×

อุตสาหกรรม Digital – ทางรอดของประเทศไทยในโลกยุค Trump’s Tariff

08.04.2025
  • LOADING...
Trump’s Tariff

หลังจากทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ก็ออกมาชี้ทันทีว่า “โลกของเราอาจจะกำลังมุ่งหน้าไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบ” (The world may well end up with a full-blown global trade war) และประโยคสั้นๆ นี้ก็เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนถึงทิศทางของโลกใหม่ที่เราทุกคนกำลังจะต้องเผชิญ

 

โลกยุคใหม่ในเงา Trump’s Tariff

 

ไม่ว่ามาตรการของทรัมป์จะผ่านการคิดวางแผนมาอย่างแยบยล หรือมาจากความบ้าคลั่งส่วนตัว แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เป้าหมายที่แท้จริงคือต้องการลดขาดดุลการค้า และต้องการบังคับให้ภาคธุรกิจย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ แบบเต็มตัว (reshoring) จะย้ายแบบครึ่งๆ กลางๆ near-shoring friend-shoring แบบที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว ซึ่งทำให้มาตรการ tariff ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการค้าอีกต่อไป แต่เป็นการรื้อโครงสร้าง supply chain และ เศรษฐกิจโลกอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยก็ว่าได้

 

การประกาศครั้งนี้ทำให้เราต้องกลับมาตระหนักว่า ระเบียบโลกเดิมๆ ที่เคยใช้กันมานาน กลายเป็นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และ Tariff ก็กลายเป็นเรื่องการเมือง เรื่องการกีดกันประเทศคู่แข่ง มากกว่าเรื่องการค้า และที่สำคัญคือ ไม่มีใครสามารถคาดเดาผู้ซื้อรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ (และทรัมป์) ได้อีกต่อไป ต่อให้จะเจรจาตกลงกันไว้ดิบดียังไง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยไม่มีเหตุผลอะไรรองรับทั้งสิ้น แล้วถ้าจะคอยเปลี่ยนแปลง supply chain เดิมให้รองรับกฎเกณฑ์การค้าแบบใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงพึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อมาตรการทางการค้าอย่างสูง การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ จึงส่งผลอย่างรุนแรงโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การหวังพึ่งพาอุตสาหกรรมเหล่านี้เพียงอย่างเดียว หรือเล่นเกมต่อรอง Tariff ไปเรื่อยๆ จึงไม่เพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนจากสงครามการค้าและการเปลี่ยนแปลง supply chain โลกในระยะยาว ไทยเราจำเป็นต้องสร้างสินค้าใหม่ แหล่งรายได้ใหม่ ที่ยืดหยุ่น ปรับตัวได้เร็ว และมี resilient สูงพอที่จะเอาชนะความผันผวนที่คาดเดาไม่ได้นี้

 

ทำไม Digital Industry จึงเป็นคำตอบ?

 

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีมาก คือ อุตสาหกรรม Digital เพราะ ไม่ขึ้นกับเส้นแบ่งพรมแดนประเทศ ไม่ต้องมีการขนส่ง ไม่มีการผ่านระบบศุลกากร ขายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว มีสัดส่วนรายได้ต่อต้นทุนสูง และที่สำคัญคือ มีความยืดหยุ่นของ supply chain สูงมาก ลองคิดเล่นๆ ก็ได้ว่า ถ้ามีสินค้าอุตสาหกรรมหรือเกษตรที่โดน Tariff หนักมาก และต้องย้ายการผลิตไปที่อเมริกา จะยากและวุ่นวายขนาดไหน ในขณะที่ digital startup สามารถปรับเปลี่ยน supply chain ด้วยการย้ายกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วนไปต่างประเทศได้รวดเร็วกว่ามาก เพราะขั้นตอนการผลิตและการขายสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลกผ่าน internet

 

แต่แน่นอนว่า Digital Industry ก็ไม่ได้ปลอดภัย 100% เพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์ก็ได้สั่งให้มีการสอบสวนมาตรการ Digital Services Tax (DST) ที่ประเทศอื่นบังคับใช้กับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ แล้ว และ WTO e-commerce moratorium ซึ่งเป็นข้อยกเว้นเรื่องภาษีสำหรับ digital goods and services ของ WTO ก็กำลังจะหมดอายุในปี 2026 ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะกลายเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงและเพิ่มต้นทุนต่อผู้ประกอบการดิจิทัลไทยที่จะทำธุรกิจกับตลาดต่างประเทศในอนาคต แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ด้วยธรรมชาติที่คล่องตัวของธุรกิจ digital ก็ทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วกว่าอุตสาหกรรมดั้งเดิม

 

โอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทย

 

Trump Tariff ครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว นี่ถือเป็น wake-up call ที่สำคัญ ว่าถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ด้าน Digital Industry ที่ชัดเจนและทันสมัย เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และก้าวให้ทันประเทศชั้นนำในโลก

 

โดยในยุทธศาสตร์นี้ ไทยควรดำเนินมาตรการที่ชัดเจนและเร่งด่วน ดังนี้

  • สนับสนุนผู้ประกอบการ Digital อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา (R&D) การสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการด้านดิจิทัล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเริ่มต้น) การส่งเสริมให้ธุรกิจและผู้บริโภคไทย adopt เทคโนโลยีดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้น
  • ช่วยผู้ประกอบการ Digital ขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ผ่านการให้ทุนสนับสนุน การควบรวม (ทั้งควบรวมกันเอง และ acquire บริษัทต่างชาติ) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมด้านการตลาดและการขายในระดับสากล
  • ดึงดูดผู้ประกอบการ Digital ให้มาเริ่มสร้างธุรกิจ หรือย้ายธุรกิจมาที่ไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม solopreneur, startup, หรือธุรกิจที่เติบโตแล้ว ด้วยการสร้าง business environment, กฎเกณฑ์ที่ดึงดูดกว่าประเทศอื่น, และการสร้าง digital community ให้เข้มแข็ง
  • ศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล (เช่น สิงคโปร์ tax benefit การทำ R&D สูงถึง 250% หรือ มาเลเซียให้ Tax holiday สูงสุดถึง 10 ปี กับบริษัทที่ทำธุรกิจด้าน digital เป็นต้น) ทั้งในด้านความสำเร็จ และล้มเหลว แล้วนำมาปรับใช้กับประเทศไทย
  • ปรับปรุงระบบการศึกษาและการ upskill/reskill เพื่อสร้าง digital workforce ที่พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้ทันที

 

ซึ่งที่ผ่านมา แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งจะได้พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังมาโดยตลอด และผมเองก็ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย แต่เมื่อวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าเราจะชะล่าใจได้ เรายิ่งจำเป็นต้องทำให้มากขึ้น เพิ่มทรัพยากรให้มากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนให้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะการลงทุนใน Digital Industry ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อให้ไทยสามารถรับมือกับความผันผวนในปัจจุบันได้เท่านั้น แต่คือโอกาสครั้งสำคัญ ที่จะช่วยกำหนดอนาคตของประเทศไทยใน supply chain โลกยุคใหม่ได้ครับ

 

ภาพ: Yuichiro Chino / Getty Images, Wong Yu Liang / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising