×

เลื่อนวันใช้! รมช. ยอมรับ เงินดิจิทัล 10,000 บาทอาจคลอดไม่ทัน 1 ก.พ. 2567

19.10.2023
  • LOADING...
เงินดิจิทัล

เงินดิจิทัล 10,000 บาทอาจคลอดไม่ทันวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันไม่ใช้รัศมี 4 กิโลเมตรแล้ว ส่วนกรอบวงเงินโครงการปรับลงเหลือ 5.48 แสนล้านบาท

 

วันนี้ (19 ตุลาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาดีเดย์โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน วางโจทย์ไว้ที่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 อาจไม่ทัน อย่างไรก็ตาม น่าจะใช้ทันไตรมาสแรกปี 2567 

 

โดยข้อติดขัดที่อาจทำให้โครงการล่าช้าออกไป จุลพันธ์เปิดเผยว่า หลักๆ มาจาก 3 ประเด็น ได้แก่

  • การทดสอบระบบแอปพลิเคชันดิจิทัลวอลเล็ต
  • แหล่งเงินงบประมาณ
  • การกำหนดกรอบผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงิน หลังจากก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลนี้แบบมุ่งเป้า (Targeted) และคัดผู้มีรายได้สูงหรือ ‘คนรวย’ ออก

 

ความรวย-ความจนตัดอย่างไร

จุลพันธ์เผยว่า ในเรื่องการกำหนดผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงิน หน่วยงานต่างๆ มีมุมมองที่แตกต่างกันพอสมควร 

 

“โดยในการพูดคุยก็มีข้อสงสัยว่า ความรวย-ความจนตัดอย่างไร บางหน่วยงานก็บอกว่า รายได้เดือนละ 2 หมื่นกว่าบาทนี่ก็ถือว่ารวยแล้ว แต่ฝั่งรัฐบาลเราก็รู้สึกว่า แม้แต่คนชนชั้นกลางก็ลำบากมานานแล้วนะครับ

 

“บางคนอาจจะมองว่าต้องมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเปราะบางก่อน ซึ่งในมุมของรัฐบาลเองก็มองว่า ถ้าทำในลักษณะนี้ก็จะกลายเป็นนโยบายสงเคราะห์ ไม่ใช่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในส่วนของรัฐบาลเอง นโยบายนี้ถือเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราต้องการให้มีเม็ดเงินที่มากเพียงพอที่จะส่งผลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่เต็มศักยภาพ” จุลพันธ์กล่าว

 

การทดสอบระบบแอปพลิเคชันต้องใช้เวลา! ยันแบงก์รัฐเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน

จุลพันธ์เปิดเผยอีกว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้ดีเดย์เลื่อนออกไปมาจากกระบวนการทำแอปพลิเคชัน การทดสอบระบบ และการทดสอบการโดนโจมตี ซึ่งต้องใช้เวลา

 

“เรียนตรงๆ ว่าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ‘ไม่ง่าย’ ถ้าจะต้องเลื่อนก็ต้องเลื่อน แล้วผมเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้ติดใจในประเด็นนี้ ซึ่งต้องมีเหตุผลที่เหมาะสม กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะประกาศเลื่อนเลย แต่การทดสอบแอปพลิเคชันจำเป็นจะต้องใช้เวลา เราจะไม่ยอมสละความปลอดภัยของข้อมูลหรือความมั่นคงของแอปพลิเคชันแลกกับเวลา”

 

สำหรับคำถามที่ว่า จะให้บริษัทใดรับหน้าที่พัฒนาแอปพลิเคชันดิจิทัลวอลเล็ต จุลพันธ์กล่าวว่า ผมตอบอย่างชัดเจนไปแล้วว่าสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจะเป็นผู้ดูแล

 

โดยก่อนหน้ามีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ธนาคารของรัฐที่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันได้ขณะนี้ ได้แก่ กรุงไทย และออมสิน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เงินดิจิทัลโครงการนี้จะอยู่ในรูปแบบ Utility Token และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่หรือไม่ จุลพันธ์ตอบว่า เงินดิจิทัลนี้ ‘ไม่ใช่’ Utility Token แต่เป็น ‘เงินบาทที่อยู่ในรูปดิจิทัลและมีเงื่อนไข’ และรัฐบาลยังใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่

 

สำหรับประเด็นเรื่องรัศมีการใช้ จุลพันธ์ยืนยันว่า ไม่มี 4 กิโลเมตรแล้ว โดยตัวเลือกที่เหลือตอนนี้คือ ตำบล อำเภอ และจังหวัด

 

อัปเดตกรอบวงเงินงบประมาณดิจิทัลวอลเล็ต

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงตัวเลขกรอบวงเงินงบประมาณ จุลพันธ์เปิดเผยว่า ตัวเลขล่าสุด Maximum คือ 5.48 แสนล้านบาท ตามจำนวนประชากรไทยที่มีอายุเกิน 16 ปี จากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินไว้ว่า 5.6 แสนล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวอาจลดลง เนื่องจากการหารือของคณะทำงานมีการพูดคุยว่า จะตัดคนรวยไหม บางหน่วยงานก็คิดว่าควรจะต้องตัดเยอะ บางส่วนก็บอกว่า เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ควรตัดเยอะ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวเปิดให้ลงทะเบียนจึงอาจมีผู้ไม่ต้องการใช้สิทธิ

 

“สุดท้ายตัวเลขจะเป็นเท่าไรผมก็ตอบไม่ได้ครับ มันได้แต่ Predict มันไม่มีคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์”

 

เลื่อนประชุมกรรมการชุดใหญ่-อนุกรรมการฯ

จุลพันธ์เปิดเผยอีกว่า การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 2/2566 จำเป็นต้องเลื่อนออกไป จากวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 เป็นวันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 แทน เนื่องจากมีหลายหน่วยงานยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน 

 

ส่วนกำหนดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ชุดใหญ่ยังไม่ได้กำหนด เนื่องจากอนุกรรมการฯ ยังไม่ได้ทำการบ้านส่งไป ดังนั้น คณะกรรมชุดใหญ่จะกำหนดการประชุมได้ก็ต่อเมื่ออนุกรรมการฯ ได้ข้อสรุปแล้ว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X