เงินหยวนดิจิทัล (Digital Yuan) เป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยให้ความสนใจกันมาก กว่าจะมีวันนี้ วันที่จีนสามารถพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลจนสร้างความพลิกผันให้โลกการเงิน จีนต้องผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง บทความนี้จะพาไปศึกษาเส้นทางพัฒนาการของเงินหยวนจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยของผู้นำจีน ก่อนที่เราจะไปสรุป 7 ประเด็นเด่นของเงินหยวนดิจิทัลที่ควรรู้ ตลอดจนเป้าหมายของจีนในการผลักดันเงินตราดิจิทัลแห่งชาติ
จวบจนยุคสีจิ้นผิง เงินหยวนจีนมีพัฒนาการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนล่าสุดธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China – PBOC) ได้ประกาศทดลองนำเงินหยวนในรูปแบบของดิจิทัลมาใช้เป็นชาติแรกของโลกเพื่อรองรับวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล โดยใช้คำเรียกเงินหยวนดิจิทัลนี้ว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP)
โมเดลจีน: เน้นการทดลองแบบค่อยเป็นค่อยไป
บทความนี้ได้จัดทำตารางสรุปไทม์ไลน์พัฒนาการของเงินหยวนจีน (RMB) สู่เงินหยวนดิจิทัลตั้งแต่ปี 1948-2020 เพื่อชวนให้ย้อนไปศึกษาวิเคราะห์เส้นทางเงินหยวนจีน นับจากครั้งแรกในเดือนธันวาคม ปี 1948 ที่มีการนำสกุลเงินของจีนในชื่อทางการว่า เหรินหมินปี้ (Renminbi – RMB) มาใช้ครั้งแรก โดยที่คนทั่วไปเรียกว่าเงินหยวนจีน ซึ่งจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 70 ปี เงินหยวนของจีนมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย
ตั้งแต่ยุคเหมาเจ๋อตง ช่วงปี 1949-1976 ที่เน้นระบบคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ มาถึงยุคเติ้งเสี่ยวผิงที่เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 1978 จากนั้นได้ใช้ระบบเงินสองสกุลในช่วงปี 1980-1994 จีนผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการลองผิดลองถูก ผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนมาถึงปี 1994 ก็ปรับเหลือเงินสกุลเดียวภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และต่อมาในปี 2005 ก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ จวบจนถึงยุคสีจิ้นผิงที่ขึ้นมากุมบังเหียนจีนตั้งแต่ปี 2013 และผลักดันให้เงินหยวนได้รับการยอมรับใน IMF เมื่อปี 2016 ให้เป็น 1 ใน 5 สกุลเงินที่นำมาคำนวณในตะกร้าเงิน Special Drawing Rights (SDRs) ร่วมกับอีก 4 สกุลเงิน ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน ที่สำคัญในยุคสีจิ้นผิงได้เน้นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดเพื่อนำพาประเทศจีนมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มที่ และมีการทดลองนำเงินหยวนในรูปแบบของ Digital Currency มาใช้เป็นประเทศแรกของโลกด้วย
จะเห็นได้ว่านี่คือลักษณะเด่นของโมเดลจีน คือเน้นการทดลองทำแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradualsim) เน้นทำทีละขั้นตอน จีนเน้นปฏิรูปแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ผลีผลาม หากทดลองทำแล้วได้ผลจึงค่อยขยายผล ถ้าไม่สำเร็จก็จะหยุดทบทวนถอดบทเรียน ก่อนจะปรับแก้ไขเพื่อเดินหน้าต่อ โมเดลจีนจะ ‘เน้นรักษาเสถียรภาพ’ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงเปรียบเสมือน ‘การคลำหินข้ามห้วย’ จีนจะไม่กระโดดข้ามแม่น้ำทันที แต่จะค่อยๆ ทำ ถ้าไม่ได้ผลก็หยุดทบทวนแล้วค่อยไปต่อ
จีนในยุคสีจิ้นผิงก็เช่นกัน ก่อนจะทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล ภาครัฐได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจีนแข่งขันกันการพัฒนาฟินเทคเพื่อนำพาจีนมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านกระเป๋า E-Wallet เพื่อลดการใช้เงินธนบัตร เป็นการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมเพื่อใช้เงินดิจิทัลในอนาคต ซึ่งในขณะนี้จีนมีผู้ใช้ระบบการเงินผ่านมือถือกว่า 621 ล้านบัญชี โดยมีสัดส่วนกว่า 90% ชำระผ่านระบบบุคคลที่ 3 เช่น Alipay หรือ WeChat Pay
จุดเริ่มต้นเงินหยวนดิจิทัล (DCEP)
แม้ทางการจีนในยุคสีจิ้นผิงจะไม่ยอมรับเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) แบบสำเร็จรูปที่คิดค้นโดยต่างประเทศ แต่จีนได้ให้ความสนใจและศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี 2014 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2019 ธนาคารกลางของจีน (PBOC) ได้ประกาศจะเริ่มทดลองใช้เงินหยวนในรูปแบบดิจิทัล โดยใช้ชื่อเรียกว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP)
และล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2020 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศจะ ‘ทดสอบ’ การใช้เงินหยวนดิจิทัลใน 4 เมืองสำคัญของจีน ได้แก่ ซูโจว เซินเจิ้น สงอัน และเฉิงตู โดยการทดลองจ่ายเงินเดือนบางส่วน/เบี้ยเลี้ยงแก่เจ้าหน้าที่รัฐของจีนด้วยเงินหยวนดิจิทัลผ่าน 4 ธนาคารใหญ่ของจีน ได้แก่ Agricultural Bank of China, Industrial and Commercial Bank of China, Bank of China และ China Construction Bank และได้ขอความร่วมมือทดลองนำเงินหยวนดิจิทัลไปใช้ในร้านค้าขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น McDonald’s, Subway และ Starbucks
7 ประเด็นเด่นเงินหยวนดิจิทัล
เงินหยวนในรูปดิจิทัลของจีน หรือ DCEP มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากการชำระเงินผ่านระบบ E-Wallet รวมทั้งแตกต่างจากเงินคริปโตเคอร์เรนซีอย่างน้อย 7 เรื่อง สรุปได้ดังนี้
ข้อแรก เงินหยวนดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี แต่เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ จึงมีความแตกต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีทั่วไป และมีค่าเงินที่แน่นอน มีความปลอดภัยกว่า เพราะมีสำรองหนุนค่าเงินเหมือนเงินหยวน RMB ทั่วไป โดยผูกอิงค่า 1:1 ถือเป็น Stable Currency จะไม่เอื้อให้เกิดเงินเฟ้อ
ข้อสอง เงินหยวนดิจิทัลไม่ใช่เงินสกุลใหม่ และเปิดกว้างใช้ได้ไม่จำกัดแพลตฟอร์ม สามารถใช้ชำระเงินได้ตามกฎหมาย การใช้เงินหยวนดิจิทัลก็เปรียบเหมือนการใช้ธนบัตรหรือเงินสดที่เราถือในมือ ร้านค้าจะปฏิเสธการยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นเงินที่รับรองโดยธนาคารกลางของประเทศ ไม่มีปัญหาดังเช่นระบบ E-Wallet ของเอกชนที่ใช้แพลตฟอร์มเฉพาะของตัวเอง เช่น Alipay ข้ามไปใช้ WeChat Pay ไม่ได้
ข้อสาม เงินหยวนดิจิทัลช่วยขจัดจุดอ่อนของการใช้เงินกระดาษ โดยสามารถชำระผ่านมือถือที่มีกระเป๋าดิจิทัล (Digital Wallet) ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องผูกบัญชีหรือมีเล่มสมุดบัญชีธนาคาร และไม่จำเป็นต้องสัมผัสตัวเงินแบบเงินกระดาษ ใช้สะดวก ช่วยขจัดจุดอ่อนของการใช้เงินกระดาษที่อาจจะสกปรกหรือติดเชื้อโรค และลดต้นทุนการผลิตพิมพ์เงินกระดาษ การเก็บรักษาเงินกระดาษ ไปจนถึงกระบวนการทำลายเงินกระดาษที่เก่าหรือหมดสภาพ
ข้อสี่ เงินหยวนดิจิทัลสามารถใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต นั่นคือการชำระออฟไลน์ได้ การใช้จ่ายโอนเงินสามารถกระทำผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายด้วยคลื่นความถี่ในระยะใกล้ หรือระบบ Near Field Communication (NFC) ที่มีในสมาร์ทโฟน เพียงแค่นำมือถือ 2 เครื่องที่มีกระเป๋าดิจิทัลมาชนกันเพื่อโอนเงินได้เลย
ข้อห้า การใช้เงินหยวนดิจิทัลไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อผู้ใช้ (Ordinary transactions are anonymous) จึงรักษาความลับทางการค้าได้ การทำธุรกรรมเสมือนการใช้จ่ายแบบเงินสดแบบปกติแตกต่างกับ E-Wallet ที่เจ้าของเงินต้องผูกกระเป๋าเงินกับบัตรธนาคารหรือบัตรเครดิต การใช้จ่ายทำผ่านระบบ QR Code และข้อมูลการใช้จ่ายจะถูกเก็บอยู่ในอีโคซิสเต็มของบริษัทผู้พัฒนา E-Wallet นั้นๆ ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงพฤติกรรมการใช้เงินหรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของผู้ถือ E-Wallet
ข้อหก ธนาคารกลางจีนคือผู้คุมระบบและมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล จึงสามารถเก็บข้อมูลธุรกรรมการใช้เงินหยวนดิจิทัลในระบบฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า และสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ ในแง่นี้จะช่วยป้องกันการทำธุรกรรมการเงินที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การโอนเงินเพื่อการก่อการร้าย การเลี่ยงภาษี ตลอดจนการคอร์รัปชันต่างๆ เพราะเส้นทางการเงินใดๆ ที่ผิดกฎหมายจะถูกตรวจสอบได้ และอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลจะอยู่ที่ผู้คุมระบบคือธนาคารกลางจีน
ทั้งนี้ถ้าเป็นธุรกรรมปกติ ธนาคารกลางจีนก็จะช่วยปกปิดความลับให้ แต่ถ้าเป็นธุรกรรมผิดกฎหมายก็จะถูกนำข้อมูลไปใช้ดำเนินคดีตามกฎหมายได้
ข้อเจ็ด มุ่งสร้างความเป็นสากลให้สกุลเงินของจีน ประเด็นเหตุผลเบื้องหลังของจีนในการผลักดันเงินสกุลหยวนดิจิทัลก็เพื่อให้สกุลเงินของจีนได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้น (Internationalization of RMB) จึงเป็นเสมือนเส้นทางลัดให้เงินหยวนจีนสามารถผงาดเป็นสกุลหลักของโลกเทียบเท่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ครองโลกมาตั้งแต่ปี 1945
โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีพลิกผัน (Digital Disruption) พลังของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลเป็นตัวเร่งสำคัญ โดยเฉพาะพลเมืองเน็ตในจีนกว่า 900 ล้านคนจะเป็นแต้มต่อของจีนที่จะทำให้เงิน DCEP เป็นเงินสกุลดิจิทัลรายแรกของโลกที่จะถูกใช้แพร่หลายมากที่สุดในโลกได้อย่างรวดเร็ว และจีนได้เตรียมการในเรื่องนี้ผ่านการผลักดันยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม Belt and Road Initiative (BRI) เน้นส่งออก ‘แพลตฟอร์มจีน’ ไปทั่วโลกผ่านระบบการค้าออนไลน์ เพื่อเป็นฐานยิงลูกต่อในการเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก
ตัวอย่างผู้บริโภคในรัสเซียนิยมช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์ผ่าน AliExpress ของ Alibaba รวมทั้งในบราซิล และประเทศไทยเองที่นิยมช้อปปิ้งผ่าน Lazada หรือ Shopee โดยมีบริษัทเทคคอมจีนอย่าง Alibaba หรือ Tencent อยู่เบื้องหลัง เป็นต้น ดังนั้นการเปิดระบบชำระเงินในระบบดิจิทัลมากขึ้นทั้งผ่าน Alipay และ WeChat Pay ในบรรดาผู้บริโภคในประเทศขนาดใหญ่เหล่านี้ก็คือเป้าหมายของจีนที่จะเตรียมเป็นฐานยิงลูกต่อ เพื่อทำให้ทั่วโลกหันมาใช้ DCEP สกุลเงินดิจิทัลสัญชาติจีนอย่างแพร่หลายมากขึ้นนั่นเอง
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าจีนคิดใหญ่ มองไกล จีนมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างดี และทุ่มเทใฝ่เรียนรู้เทคโนโลยีบล็อกเชนและเทคโนโลยีทางการเงินต่างๆ อย่างจริงจัง จีนนำมาตรการต่างๆ มาดึงดูดและจูงใจนักเทคโนโลยีมาจากทั่วโลก เพื่อเตรียมการให้พร้อมก่อนจะพลิกผันให้โลกสะเทือนด้วยเงินหยวนดิจิทัล
อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อกังวลในหลายประเด็นเกี่ยวกับการใช้เงินหยวนดิจิทัล โดยเฉพาะในเรื่องความลับของข้อมูลที่จีนใช้คำว่า ‘Controllable Anonymity’ แม้จะไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อผู้ใช้ แต่เนื่องจากธนาคารกลางของจีนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้และเก็บพฤติกรรมการใช้เงินหยวนดิจิทัลทั้งหมดได้ ทำให้เกิดข้อกังวลใจและถูกตั้งคำถามในประเด็นความเป็นส่วนตัวของข้อมูลดังกล่าว
เงินหยวนดิจิทัลกับอนาคตการค้าไทย-จีน
ในประเด็นเงินหยวนดิจิทัลกับอนาคตการค้าไทย-จีน เนื่องด้วยการผลักดันอย่างจริงจังของธนาคารกลางจีน สะท้อนว่าเงินหยวนดิจิทัลน่าจะถูกนำไปใช้ในประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของจีน รวมทั้งไทย ดังนั้นการค้าไทย-จีนน่าจะมีการทำธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีการทำธุรกรรมด้วยเงินหยวนดิจิทัลมากขึ้นก็ยากจะที่เลี่ยงไม่ให้ทางการจีนและทางการไทยรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเส้นทางการเงินในรูปของดิจิทัล เพราะทุกอย่างจะกระทำผ่านระบบฐานข้อมูล บันทึกข้อมูลและติดตามได้ชัดเจน รวมทั้งมีความโปร่งใส และในประเด็นการค้าด้วยสกุลหยวนดิจิทัลจะทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าหรือไม่ จำเป็นต้องศึกษาทิศทางของค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและจีน หลังจากที่มีการทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้นแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น หากแต่ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ก็เริ่มสนใจศึกษาและผลักดันให้มีการใช้เงิน Digital Currency มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มีโครงการอินทนนท์ เพื่อเตรียมศึกษาเกี่ยวกับ Digital Currency เช่นกัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาวะปกติใหม่ด้านระบบการเงินของโลกที่จะต้องจับตาและศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อไป
หมายเหตุ
- ว่ายฮุ่ยเฉวี้ยน เงินตราแห่งยุคปฏิรูป เผยแพร่: 12 ธ.ค. 2551 22:16 โดย: MGR Online mgronline.com/china/detail/9510000137634
- จีนยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกในมาตรา 14 จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรา 14 ของ IMF กล่าวคือการเปิดตลาดทุนเสรีและการลดการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินทุน การปล่อยให้มีการนำเงินเข้า-ออกได้อย่างเสรี และการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินอย่างโปร่งใส และธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือของเอกชนต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (BIS)
อ้างอิง: รวบรวมโดย อักษรศรี พานิชสาส์น ปี 2020
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์