สิ้นเสียงการแถลงและชี้แจงรายละเอียดโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทุกทิศทาง โดยเฉพาะเรื่องการออกกฎหมายเพื่อกู้เงินมาใช้ในโครงการ
THE STANDARD เปิดวิวาทะหลังนายกรัฐมนตรีแถลงชี้แจงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
“วันนี้ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พ.ร.บ. (กู้) วงเงิน 500,000 ล้านบาท”
– เศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กล่าวระหว่างการแถลงชี้แจงรายละเอียดโครงการ
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
“หรือนี่เป็นเพียงการสร้างภาพให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ากำลังจะได้เงิน ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าไปไม่รอดแน่ เป็นการสร้างกับดักเพื่อที่ในอนาคตหากมีบรรดานักร้องหรือผู้ตรวจการแผ่นดินไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะสามารถอ้างได้ว่าเป็นความผิดของศาลรัฐธรรมนูญในการปัดตกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล”
– ศิริกัญญา ตันสกุล
สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
“ต้องบอกด้วยความเคารพว่าแทบจะไม่เข้าเงื่อนไข (ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561) สักประการ”
– คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา (สว.)
โพสต์ข้อผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566
“(การกู้เงิน) กระทำไม่ได้…ผมจึงขอให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์แก่สำนักงานกฤษฎีกา และแก่รัฐมนตรีที่จะร่วมพิจารณาเรื่องนี้”
– ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ
และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
โพสต์ข้อผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566
“ไม่แน่นัก การรู้ว่าการออก พ.ร.บ. มันยากเย็นขนาดนี้ อาจเป็นการหาทางลงที่ไม่ใช่ทางออกของคนยิ้มซื่อๆ ที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน”
– สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
โพสต์ข้อผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566
“อย่าเอามาตรฐานความคิดของตัวเองมาหวังว่าคนอื่นเขาจะเป็นเหมือนกัน อย่ามองความตั้งใจที่บริสุทธิ์ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน มาเป็นมุมการเมืองที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนเลยครับ”
– เศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter)
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566
รัฐบาลเขาคงถือว่าดูดีแล้วว่าไม่ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 6 และมาตรา 9 แต่อีกฝ่ายบอกว่าขัด เพราะมีประโยคต้องแปลกัน ระบุว่าต้องไม่ใช้ประโยชน์ไปในการหาเสียง หาคะแนนนิยม
– วิษณุ เครืองาม
อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกา
กล่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566
“ศิริกัญญาเองก็ขอให้เราทำโครงการนี้ เพียงแต่ขอให้ปรับลดเพดานเงินลง แสดงให้เห็นว่าศิริกัญญาเองก็เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว”
– ภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter)
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
“ดิฉันไม่เคย ‘ขอ’ ให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่เมื่อจะร่วมรัฐบาลกัน ในการร่วมประชุมเพื่อวางแผนงบปี 67 อยากให้งบครอบคลุมโครงการของพรรคร่วม และเห็นว่านโยบายนี้เป็นนโยบายเรือธงที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง จึงเสนอว่าหากจะทำก็ได้ แต่งบประมาณไม่พอ ถ้าจะทำจริงต้องปรับลดงบลงมา”
– ศิริกัญญา ตันสกุล
สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter)
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
“เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยแล้วขอให้บันทึกการประชุม แต่พูดตอนท้ายการประชุมว่ามีหน้าที่ดูแลทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และปกป้องทุกคนในที่ประชุม โดยจะนำเรื่องไปหารือในคณะกรรมการกฤษฎีกา”
– นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
“ทำไมพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจึงคิดทำต่อ ทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลใดๆ กลับมา เพียงมีการขุดอดีตไล่ความชอบธรรมว่าตนเองเคยเห็นด้วย”
– ศิริกัญญา ตันสกุล
สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter)
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
“แหล่งเงินที่จะนำมาแจกคือ การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เศรษฐาพูดมาโดยตลอดว่าจะไม่กู้เงินมาดำเนินการโครงการนี้แต่อย่างใด อันถือเป็นการตระบัดสัตย์ของผู้นำประเทศ ที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง”
– ศรีสุวรรณ จรรยา
ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน
กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
“ผมมาร้อง (ต่อ กกต.) เพื่อไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป (มีพรรคการเมือง) ประกาศ 15 ชั้นฟ้า 14 ชั้นดินว่าทำได้ แต่เมื่อถึงเวลาแล้วทำไม่ได้ แล้วพี่น้องประชาชนก็จะเสียหาย จะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย”
– สนธิญา สวัสดี
สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ
กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566