ทีวีดิจิทัลยังขาดทุนต่อเนื่อง!
แม้จะใส่เครื่องหมาย ‘!’ แต่คงไม่มีใครตกใจกับเรื่องนี้
เพราะตั้งแต่ปี 2556 – วินาทีนี้ สถานการณ์ช่องทีวีดิจิทัลในภาพรวมอยู่ในภาวะ ‘ขาดทุน’ มาโดยตลอด
โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา (2559) เกือบทุกช่องล้วนเจ็บหนัก และมีแนวโน้มว่าจะเจ็บหนักขึ้นเรื่อยๆ
จนมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสะกิดถาม กสทช. ว่า ‘ขอคืนใบอนุญาตได้ไหม’
“เงินที่จ่ายแล้วก็จ่ายไป แต่ส่วนที่เหลือไม่ต้องชำระ” ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. พูดแทนความในใจของช่องทีวีดิจิทัล
ซึ่งคำพูดนี้สะท้อนถึงการถอดใจและไม่เห็นอนาคต ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จนถึงขั้นยอมเสียเงินที่จ่ายค่าประมูลก่อนหน้านี้ เพราะคิดว่าคุ้มกว่าที่จะ ‘ขาดทุน’ ต่อไปเรื่อยๆ จนเลือดไหลหมดตัว
แม้ล่าสุด (4 กันยายน) กสทช. จะพยายามหาทางออกให้กับธุรกิจทีวีดิจิทัล ด้วยการยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลงวดที่ 5 ออกไปอีก 9 เดือน และเผยว่า จะลดจำนวนช่องจาก 24 ช่อง ให้เหลือ 15-16 ช่อง (เท่ากับว่าจะมีช่องหายไป 8-9 ช่อง)
เนื่องจาก ฐากร ตัณฑสิทธิ์ มองว่า เมื่อนำจำนวนช่องหารงบอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่าแสนล้านบาท จะทำให้แต่ละช่องอยู่รอดได้ เพราะจะมีรายได้ช่องละ 6,000-7,000 ล้านบาท (อ้างอิง: โพสต์ทูเดย์)
แต่ดูเหมือนว่า คำตอบของเลขาธิการ กสทช. จะเกิดจากโจทย์คณิตศาสตร์ในจินตนาการ และหยิบ ‘ตัวตั้ง’ ผิด
เพราะผลลัพธ์เกินจริงไปมาก
ถามว่า ผิดตรงไหน?
ตัวเลขจำนวนแสนล้านไม่ผิด แต่ผิดที่หยิบเอา ‘งบอุตสาหกรรมโฆษณา’ ทั้งหมดทุกสื่อมาเป็นตัวตั้ง
เพราะเรากำลังพูดถึงสื่อทีวีดิจิทัล ดังนั้นต้องคิดจากงบโฆษณาของสื่อทีวีดิจิทัลเท่านั้น
หากอ้างอิง ข้อมูลงบโฆษณา ปี 2560 ของ MAAT หรือ สมาคมมีเดียเอเจนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย จะพบว่าคาดการณ์งบโฆษณาทีวีดิจิทัลไว้ที่ 27,000 ล้านบาท หากคิดด้วยสมการคณิตศาสตร์สำเพ็ง
งบโฆษณาในสื่อทีวีดิจิทัล / จำนวนช่องที่คาดการณ์ = รายได้ที่แต่ละช่องจะได้
จะเท่ากับ…
27,000/15 =
1,800 ล้านบาท/ช่อง เท่านั้น
ดังนั้น จากคำกล่าวของ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ จึงเป็นการอ้างเหตุที่ผิด
และเมื่อเหตุที่อ้างผิด ก็ชวนให้สงสัยในผลที่ ‘เชื่อว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล (ที่เหลือ) จะสามารถอยู่รอดได้’
ถูกต้องหรือไม่?
ใครรอด-ใครตาย?
ถามว่า ช่องดิจิทัล 24 ช่อง จะมีใครรอด (จริงๆ) บ้าง
ตอบอย่างไรก็คงไม่ผิด เพราะเรื่องนี้ยังไม่ถึงตอนอวสาน
แต่ถ้ามอง ‘อดีต’ ที่ผ่านมา จะพบว่า มีผู้ไม่รอดไปแล้ว 1 ราย คือ เจ๊ติ๋ม-ทีวีพูล หรือนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ที่ขอถอนตัวก่อนที่จะจ่ายค่าสัมปทานงวดที่ 2 โดยขอยกเลิก 2 ช่อง ได้แก่ ไทยทีวี และช่องเด็ก LOCA เพื่อหนีกลับไปทำ ‘ทีวีดาวเทียม’
“ใครจะจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลก็จ่ายไป แต่เราไม่ยอมจ่ายแน่ๆ ยอมรับว่าเราคาดการณ์ผิดพลาด ที่ไปประมูลมาสองช่อง เหมือนล่องเรืออยู่แล้วเห็นสิ่งใหม่ดีกว่า ก็ไปร่วม และก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้”
มองในแง่ดี กรณีของเจ๊ติ๋มอาจเป็นการ ‘ไหวตัวทัน’ มากกว่าจะขอถอนตัวในฐานะผู้แพ้ (หรือเปล่า?)
เนื่องจาก การจ่ายค่าสัมปทานงวดที่ 3 มี 5 ช่อง ทีวีดิจิทัลไม่จ่ายค่าประมูล (ก่อนจะทยอยจ่ายในเวลาต่อมา) ได้แก่
ช่อง 20 ไบรท์ ทีวี
ช่อง 25 GMM Channel
ช่อง 31 GMM One
ช่อง 32 ไทยรัฐทีวี
ช่อง 36 PPTV
และมีข่าวรายงานว่า มี 5 ช่องที่ต้องการขอคืนใบอนุญาตฯ (เดินตามรอยเจ๊ติ๋ม?) แต่ไม่มีการเปิดเผยว่า 5 ช่องดังกล่าว จะเป็นช่องเดียวกับที่ต้องการไม่จ่ายค่าประมูลหรือไม่?
กดดูคำให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการ กสทช. ต่อกรณีนี้ได้ในคลิปด้านล่าง ตั้งแต่นาทีที่ 0:55 เป็นต้นไป
ขณะที่ การจ่ายค่าสัมปทานงวดที่ 4 มี 2 ช่อง ที่จ่ายล่าช้า (และจ่ายในเวลาต่อมา) คือ
- ช่อง 18 New TV
- ช่อง 20 ไบรท์ ทีวี
บวกกับข้อมูลรายได้ช่องดิจิทัลทีวีแต่ละช่องระหว่าง พ.ศ. 2556-2559 จะพบว่า มีเพียง 2 ช่องเท่านั้นที่ได้ ‘กำไร’ คือ
ช่อง 23 Workpoint TV
ช่อง 35 หรือ ช่อง 7 HD
แต่ช่อง 23 Workpoint TV ดูมี ‘อนาคต’ มากกว่า เพราะมีแนวโน้มรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ช่อง 7 HD แม้จะมีกำไร แต่กำไรที่ได้กลับลดลงทุกปี
จากข้อมูลสถานการณ์การเงิน (ที่ดูจากการจ่ายค่าสัมปทานตามกำหนดเวลา) รายได้ย้อนหลัง 4 ปี (พ.ศ. 2556-2559) ผนวกกับเรตติ้งเฉลี่ยในช่วงไพร์มไทม์ มิถุนายน 2560
ทำให้พอพยากรณ์ได้ว่า น่าจะมีผู้ไม่รอดมากกว่าผู้รอด
ช่อง 16 TNN24
ช่อง 18 New TV
ช่อง 19 Spring News
ช่อง 20 ไบรท์ ทีวี
ช่อง 31 NOW
5 ช่องด้านบน คือช่องทีวีดิจิทัลที่มีแนวโน้มว่า อาจมีรายชื่ออยู่ใน Death Note ในเวลานี้
ส่วนตอนอวสานจะเหลือรอดกี่ราย ก็สุดคาดเดา
เพราะหนังยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร
‘15 ช่อง = รอด’ คือสมการในความฝัน?
กลับมาที่สมการ ‘15 ช่อง = รอด’ ของ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
ถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหน เมื่อมองจากการหยิบตัวตั้งที่ไม่ตรงกับความจริงมาคำนวณ
อาจกล่าวได้ว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวน่าจะเป็น ‘แฟนตาซีชวนฝัน’ มากกว่าจะเกิดขึ้นจริง
บทความ ทีวีดิจิทัลขาดทุนอ่วม โบรกฯ มอง WORK-MONO รอดชีวิต ซึ่งเป็นการคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจทีวีดิจิทัลในปี 2559 จากการประเมินงบหุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลโดยโบรกเกอร์ ชี้ว่า
MCOT: ช่อง 38 MCOT HD คาดว่าไม่น่ารอด ฝืนต่อไปอีกไม่ไหว เพราะขาดทุนติดต่อมาหลายไตรมาส (ต้องติดตามดูว่า หลังจากมีการปรับผังจะช่วยดึงเรตติ้งและรายได้เพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน)
MONO: ช่อง 29 MONO29 มีเรตติ้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 0.54 (เพิ่มขึ้น 34%) ขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ในปี 2016 มีแนวโน้มที่ดี น่า ‘ซื้อ’ เพื่อลงทุนในระยะยาว
WORK: ช่อง 23 Workpoint TV มีกำไรสุทธิ 199 ล้านบาท มีคอนเทนต์แข็งแกร่ง เรตติ้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเริ่มเบียดแซงช่อง 3 (ปัจจุบันมีเรตติ้งแซงช่อง 3 ไปแล้ว โดยเป็นรองแค่ช่อง 7) นับเป็นช่องดิจิทัลที่มีอนาคต
นอกจากนี้ในบทความยังอ้างถึง ‘มาตรการเยียวยา’ ต่างๆ ของ กสทช. นั้นแค่ ‘ช่วยประคอง’ อุตสาหกรรมเท่านั้น
ถึงตรงนี้ คุณคิดว่า อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลบ้านเราจะมีใครรอดบ้าง?
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
- www.posttoday.com/digital/512990
- www.masterad.com/news/insight/116
- www.efinancethai.com/LastestNews/index.aspx?ref=P&id=u/xbjQDafjU=&year=2017&month=2&lang=T
- positioningmag.com/60530
- www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/29787
- positioningmag.com/60268
- www.thansettakij.com/content/2690
- www.thairath.co.th/content/950332
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/747928