×

รัฐ-เอกชน จับมือเปิดตัวแพลตฟอร์ม Digital Supplychain Finance ช่วยธุรกิจ SMEs ยกระดับการค้า-เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

15.12.2021
  • LOADING...
Digital Supplychain Finance

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังพร้อมให้การสนับสนุนภาค SMEs ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในเรื่องกฎระเบียบใดๆ ที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการเติบโตของ SMEs เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบงานภาครัฐ ซึ่งโครงการ Digital Supplychain Finance ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ SMEs และช่วยให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมอย่างยั่งยืน

 

ขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ส่งเสริมและผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการชำระเงินและบริการทางการเงิน ผ่านการพัฒนาระบบ PromptPay ที่ทำให้การโอนเงินและชำระเงินของคนไทยเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง ถือเป็นจุดเปลี่ยน หรือ Game Changer ของการชำระเงินของคนไทย สะท้อนจากการเติบโตที่รวดเร็วของการชำระเงินดิจิทัล 

 

อย่างไรก็ดี “โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business” ที่มีบริการ Digital Supplychain Finance เป็นองค์ประกอบ จะถือเป็น Game Changer ที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสดิจิทัล โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย จากการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า การชำระเงินของภาคธุรกิจ ข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐเข้าด้วยกันผ่านกระบวนการดิจิทัล 

 

โดยโครงการนี้ประกอบด้วยบริการหลัก 2 ด้าน ด้านแรกคือ บริการด้านการค้าและการชำระเงิน ที่จะเชื่อมข้อมูลข้างต้นอย่างครบวงจร ด้านที่สองคือ บริการด้านสินเชื่อ หรือ Digital Supplychain Finance เป็นการนำข้อมูลจากบริการด้านการค้าและการชำระเงินมาใช้ประโยชน์ในการให้สินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดได้อย่างทันการณ์และพร้อมปรับตัวสู่โลกใหม่ 

 

ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องกู้เงินนอกระบบ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย ชี้ให้เห็นว่าในปี 2561 มี SMEs เพียง 5.2 แสนราย หรือ 17% ของ SMEs ในประเทศไทยกว่า 3 ล้านรายที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อระบบแบงก์ และโควิด 3 ระลอกยิ่งทำให้ SMEs ต้องการเงินทุนเพื่อต่อสายป่านมากขึ้น   

 

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมธนาคารไทยจึงได้หารือกับ ธปท., สภาหอการค้า, ส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในรูปแบบเครือข่ายธุรกิจช่วยผู้ประกอบการรายเล็กที่มีข้อจำกัดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน ด้วยศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและข้อมูลการซื้อขายในอดีตแทนการใช้หลักประกันในการขอสินเชื่อ ช่วยแก้ปัญหาสินเชื่อนอกระบบ

 

ผยงกล่าวว่า โครงการ Digital Supplychain Finance เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับธุรกรรมการซื้อ-ขายในรูปแบบดิจิทัลทดแทนการออกและรับเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษที่มีความไม่คล่องตัว มีข้อกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และการใช้เอกสารเวียนขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) ทำให้ยากต่อการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้ SMEs และสถาบันการเงินทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายและสะดวกด้วยเงื่อนไขที่ดีขึ้น ช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัว และเติบโตต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า ให้มีโอกาสช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตน เพราะขั้นตอนการขายสินค้าหรือบริการของ SMEs หลังจากออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) ต้องรอรับการชำระเงินตามเครดิตเทอม อาจมีผลต่อสภาพคล่อง

 

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขายเพื่อให้ได้รับเงินค่าขายสินค้าทันทีเมื่อการส่งสินค้าเสร็จสิ้น หรือเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น

 

ผยงกล่าวอีกว่า นอกจากโครงการ Digital Supplychain Finance สมาคมธนาคารไทย และ ธปท., กระทรวงการคลัง, บริษัท National ITMX, ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ยังมีแผนนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระผ่านการปล่อยสินเชื่อโดยอาศัยข้อมูลทางเลือก (Information Base Lending) จากข้อมูลที่หลากหลาย (Alternative Data) เช่น ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายรายเดือนโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ด้วยเทคโนโลยี AI และ Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

 

โดยทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน และจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ให้กลับมามีศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน และแสดงถึงเจตนารมณ์ของภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและโปร่งใส

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X