×

ทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน กับคำถาม ‘ลมกำลังเปลี่ยนทิศหรือไม่’? หลังไช่อิงเหวินพลาดท่าเลือกตั้งท้องถิ่น

16.12.2022
  • LOADING...
ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน

เราต่างทราบกันดีว่าจีนยืนกรานในนโยบายจีนเดียวและอ้างอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวันมาโดยตลอด พร้อมกับการมีข้อพิพาทกับสหรัฐอเมริกาที่มีไต้หวันเป็นชนวนทางภูมิรัฐศาสตร์หลัก เพราะอเมริกาก็แสดงท่าทีอย่างเด่นชัดในการพร้อมปกป้องไต้หวันหากจีนใช้กำลัง โดยถือว่าไต้หวันเป็นมิตรอย่างยาวนานและตัวแทนแห่งประชาธิปไตย 

 

การพ่ายแพ้ของไช่อิงเหวินและพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ที่มีนโยบายแข็งกร้าวต่อปักกิ่ง ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า จะส่งผลดีต่อจีนหรือไม่?

 

ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเกาะไต้หวัน เพื่อเลือกนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเขต สมาชิกสภาเมือง ผู้บริหารเมือง และหัวหน้าหมู่บ้าน ภายใน 6 เขตเทศบาล และ 16 เมืองทั่วไต้หวัน รวม 22 แห่ง เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (ซึ่งเลือกจริง 21 แห่ง เนื่องจากอีก 1 แห่ง คือ เจียอี้ มีหนึ่งในผู้สมัครเสียชีวิต ทำให้ทางคณะกรรมการเลือกตั้งเลื่อนการเลือกตั้งของเจียอี้ออกไปเป็น 18 ธันวาคม) ผลปรากฏว่าพรรค DPP ของไช่อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันคนปัจจุบัน ชนะเพียง 5 จาก 21 สนาม ขณะที่พรรคฝ่ายตรงข้ามอย่างก๊กมินตั๋ง (กั๋วหมินตั่ง / KMT) กวาดชัยชนะมากถึง 13 สนาม รวมถึงกรุงไทเป เมืองหลวงด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม การพ่ายแพ้ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของ DPP ในการเลือกตั้งท้องถิ่นไต้หวัน ย้อนไปเมื่อปี 2018 หรือ 4 ปีที่แล้ว (การเลือกตั้งท้องถิ่นไต้หวัน เกิดขึ้นทุก 4 ปี) ทาง DPP ก็แพ้ให้กับ KMT โดยได้เพียง 6 เขต ขณะที่ KMT ได้ 13 เขต เท่ากับครั้งนี้ ส่วนผลเลือกตั้งของกรุงไทเปในตอนนั้น เป็นของผู้สมัครอิสระ ซึ่งเป็นเจ้าของตำแหน่งเดิม

 

และหลังจากนั้นราว 2 ปี ในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของไต้หวันในปี 2020 ไช่อิงเหวิน และพรรค DPP ก็กลับมาคว้าชัยชนะอย่างท่วมท้น

 

แต่กระนั้นครั้งนี้อาจต่างกันอย่างหนึ่งตรงที่ความพ่ายแพ้ของ DPP ในปีนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจนำไปสู่ ‘ลมเปลี่ยนทิศ’ หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ 

 

เหตุผลก็คือ KMT ถูกมองเป็นพรรคฝ่ายโปรจีน มีสัมพันธ์อันดีกับจีนมาโดยตลอด แม้ อีริก ชู หัวหน้าพรรคกั๋วหมินตั่ง พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรคตนเองมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ให้เป็นไปในแนวทางพร้อมสานสัมพันธ์ที่ดีกับอเมริกา ในขณะเดียวกันก็พร้อมร่วมมือกับจีน แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการรวมชาติ เพราะ อีริก ชู คงเห็นจากความพ่ายแพ้ของ KMT อย่างราบคาบในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อสองปีก่อน ซึ่งชูจุดยืนต้านจีน และได้ผลลัพธ์ออกมาเชิงบวก

 

ในมุมของจีนยังคงเชื่อมั่นว่าพรรคกั๋วหมินตั่งยังดีกว่าหมินจิ้นตั่งของไช่ อย่างน้อยก็ไม่ต่อต้านอย่างสุดโต่ง และสายสัมพันธ์ในอดีตก็ดีกว่า 

 

เหตุข้างต้น “ไม่สามารถตัดสินว่า การพ่ายแพ้ของ DPP ส่งผลบวกต่อจีนได้อย่าง 100%” 

 

เพราะตามปกติแล้วการเลือกตั้งท้องถิ่นของไต้หวัน ไม่สามารถนำมาชี้วัดการเลือกตั้งใหญ่อย่างการเลือกผู้นำเกาะไต้หวันและสมาชิกสภาใหญ่ได้ทั้งหมด เพราะนโยบายหาเสียงและการพิจารณาของประชาชนในการเลือกตั้งท้องถิ่นบนเกาะไต้หวันนั้น จะมองไปที่นโยบายการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่นั้น ไม่ได้มองภาพใหญ่ระดับทั้งไต้หวันและนอกไต้หวัน 

 

ลมอาจไม่เปลี่ยนทิศในทันที แต่ ‘กำลังก่อตัว’

แต่ผู้เขียนมองว่า การพ่ายแพ้ครั้งนี้อาจมีนัยสำคัญที่ใหญ่กว่าแค่การเลือกตั้งท้องถิ่น ดูได้จากไช่อิงเหวินลาออกเพื่อรับผิดชอบผลการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติของนักการเมืองไต้หวัน แต่ลองมาพิจารณา 2 ข้อใหญ่ ที่ผู้เขียนกำลังจะชี้ให้เห็น อาจจะพบว่า ลมไม่เปลี่ยนทิศในทันที แต่กำลังก่อตัวขึ้นแล้ว

 

  1. พ่ายแพ้จากมูลเหตุระดับวงกว้าง ไม่ใช่แค่ท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง

การได้มาแค่ 5 เขต และที่สำคัญคือพลาดกรุงไทเป สามารถวิเคราะห์มูลเหตุหลักๆ มาจาก ‘ประชาชนในท้องที่ ผิดหวังต่อการจัดการโควิดของพรรค DPP’ โดยเฉพาะกรณีของ เฉินสือจง ผู้สมัครรับเลือกนายใหญ่แห่งกรุงไทเป ที่เขาเลือกลาออกจากการเป็นผู้กุมบังเหียนการรับมือสาธารณสุขของรัฐบาลกลางไต้หวัน เพื่อจะมาลงเลือกตั้ง ทั้งที่ในขณะนั้นสถานการณ์การระบาดโควิดที่ไต้หวันเข้าขั้นแย่ ทำให้ความเชื่อมั่นของพรรค DPP ของประชาชนไต้หวันเริ่มมีปัญหา

 

ปัญหาการรับมือโควิดที่คนส่วนใหญ่มองว่าทางการไต้หวันรับมือได้ไม่ดี อย่างวัคซีนที่ใช้ไม่มีประสิทธิภาพ เน้นใช้แต่ของที่ผลิตในไต้หวันมากเกินไป อุปกรณ์ป้องกันโรคระบาดมีปัญหาขาดแคลน ดังที่เคยปรากฏภาพของประชาชนชาวไต้หวันต้องต่อแถวยาวเหยียดตากแดดตากฝนเพื่อซื้อหน้ากากอนามัย ภายใต้เสียงวิจารณ์ว่า งบประมาณทางสาธารณสุขที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รับมือโควิดมีจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ แต่ทำไมยังเกิดปัญหาขึ้น ไม่สอดคล้องกับงบ 

 

จุดนี้ ทาง DPP จึงถูกทาง KMT นำมาใช้ในการวิจารณ์เพื่อให้เห็นข้อผิดพลาดของ DPP และจากปัญหาการรับมือโควิดนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แม้อุตสาหกรรมหลักที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับไต้หวัน อย่างเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่ภาคส่วนอื่นได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ทางไช่อิงเหวินเคยให้สัญญาแก่ชาวไต้หวันเอาไว้ว่าจะจัดการปัญหาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินกำลังการซื้อ แต่ยังคงทำไม่ได้ และยิ่งหนักมากขึ้นเมื่อเจอผลกระทบจากโควิด

 

  1. ปัญหาปากท้อง สำคัญมากกว่าการต่อต้านจีน 

ในการเลือกตั้งท้องถิ่น 2022 ไช่อิงเหวินได้ปรับเป้าหมายของพรรค ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งท้องถิ่นอีกต่อไป แต่เป็นระดับภาพใหญ่ ไม่แพ้การเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน โดย DPP ได้หาเสียงโค้งสุดท้ายด้วยการชูจุดยืน ‘ต่อต้านจีน’ ดังที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ไม่ใช่รอบนี้ 

 

จุดนี้จึงวิเคราะห์ได้ว่า คนไต้หวันไม่มองเรื่องต่อต้านจีนเป็นหลักอีกแล้ว แต่พวกเขามีปัญหาเรื่องการดำรงชีวิต ได้รับผลกระทบเชิงลบจากโควิด เขาอยากได้การแก้ไขตรงนี้ ก็คือเรื่องปากท้องนั่นเอง

 

นักวิเคราะห์หลายคนอาจมองในมุมว่า มันก็ถูกแล้ว ตามธรรมชาติของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่คนมีสิทธิเลือกตั้ง จะเลือกเพื่อให้เกิดผลดีในท้องที่ของตนเอง 

 

ขอย้ำอีกครั้ง ในข้อ 1 สิ่งที่เป็นสาเหตุให้ DPP ล้มเหลวในการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ อาจไม่ใช่ประเด็นจำเพาะแต่ละท้องที่ แต่มาจากการจัดการของส่วนกลาง ซึ่งกุมอำนาจโดยพรรค DPP 

 

การหาเสียงด้วยการยกประเด็นที่ควรจะใช้ในการหาเสียงระดับใหญ่ มาใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะหวังโกยคะแนนจากประชาชนแต่ละพื้นที่ เป็นไปในทิศทางคล้ายกันกับการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ เพราะ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ในนามพรรคเดโมแครต หาเสียงโค้งสุดท้ายด้วยการยกสิ่งที่อเมริกันชนต้องการคือ ‘การเผยแพร่ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน’ โดยยกถึงภัยคุกคามของประชาธิปไตยในอเมริกา ณ ปัจจุบัน หากไม่เลือกเดโมแครตจะมีปัญหาแน่ โดยผลออกมาแม้จะยังเอาตัวรอด ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา แต่เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรตกเป็นของรีพับรีกัน พรรคคู่แข่ง

 

เรื่องของการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ และเลือกตั้งท้องถิ่นไต้หวัน อาจต่างกรรมต่างวาระ ต่างสถานที่ ทว่าเป็นไปในทิศเดียวกันคือ “ปากท้องประชาชนสำคัญที่สุด”

 

ดังนั้น 2 ปีที่เหลือภายใต้การนำของไช่อิงเหวิน และ DPP ก่อนเลือกตั้งใหญ่ คือตัวแปรสำคัญของลมเปลี่ยนทิศ

 

อย่างที่วิเคราะห์ไปข้างต้น ปัญหาใหญ่ของไช่อิงเหวิน และ DPP ที่กำลังเผชิญอยู่ คือความเชื่อมั่นของประชาชน หากเวลา 2 ปีที่เหลืออยู่ในมือตนเอง ไม่สามารถใช้อย่างคุ้มค่า เพื่อแก้ไขปัญหาและเรียกความเชื่อมั่นของชาวไต้หวันกลับมาได้ อาจมีโอกาสสูงที่ชาวไต้หวันจะเปลี่ยนทิศทางการเลือกผู้นำเกาะ ไปอยู่ที่ KMT ที่กำลังมีดาวรุ่งดวงใหม่หลายดวงของพรรค พร้อมขึ้นมาเจิดจรัส 

 

แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขด้วยว่า KMT จะสามารถทำให้ชาวไต้หวันเชื่อในแนวทางที่จะดำเนินการกับจีนได้หรือไม่ และการบริหารพื้นที่สำคัญอย่างกรุงไทเปที่พวกเขาได้ไปในการเลือกตั้งท้องถิ่นก็น่าจะมีผลอยู่ไม่น้อย

 

ทั้งนี้ หากอีกสองปีข้างหน้า พรรคกั๋วหมินตั่งได้ครองอำนาจในไต้หวัน ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า ทิศทางลมจะหันไปในลมอ่อนโยนต่อจีน หรือลมเย็นยะเยือกอย่างที่เป็นอยู่ในสมัยของไช่อิงเหวิน ซึ่งยังคงต้องรอดูอีกสักพัก แต่ที่พอจะตอบได้ คงเป็นสายลมแบบที่แม้ไม่ทำให้ใจ (จีน) อบอุ่น แต่ก็ไม่อึดอัดจนเกินไปแบบที่เป็นอยู่ และเราคงเห็นจีนปฏิบัติต่อไต้หวันในแนวทางพร้อมร่วมมือและเจรจามากขึ้น ถ้า KMT ไม่เปลี่ยนเป็นแข็งกร้าวกับจีนตามสไตล์ไช่อิงเหวินเสียก่อน

 

ภาพ: Ulet Ifansasti / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising