ตามสัญญา ดีเดย์พฤษภาคม 2567 เศรษฐากู้เงิน 5 แสนล้านบาทแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป้าหมาย 50 ล้านคนทั่วประเทศ พร้อมระบุเงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป เงินเดือนต้องไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และเงินออมต้องไม่เกิน 5 แสนบาท พร้อมขยายรัศมีใช้จ่ายเป็นทั้งอำเภอ ควบคู่กับการออกมาตรการ E-Refund ลดภาษีได้ 50,000 บาทกระตุ้นเศรษฐกิจ ยืนยันไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แจงแหล่งที่มาใช้ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาท
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 2/2566 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน มีเงินฝากทุกบัญชีต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยกลุ่มเป้าหมายประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งให้สิทธิใช้ในระยะเวลา 6 เดือน และใช้จ่ายในระดับอำเภอตามบัตรประชาชน เพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน รวมทั้งสามารถใช้จับจ่ายไปจนถึงเดือนเมษายน ปี 2570
โดยโครงการจะเริ่มต้นได้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 โดยก่อนหน้านี้จะมีการตีความกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลงทุนที่มอบสิทธิและอำนาจให้กับประชาชนช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจ
“เงินดิจิทัลวอลเล็ตก้อนนี้ไม่ได้มาจากการเสกเงิน สร้างเงิน พิมพ์เงิน หรือออกเหรียญผ่าน Initial Coin Offering แต่อย่างใด ไม่ได้มีการเขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือนคริปโตเคอร์เรนซีต่างๆ และไม่ได้เป็นการนำเงินไปซื้อเหรียญมาแจก หรือนำไปเทรด แลกเปลี่ยน / โอนให้กันและกัน เก็งกำไรไม่ได้ ไม่มีการนำไปเทรดบน Exchange ทั้งหลายในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดคริปโตใดๆ ทั้งสิ้น เงินตัวนี้จะมีที่มาจากเงินบาทและมีมูลค่าเป็นเงินบาท ที่มีเงื่อนไขในการใช้งานเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสูงกว่าการอัดฉีดที่ผ่านมา โครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิทั้งร้านค้าและยืนยันรับสิทธิโดยประชาชน”
เปิดเงื่อนไข ซื้ออะไรได้หรือไม่ได้
- ประชาชนสามารถใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับบริการได้ และไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้
- ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม หรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อมได้
- ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย หรืออัญมณีได้ ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ และไม่สามารถจ่ายค่าเรียนหรือค่าเทอมได้
- ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้
- แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้
- ใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนเท่านั้น โดยสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี
- ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ
- ร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
- ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ แอลกอฮอล์ เหล้า สุรา และบุหรี่ได้
- ไม่สามารถนำไปชำระหนี้
- แลกเป็นเงินสดไม่ได้
ปรับหลักเกณฑ์ดังนี้
- ผู้ได้รับสิทธิเป็นประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 5 แสนบาท คิดเป็นจำนวนประชากรผู้ได้รับจำนวน 50 ล้านคน
“ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ เนื่องจากข้อมูลของหลายโครงการในอดีตแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มรายได้ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ ผมขอย้ำว่าโครงการจะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อตามที่หลายฝ่ายกังวล เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันของไทยอยู่ในสภาวะที่ต่ำอยู่แล้ว” เศรษฐากล่าว
แจงที่มาของงบประมาณ
สำหรับที่มาของงบประมาณโครงการคือ การออก พ.ร.บ. เป็นวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีความโปร่งใสภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งในส่วนนี้มั่นใจว่าจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ
โดยเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งรัฐบาลจะกู้เงิน ก็ต่อเมื่อมีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัย ผสมกับงบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด
“ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี” เศรษฐากล่าว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐายังได้เสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มเติมจากกระเป๋าเงินดิจิทัลอีกสองนโยบายคือ นโยบาย E-Refund เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายร้านค้าออนไลน์ และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อนำมาต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น
“นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท” เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.เงินกู้ วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP โดย ณ สิ้นงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ประมาณ 62% ต่อ GDP ยังเหลือช่องว่างที่จะกู้ได้อีก 8% หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว จะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบรายละเอียดของร่างกฎหมายก่อน หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมต่อไป