×

จับตาดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงถึงทางตัน หาก ธปท. ไม่ยอมให้บล็อกเชนเชื่อมกับระบบโอนเงินแบงก์พาณิชย์ หวั่นกระทบระบบการเงินประเทศ

09.08.2024
  • LOADING...
ดิจิทัลวอลเล็ต

แม้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังเริ่มให้ประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟนที่สนใจเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567

 

แต่ก็เริ่มมีคำถามว่าระบบ Payment ซึ่งจะใช้ในโครงการนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจน จะกลายเป็นทางตันของโครงการนี้หรือไม่

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ใช้ซูเปอร์แอปที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กำกับการทำงานของระบบ เพื่อควบคุมการใช้งานให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนั้น รัฐบาลมีความจำเป็นในการนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อควบคุมเงื่อนไขการใช้งานดิจิทัลวอลเล็ตของโครงการ เช่น รัศมีพื้นที่สามารถใช้ซื้อสินค้า การกำหนดกลุ่มสินค้าที่ห้ามซื้อ เช่น ห้ามนำไปซื้อเหล้าหรือลอตเตอรี่

 

ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้คาดว่าจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา เนื่องจากระบบบล็อกเชนมีความแตกต่างกัน และเป็นคนละระบบกับการโอนและชำระเงินในปัจจุบันที่มีความเสถียร ซึ่งผ่านการทดสอบมายาวนานว่ามีความปลอดภัยสูง คือ ระบบบาทเนต (Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network: BAHTNET) ที่ควบคุมโดย ธปท. ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อรองรับการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงินและสถาบันที่มีบัญชีเงินฝากกับ ธปท. ในลักษณะ Real-Time Gross Settlement (RTGS) และเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2538

 

ธีระชัยอธิบายต่อว่า หากจะนำบล็อกเชนมาใช้งานเชื่อมต่อระบบการโอนและชำระเงินดังกล่าว จะต้องเปิดอนุญาตให้ระบบบล็อกเชนเปรียบเสมือนทำหน้าที่เป็นยานแม่ที่คร่อมอยู่บนสุดของระบบ สามารถเจาะท่อเชื่อมต่อไปยังระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์อีกประมาณ 20 แห่งในประเทศไทยที่เปรียบเสมือนยานลูก โดยบล็อกเชนสามารถสั่งการระบบคอมพิวเตอร์ของยานลูกได้ทั้งหมดในการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของระบบคอมพิวเตอร์ว่าจะมีความปลอดภัยมากเพียงพอไม่ 

 

เนื่องจากยังไม่ได้ทดสอบยาวนานเพียงพอจนสร้างความมั่นใจได้ว่าระบบปลอดภัยและเสถียรมากเพียงพอ รวมถึงต้องมีระบบป้องกันการถูกแฮ็กข้อมูลของลูกค้าจากภายนอกด้วย ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ มีความกังวลในการเชื่อมต่อกับระบบบล็อกเชนของรัฐบาล

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย



“คิดว่ารัฐบาลอาจจะต้องมาค้ำประกันให้กับธนาคารพาณิชย์กับลูกค้าของธนาคารด้วย หากนำบล็อกเชนมาต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารแล้วเกิดความเสียหายกับธนาคาร เช่น ข้อมูลถูกแฮ็ก หรือเกิดกรณีลูกค้าถูกดูดขโมยเงินจากบัญชี”

 

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ในฐานะรองผู้ว่าการ ธปท. ยังเห็นความเสี่ยงของระบบบล็อกเชนต่อระบบการเงินของประเทศ ดังนั้น คาดว่า ธปท. ในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ อาจไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์นำระบบคอมพิวเตอร์ไปเชื่อมต่อกับระบบบล็อกเชนของรัฐบาลที่ยังไม่ผ่านการทดสอบจนมั่นใจว่าปลอดภัยและมีเสถียรภาพ เพราะจะถือเป็นความเสี่ยงต่อภาพรวมของระบบการโอนและชำระเงินทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ เช่น การโอนเงินซื้อ-ขายหุ้น, การโอนรับจ่ายเงินชำระค่าสินค้านำเข้าหรือส่งออก หากเกิดปัญหาในอนาคตจะมีผลกระทบให้ระบบโอนชำระเงินต้องหยุดชะงักทั้งหมดเพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหา

 

“ส่วนตัวผมในฐานะคนที่เคยทำงานแบงก์ชาติเห็นว่ามีความเสี่ยงที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจมาถึงทางตันที่ผ่าไม่ออก เพราะแบงก์ชาติเองก็น่าจะมองออกว่าประเด็นนี้อาจเป็นปัญหาใหญ่ต่อภาพรวมระบบการโอนเงินหรือ Payment ของประเทศ ตอนนี้เหมือนรัฐบาลอยู่บนทาง 2 แพ่ง ถ้าจะไปบล็อกเชนก็เสี่ยงจะเจอทางตัน แต่เลือกแจกเงินธรรมดาก็อาจควบคุมเงื่อนไขโครงการไม่ได้”

 

ธีระชัยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ควรนำข้อท้วงติงหรือข้อสังเกตต่างๆ ก่อนหน้านี้ของ ธปท. เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อหาทางแก้ไขที่ชัดเจน รวมถึงรัฐบาลควรเร่งหารือกับ ธปท. เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบการโอนและชำระเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยหารือกับ ธปท. ในประเด็นปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เห็นทิศทางความชัดเจนของโครงการนี้ในระยะข้างหน้า 

 

สมาคมธนาคารไทยร่วมกับรัฐบาลเร่งศึกษา Open Loop เชื่อมระบบแจกเงินดิจิทัล 

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่รัฐบาลอนุญาตให้ธนาคารเชื่อมต่อระบบการใช้จ่าย (Open Loop) ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และมีข้อกังวลว่าข้อมูลจะรั่วไหลนั้น ล่าสุดรัฐบาลยังอยู่ระหว่างเร่งศึกษาระบบ และคณะทำงานเรื่องระบบชำระเงินของสมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปร่วมกันเร่งดำเนินการศึกษาระบบด้วย แต่เข้าใจว่ามีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA พัฒนาระบบอยู่แล้วในเบื้องต้น 

 

และได้นำคำแนะนำและข้อกังวลจากหลายฝ่าย ทั้งสมาคมธนาคารไทยและสมาคมสถาบันการเงินของรัฐมาถกกันในการประชุมเพื่อพัฒนาระบบให้รัดกุม

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่อง Open Loop อาจต้องแปลความ เพราะเรามี Central Payment Engine หรือเครื่องมือชำระเงินกลางอยู่ ซึ่งมีกฎกติกามากมาย โดยคำว่า Open คือช่องทางให้ผู้ใช้เงินและรับเงินได้หลายช่องทาง เชื่อมต่อกันเป็นทอดๆ แต่ในส่วนของระบบหลักยังต้องใช้ส่วนกลาง ซึ่ง สพร. ดูแลทั้งหมด ในเรื่อง Payment Platform ส่วนนี้ธนาคารไม่ได้ดู

 

ดิจิทัลวอลเล็ต

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

 

นอกจากนี้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีความน่ากังวล โดยเฉพาะตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ซึ่งการรายงานโดยเครดิตบูโรยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนพฤษภาคมสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% สะท้อนภาพการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง

 

โดยมองว่ามาตรการหนี้ครัวเรือนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันเราก็มีเครื่องมืออยู่ แต่ต้องยอมรับว่าเรามีหนี้ในระบบและนอกระบบ ซึ่งมีหลายมิติ และสหกรณ์ยังอยู่ในระบบเพียง 7 แห่ง ยังมีอีกหลายร้อยแห่งที่ไม่อยู่ในระบบ

 

ดังนั้น ธนาคารจึงต้องนำเครื่องมือทดแทนเข้ามาจัดการระบบ ขณะเดียวกันมาตรการใช้ชีวิตประจำวันที่มีการผ่อนดอกเบี้ยที่เกิดจากการรวมหนี้ก็ดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ผ่านเม็ดเงินสู่ระบบยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะเศรษฐกิจภาพใหญ่ไม่ดี 

 

‘ประกิต’ มองดิจิทัลวอลเล็ตอาจกลายเป็นกับดักทางนโยบาย

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจกลายเป็นกับดักทางนโยบาย (Policy Trap) ซึ่งทำให้หุ้นไทยไม่น่าดึงดูดแม้หุ้นโลกกำลังปรับฐาน

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์

 

“ส่วนตัวมองว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่น่าจะเบิกจ่ายได้ทันภายในปลายปีนี้ เพราะติดเรื่องระบบ การลงทะเบียนเป็นแค่การเช็กชื่อว่าจะมีใครได้สิทธิบ้าง และตรวจสอบให้แน่ชัดว่างบประมาณที่ต้องใช้จะไม่เกิน 4.5 แสนล้านบาท ก่อนที่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม”

 

แต่ปัญหาหลักในปัจจุบันคือระบบที่ใช้เบิกจ่ายยังไม่พร้อม และยังอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระบบในลักษณะนี้ที่จะต้องนำไปเชื่อมต่อกับระบบของธนาคารพาณิชย์ ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อทดสอบให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยมากเพียงพอ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising