×

ข้อเสนอดิจิทัลวอลเล็ตมาไม่ถูกจังหวะ ที่ปรึกษานายกฯ ชี้ยังต้องผ่านอีกหลายขั้น

โดย THE STANDARD TEAM
23.01.2024
  • LOADING...

วานนี้ (22 มกราคม) พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุถึงข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีการกล่าวอ้างว่าเป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ซึ่งต่อมา นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เพราะต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละท่านส่งความเห็นสรุปกลับมา ก่อนจะมีมติและส่งความเห็นไปยังรัฐบาล 

 

พิชิตกล่าวว่า มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงช่วงเวลาความเหมาะสมต่อข้อเสนอแนะว่า ‘ถูกจังหวะหรือไม่’ เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหนึ่งในโครงการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566

 

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เห็นชอบในหลักการให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ และแนวทางการดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไข และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี 

 

ปัจจุบันโครงการอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ที่จะพิจารณาแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ความเห็น หรือข้อสังเกตของกรรมการในคณะกรรมการฯ รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบและรอบด้านเสียก่อนตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นไว้ 

 

เมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ จะต้องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง หาก ครม. เห็นชอบ ก็ยังมีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ที่จะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 อีกทั้งเมื่อร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ยังมีขั้นตอนที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดต่างๆ ของโครงการอีกครั้ง หากได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ จากศาลรัฐธรรมนูญอีก 

 

ท้ายสุดหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะเข้าสู่การประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย และจะทำให้กระทรวงการคลังมีอำนาจในการกู้เงินได้

 

“กระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมานี้เป็นกระบวนการตามกฎหมาย อันเป็นกระบวนการตรวจสอบตามครรลองในวิถีทางของประชาธิปไตยที่รัฐบาลได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริตตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด เพราะรัฐบาลเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมมากกว่า 50 ล้านคน” 

 

พิชิตกล่าวอีกว่า ยังมีประชาชนอีกมากที่ยังคงเฝ้ารอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ แม้มีข้อเสนอแนะต่างๆ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยุติ ไม่ควรตั้งสมมติฐานหรือคาดหมายล่วงหน้า ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ เพื่อที่จะกู้เงิน การที่หลายฝ่ายเร่งรีบให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการจึงอาจเร็วไป ไม่ถูกจังหวะเท่าที่ควร และอาจกลายเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้แต่วิงวอนผู้มีอำนาจทั้งหลายโปรดเหลียวตามองดูประชาชน และรอดูจังหวะที่เหมาะสมดีกว่า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X