรงกว่ารัฐบาลสั่งให้ทำ เพราะถ้ารัฐบาลสั่ง ผมคิดว่ามันก็ไม่ชอบธรรม แต่มหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารที่เห็นแก่ผลประโยชน์นั้นร้ายแรงมากยิ่งกว่า
THE STANDARD: หน้าที่ของโพลคืออะไร?
ดร.อานนท์: ผมมีหน้าที่อย่างเดียวคือสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องนั้นอย่างตรงไปตรงมา ตามหลักและวิธีการทางวิชาการ ถ้าโพลที่ไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนสิ่งเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่ควรจะมีอีกต่อไป และผมถือว่าผมได้ถามประชาชนแล้ว ผมก็สะท้อนความเห็นของประชาชนตามหน้าที่
ด้าน นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นผ่าน เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า การครอบครองแหวนเพชรและนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนจาก ป.ป.ช. และยังไม่มีข้อยุติ ตนเห็นว่าหากมีการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นนิด้าโพลหรือโพลไหนๆ จะกลายเป็นการชี้นำสังคม มีผลต่อการตัดสินได้ จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่ถ้า ป.ป.ช. มีมติตัดสินมาแล้วว่ามีความผิดหรือไม่มีความผิด ก็สามารถทำโพลได้ว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
ส่วนที่ตนสั่งชะลอผลสำรวจความคิดเห็น เพราะการทำโพลในครั้งนี้ระบุไปถึงตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อบุคคลนั้นอย่างยิ่ง เพราะผลตัดสินยังไม่ออกมา ที่ผ่านมาตนไม่เคยไปแทรกแซงการทำโพล เพราะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ พร้อมยืนยันว่าไม่มีใบสั่ง และไม่มีใครครอบงำได้
Photo: ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากเว็บไซต์ www.chula.ac.th/th/archive/64892