×

รัฐบาลยังไร้แผนสำรอง หากกฎหมายกู้เงินทำดิจิทัลวอลเล็ตถูกตีตก แต่พร้อมแจงรายละเอียดโครงการทุกด่านตรวจสอบ

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2023
  • LOADING...
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในตอนนี้ที่มีความห่วงใยจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ว่าเป็นเรื่องที่ดีช่วยกันเป็นห่วง เราจะได้ดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมาย 

 

ยังไม่มีแผนสำรอง หาก พ.ร.บ.กู้เงินถูกตีตก

 

จุลพันธ์ชี้แจงว่า ที่เลือกใช้ช่องทางการกู้เงินนั้น เพราะรัฐบาลมองว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่มีความเหมาะสม มีความตรงไปตรงมา ได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภา และเป็นเรื่องที่ดีหากมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระก่อนที่จะดำเนินการเพื่อให้เราได้ดำเนินการได้อย่างสบายใจ แต่หาก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่าน ก็ยังไม่มีแผนสำรอง

 

ผู้สื่อข่าวสอบถามจุลพันธ์ว่า หาก พ.ร.บ.กู้เงินเข้าสู่สภาแล้วไม่ผ่านจะเกิดความเสี่ยงทางการเมืองหรือไม่นั้น จุลพันธ์ยอมรับว่า ก็เป็นไปได้ ต้องยอมรับว่ากลไกนี้ตรงไปตรงมาที่สุด ถ้าเราใช้วิธีการอื่นก็จะมีการครหาว่าเป็นการหลบเลี่ยงหรือไม่ วิธีการนี้ตรงไปตรงมา นำเข้ามาพูดคุยกันก่อนแล้วจึงบังคับใช้เป็นกฎหมายที่เป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุด 

 

ส่วนความเสี่ยงทางการเมืองเรามีความเชื่อมั่นเสียงของฝั่งรัฐบาล จริงๆ ฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้ปฏิเสธนโยบาย แต่อาจมีข้อสงสัยในกระบวนการ แต่ในข้อเท็จจริงทุกคนเห็นความเดือดร้อนของประชาชน เห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่มีความเปราะบาง

 

พร้อมให้ตรวจสอบและแจงองค์กรอิสระ

 

สำหรับการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 245 ให้องค์กรอิสระมีส่วนในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลนั้น จุลพันธ์ระบุว่า ตนยินดี การตรวจสอบเป็นเรื่องดี ตนพร้อมที่จะไปชี้แจง ซึ่งวันนี้เราพร้อมแล้ว เพราะโครงการใหญ่เริ่มชัดเจน และเราตอบได้ทุกประเด็นเพื่อคลายข้อสงสัย 

 

จุลพันธ์ระบุว่า เราไม่ได้อยู่ในความประมาท และดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เมื่อลดข้อกังวลแล้ว อีกประการก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม วันนี้เรามีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบบางประเด็น ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเสนอแนะจากสังคมและนักวิชาการทั้งสิ้น พยายามปรับให้โครงการดิจิทัล 10,000 บาท ประสบความสำเร็จสูงสุด และมีความเหมาะสมกับสภาพสังคม

 

พร้อมยืนยันว่าไม่กังวลที่หลายคนมองว่าโครงการนี้เป็นการตั้งธงล้มรัฐบาล

 

พ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาลจะต้องผ่านด่านอะไรบ้าง?

 

  1. ด่านกฤษฎีกา: เปรียบเสมือนทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล
  2. ด่านรัฐสภา: ประกอบด้วยด่านสภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคฝ่ายค้าน และด่านสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเริ่มมีผู้ออกมาคัดค้าน
  3. ด่านศาลรัฐธรรมนูญ: องค์กรอิสระที่เคยตีตกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลเพื่อไทยในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X