×

บทสรุปงบ 68: ทุกปัญหา โทษ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ได้เลย!

โดย THE STANDARD TEAM
21.06.2024
  • LOADING...
digital wallet

แม้จะดำเนินมาใกล้ช่วงสุดท้ายแล้ว แต่การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ตลอด 3 วันนี้ก็ดูเหมือนจะยังหนีไม่พ้นประเด็นเดิมๆ คือ มุ่งโจมตีไปยัง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ นโยบายหลักของรัฐบาล ราวกับจะเวียนวนอยู่กับเรื่องเก่า

 

อย่างไรก็ตาม สส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ล้วนทุ่มเทใช้เวลาอภิปรายในสภาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวไปยังประชาชน และสะท้อนความจริงในมุมของตนผ่านการจัดสรรงบ เปรียบเหมือนวัตถุชิ้นเดียวที่ถูกมองจากหลายมุม

 

โจทย์ใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านในครั้งนี้คือ การโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อว่า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ คือต้นตอของปัญหานานัปการในประเทศ เพราะความพยายามของรัฐบาลในการทุ่มเทงบประมาณลงไปที่โครงการเดียว ส่งผลให้งบประมาณที่นำไปรับผิดชอบปัญหาอื่นๆ ของประเทศถูกเบียดบังไปด้วย

 

เริ่มที่สภา จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ?

 

ในช่วงเช้าของวันนี้ (21 มิถุนายน) ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า วันนี้ทุกพรรคฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 เนื่องจากทุกพรรคเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่ตอบโจทย์ประเทศไทยในอนาคต มีความพยายามเบียดบังงบประมาณ เพื่อทำให้นโยบายหลักของพรรคสำเร็จลุล่วงได้เท่านั้น โดยไม่สนใจนโยบายส่วนอื่น

 

เช่นเดียวกับ ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เปิดเผย 3 เหตุผลของการไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 คือ 

 

  1. เป็นงบประมาณประเทศที่เสี่ยงกับการคลัง และประเทศจะไม่สามารถต่อสู้กับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ 
  2. ปีนี้เราขาดดุลงบประมาณสูงสุด และอาจจะสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้ไม่สามารถรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในอนาคตได้ เพียงเพื่อจะทำให้โครงการเรือธงคือ ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเดียวให้เดินหน้าได้ 
  3. มีความพยายามทำโครงการนี้มากจนละเลยโครงการอื่น เช่น IGNITE THAILAND ซอฟต์พาวเวอร์ และการช่วยเหลือ SMEs ทำให้งบไม่เพียงพอ ประเทศมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น และโลกเราจำเป็นที่ต้องเตรียมตัวตั้งรับ เช่น ปัญหาโลกเดือดและการค้าโลก ฯลฯ

 

ศิริกัญญายังตอบคำถามที่ว่า จะมีการส่งเรื่องต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ โดยระบุว่า ตามกระบวนการแล้วต้องรอกฎหมายผ่านวาระที่ 3 ไปก่อน หลังจากนั้นหากรัฐบาลยังดื้อดึงที่จะทำโครงการต่อ ก็จะรอให้มีการกระทำเกิดขึ้นก่อนไปร้องต่อศาล เพื่อยับยั้งการก่อหนี้ในอนาคต

 

ในขณะเดียวกันก็ต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปยังพรรคก้าวไกลที่เคยยืนยันไว้ว่าไม่เห็นด้วยกับการให้องค์กรอิสระ อย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามามีอิทธิพลแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เช่น กรณียื่นยุบพรรคหรือยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี จะเลือกใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อยับยั้งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเลยหรือไม่

 

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ อีกหนึ่งพรรคหลักในฝ่ายค้าน ยังไม่ได้มีมติชัดเจนว่าจะส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ได้อภิปรายไว้ในวันแรกแล้วว่า “ผมเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568 จะได้รับความเห็นชอบจากสภาในวาระแรก แต่ในวาระ 3 อาจต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ”

 

แล้วฝ่ายค้านจะพิสูจน์ให้เราเห็นภาพได้อย่างไรว่า ปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้นเพราะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแต่ประการเดียว?

 

ร้อยแปดปัญหา ที่มาคือ ‘เงินหมื่น’?

 

การวางแผน ‘จัดกระบวนทัพ’ ในศึกอภิปรายงบประมาณ 2568 นี้ พรรคฝ่ายค้านใช้ยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างแตกต่างจากปีที่แล้วๆ มาคือ แทนที่จะแยกการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณออกไปตามกระทรวง แต่ฝ่ายค้านได้หยิบยกประเด็นปัญหาหลักขึ้นมา แล้วถ่ายทอดเชื่อมโยงไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ไล่เลียงตั้งแต่วันแรก (19 มิถุนายน) ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เปิดฉากด้วยวาทะเด็ด “ประเทศเจ๊งไม่ว่า แต่เสียหน้าไม่ได้” จนกลายเป็นประเด็นใหญ่และดราม่าสืบเนื่องตลอดทั้งวัน ขณะที่ศิริกัญญาได้ติดตามมา ‘รับลูก’ ด้วยการลงลึกถึงรายละเอียดมากมาย ตอกย้ำปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากโครงการเงินดิจิทัล

 

ตามมาด้วยวันที่สอง พรรคก้าวไกลเปิดฉากด้วยวิกฤตการศึกษา เริ่มตั้งแต่ ปารมี ไวจงเจริญ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่า ประเด็นสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และรัฐบาลจัดสรรงบมาให้เพียง 800 ล้านบาท จากที่ กยศ. เสนอขอมา 19,000 ล้านบาท

 

ปารมีชี้ว่า หากปัญหาเรื้อรังอาจต้องตัดเงินกู้ยืมให้เด็กที่เข้ารับการศึกษาไปแล้ว และหากไม่มีเงินเรียนต่อ เด็กจะต้องเลิกเรียนกลางคัน

 

ร้อนถึง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้องลุกขึ้นชี้แจง พร้อมให้คำมั่นกลางที่ประชุมสภาว่า จากการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดูแล้วสามารถบริหารจัดการได้ภายใต้กรอบเงินที่คงเหลืออยู่ในกองทุน และยังมีกลไกอื่นๆ อย่างเช่น งบกลาง ที่สามารถรองรับได้ว่าจะไม่มีนักเรียนและนักศึกษาหลุดออกจากระบบการศึกษา

 

และวันที่สาม พรรคประชาธิปัตย์เปิดโปงปัญหาในระดับท้องถิ่นตั้งแต่ ชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช ที่ตั้งฉายาว่า ‘รัฐบาลวิ่งราวทรัพย์’ เพราะกู้เงินวงเงินสูงเพื่อมาแจกประชาชนและบอกว่าเป็นผลงานของตัวเอง ส่วนการจัดงบประมาณให้กับท้องถิ่นในปี 2568 จัดสรรให้จำนวน 8.39 แสนล้านบาท ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง มีประชากร 60 ล้านคน ได้รับงบ 2.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ กทม. ได้รับจัดสรร 2.8 หมื่นล้านบาทในประชากรคน 5 ล้านคน

 

“ทั้งที่งบท้องถิ่นคาดหวังว่าจะได้รับจัดสรรเต็ม 35% แต่ได้เพียง 29% ดังนั้นขอให้นายกรัฐมนตรีคนที่ไหว้สวยที่สุดในประเทศนำงบกลาง 1.7 แสนล้านบาทจัดสรรให้กับท้องถิ่นเพิ่มได้หรือไม่ หากให้ได้ ท้องถิ่นมีงบ 35% เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและดูแลราษฎรในพื้นที่ดีกว่านี้” ชัยชนะอภิปราย

 

หากติดตามการอภิปรายเรื่อยมาตั้งแต่วันแรกก็พอจะมองเห็นการร่วมมือกันของฝ่ายค้าน ร้อยเรียงปัญหาจากภายนอกสู่ใจกลาง จากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสู่ศูนย์กลางของปัญหา คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

 

ตรงกันข้ามกับท่าทีของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นได้ชัดว่า อาจจะมีเอกภาพสูงในกระทรวงของตัวเอง แต่ขาดเอกภาพขององค์รวมในฐานะรัฐบาล

 

บางกระทรวงส่งสัญญาณ ได้งบจำกัดจำเขี่ย?

 

สังเกตได้ว่า ในการอภิปรายงบประมาณ 2568 ครั้งนี้ นอกจากความพยายามของ สส. ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ที่ลุกขึ้นมาแก้ต่างให้การจัดสรรงบของกระทรวงต่างๆ ตลอดทั้งวันแล้ว แต่การลุกขึ้นชี้แจงโดยรัฐมนตรีในฐานะเจ้ากระทรวงกลับค่อนข้างขาดหาย ยิ่งนายกรัฐมนตรียิ่งแล้วใหญ่ 

 

ซึ่งอาจมองตามสมมติฐานได้หลายทางว่า หากไม่เป็นเพราะการอภิปรายของฝ่ายค้านเน้นไปที่ข้อมูลเนื้อหาและความเป็นวิชาการ ไม่ได้มีวาทกรรมสร้างความกระทบกระทั่งมากจนต้องชี้แจง ก็คงเป็นเพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมใจกัน Ignore (วางเฉย) ต่อการอภิปรายของฝ่ายค้าน

 

อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ ระหว่างการชี้แจงและตอบโต้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน รัฐมนตรีส่วนมากจะไม่ปฏิเสธว่าการจัดสรรงบประมาณของปี 2568 ค่อนข้างมีปัญหา กล่าวคือกระทรวงหรือหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบได้รับการจัดสรรงบ ‘อย่างจำกัด’ เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบายและปัญหาต่างๆ 

 

“สาธารณสุขมีงบจำกัดจำเขี่ย เป็นเรื่องที่เราต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในเรื่องการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ของการใช้เงินและใช้งบประมาณแม้จะได้มาน้อย” สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

 

“งบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดูแลประชากรทั้งสิ้น 30 ล้านคน แต่ได้งบประมาณ 125,882 ล้านบาท ภายใต้ข้อกำจัดของงบประมาณแผ่นดิน ก็ต้องยอมรับว่าเรามีงบประมาณเท่านี้ จึงต้องแบ่งคัดสรร ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด” ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

 

“คำของบประมาณที่กระทรวงได้ขอไป พยายามที่จะขอตามความจำเป็นและเร่งด่วน แต่กรอบงบประมาณถูกจำกัด” พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

 

หากมองในทางการเมือง คำชี้แจงของรัฐมนตรีเหล่านี้อาจถือเป็นการส่ง ‘สัญญาณ’ บางอย่างไปยังผู้นำรัฐบาลหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแล้ว การเน้นย้ำถึงข้อจำกัดของงบประมาณอาจสะท้อนความไม่เป็นเสถียรภาพภายในรัฐบาลเอง

 

ขณะเดียวกันอาจจะยิ่งตอกย้ำด้วยหรือไม่ว่า นโยบาย ‘เรือธง’ ของพรรคเพื่อไทยที่มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพนั้น อาจไปเบียดบังงบประมาณของกระทรวงอื่นๆ ตามเส้นเรื่องที่ฝ่ายค้านถักทอมาก็เป็นได้ 

 

และในท้ายที่สุดแล้วจะเหลือใครบ้างที่ยืนหยัดปกป้องนโยบายนี้ไว้อีก ขณะที่ประชาชนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคนที่กำลังรอคอยเงินหมื่นมาปลดเปลื้องพันธนาการของหนี้สินและความยากจนจะต้องอยู่อย่างไร้ความหวังต่อไปหรือไม่?

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising