×

ไทยจะเพิ่ม ‘ความเนื้อหอม’ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ เข้าสู่ประเทศได้อย่างไร?

16.06.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจดิจิทัล

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • ปวีร์ เจนวีระนนท์ บอกว่า ข้อจำกัดและกำแพงอุปสรรคซึ่งทำให้ไทยยังไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้านดิจิทัลจากต่างประเทศมากพอประกอบด้วย 1. กฎหมาย นโยบายด้านการเข้ามาลงทุนของกลุ่มธุรกิจต่างด้าว ‘ยังไม่ชัดเจน’ และ 2. กฎหมาย ‘ด้านดิจิทัล’ ในไทยยังต้องทบทวนเพิ่มเติม
  • เขาเชื่อว่า ภาพในอนาคต ภาครัฐต้องทำงานกับเอกชนมากขึ้น เปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็นสนับสนุนภาคเอกชนแทน แต่ก็ยังต้อง ‘หาจุดสมดุล’ กระตุ้นให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆ ในตลาด เพื่อให้เกิดการแข่งขัน
  • ข้อมูลสรุปจาก World Bank ยังเชื่ออีกด้วยว่า การจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย จำเป็นจะต้องพิจารณา FDI (การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ) และข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องของการลงทุน ซึ่งก็จะโยงไปในกฎหมายต่างๆ ที่แทรกซึม ลดหลั่นลงไปในข้อปฏิบัติด้วย

ถึงโควิด-19 จะทิ้งรอยแผลเป็นเรื้อรังให้กับระบบเศรษฐกิจโลกรุนแรงแค่ไหน แต่หนึ่งในเซกเตอร์ที่ดูจะไม่ยี่หระสักเท่าไร ยังคงทำผลงานได้อย่างโดดเด่นสวนกระแสโลกก็คือ ‘เทคโนโลยีและดิจิทัล’ โดยเฉพาะในวันที่บริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องผันตัวมาปรับโมเดลธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้คนท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด

 

นั่นจึงทำให้บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากพลอยได้รับผลกระทบเชิงบวกตามไปด้วย มีตัวเลขเม็ดเงินการเติบโตในเชิงรายได้และกำไรสุทธิที่น่าประทับใจ จนทำให้พวกเขามีงบลงทุนต่อยอดขยายกำลังการให้บริการในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด

 

ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นประเทศในแถบอาเซียนจำนวนมาก ประเทศเพื่อนบ้านของเรา โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่กลายเป็นหมุดหมายใหม่ในการจัดตั้งศูนย์ Data Center หรือ Cloud Center เพื่อขยายโครงสร้างขั้นพื้นฐานในการให้บริการในตลาดเอเชียและอาเซียน รองรับดีมานด์และจำนวนผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับนิยามความเชื่อที่ว่า ‘Next Billion Users’ แฝงตัวอยู่ในตลาดที่มีศักยภาพนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

 

เราได้เห็นบริษัทอย่าง Facebook เข้ามาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในเอเชียที่สิงคโปร์ หรือกรณีของ Tencent ที่เพิ่งตั้ง Data Center แห่งแรกของตัวเองในอินโดนีเซียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งในแง่ของเม็ดเงินจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าประเทศ ตลาดแรงงานที่ได้รับการจ้างงานและโอกาสการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล เป็นต้น

 

แล้วเมื่อไรจะเป็นโอกาสของประเทศไทยเราในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างดิจิทัลจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ทำไมกลุ่มบริษัทเหล่านั้นถึงฉวัดเฉวียนและไม่มาลงเอยที่ประเทศไทยเสียที อะไรคืออุปสรรคและความท้าทายก้อนโตที่ทำให้เรายังไม่ดึงดูดเหล่านักลงทุนด้านดิจิทัลได้มากพอ?

 

THE STANDARD ชวนมาหาคำตอบและทางออกยกระดับไทยสู่การเป็นฐานตั้งมั่นที่สำคัญสำหรับโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และบิ๊กดาต้าไปพร้อมๆ กันผ่านการพูดคุยกับ ปวีร์ เจนวีระนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเศรษฐกิจดิจิทัลเครือธนาคารโลก (World Bank Group) และอาจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ปวีร์ เจนวีระนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเศรษฐกิจดิจิทัลเครือธนาคารโลก

 

‘กฎหมายและนโยบายไม่ชัดเจน’ กำแพงอุปสรรคด่านแรกที่ทำให้ไทยยังไม่ใช่ Top of mind ลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชีย

เราเริ่มด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ภาพรวมการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยี ผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มดิจิทัลในประเทศไทย ณ เวลานี้มีสถานการณ์เป็นเช่นไร

 

“สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นจากช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา คือ ความพยายามที่จะเปิดมากขึ้นสำหรับการให้กลุ่มธุรกิจต่างด้าว (ต่างประเทศ) มาประกอบกิจการด้านต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในเซกเตอร์ธุรกิจดิจิทัล แต่ผมก็เห็นว่า เรายังมี ‘ข้อจำกัด’ ใน 2 ส่วนหลักๆ”

 

ปวีร์บอกกับเราต่อว่า ข้อจำกัดที่เขาพบและกลายเป็นกำแพงอุปสรรค ซึ่งทำให้ไทยยังไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้านดิจิทัล ประกอบไปด้วย

 

  1. กฎหมาย นโยบายด้านการเข้ามาลงทุนของกลุ่มธุรกิจต่างด้าว ‘ยังไม่ชัดเจน’
  2. กฎหมาย กฎเกณฑ์ ‘ด้านดิจิทัล’ ในประเทศไทยยังต้องทบทวนเพิ่มเติม

 

สำหรับในข้อที่ 2 นี้ ปวีร์ขยายความเพิ่มเติมว่า แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นโยบายประเทศไทย 4.0 จะเป็นสิ่งที่ดีและสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็นในภาคส่วนต่างๆ ของการพัฒนาประเทศ แต่เมื่อมองในแง่ของมิติความพร้อมของกฎหมายด้านดิจิทัลแล้ว เรายังต้องพัฒนาอีกพอสมควร

 

“เป็นเรื่องที่ดีมากๆ นะครับที่เรามีความพยายามในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ ที่มีการพัฒนาในเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าไปในพื้นที่ที่ห่างไกล ที่ชนบท เรามีการเริ่มต้นที่ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ถามว่า ถ้าเราจะมองไปข้างหน้า โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 ผมเห็นสัญญาณว่าเรายังสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้านดิจิทัลจากต่างชาติ (FDI) ให้มากขึ้นกว่านี้ได้

 

“แต่ในเชิงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเอง ก็อาจจะยังมีหลายส่วนที่ยังจะต้องผ่านการพิจารณาหรือทบทวนเพิ่มเติม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมาแก้ไขในด้านข้อจำกัดต่างๆ”

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเศรษฐกิจดิจิทัลเครือธนาคารโลก ขยายความเพิ่มเติมในประเด็นอุปสรรคที่ทำให้เม็ดเงินการลงทุนด้านดิจิทัลยังไม่ ‘หลั่งไหล’ เข้าสู่ประเทศไทยอย่างเต็มที่ว่าประกอบไปด้วย 3 ประเด็นสำคัญ คือ

 

  1. แนวนโยบายและกรอบกฎเกณฑ์ด้านการทรานส์ฟอร์มดิจิทัล (Digital Transformation) ยังไม่ชัดเจน
  2. ต้องพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
  3. การให้ข้อมูลและความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล

 

“เวลาที่เราพูดถึง Digital Transformation สิ่งที่จะต้องตามมาด้วยเสมอคือ Data หรือข้อมูล ดังนั้นกรอบกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมในการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลพวกนี้มีความจำเป็นอย่างมาก รัฐจำเป็นจะต้องมี ‘ธรรมาภิบาล’ ของข้อมูลต่างๆ เนื่องจากข้อมูลซึ่งรัฐจัดเก็บไปไม่ว่าจะผ่านแอปพลิเคชันใดก็ตามถือเป็นข้อมูลที่มีขนาดมหาศาลมากๆ และหากสามารถนำไปใช้งานได้ถูกจุด (ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน) ก็จะช่วยให้สามารถกำหนดนโยบายสาธารณะได้ดีมากด้วย

 

“นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลปี 2562 (PDPA) ที่ตอนนี้ยังคงถูกเลื่อนบังคับใช้ออกไป ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองทางด้านข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายลำดับรองออกมา ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับภาคธุรกิจที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าควรจะต้องปรับตัวอย่างไร แล้วมันก็ยังครอบคลุมไปถึงการโอนข้อมูลระหว่างประเทศซึ่งสัมพันธ์กับการเข้ามาลงทุนด้านดิจิทัลจากต่างชาติด้วย ดังนั้น การมี PDPA และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจนก็จะช่วยสร้างความเชื่อมันให้กับภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลจากต่างชาติได้ดี”

 

เศรษฐกิจดิจิทัล

 

รัฐต้องพลิกตัวสู่ ‘e-Government’ ย่นระยะเวลา เพิ่มความโปร่งใส เปลี่ยนเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ มากกว่า ‘ผู้ควบคุม’

ไม่เพียงเท่านั้น ปวีร์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากเราสามารถพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัลภายในประเทศให้ดีขึ้นได้ ก็จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้ดีกว่าเดิม เช่น การลดขั้นตอนต่างๆ สำหรับการขอวีซ่า กรณีที่ชาวต่างชาติจะเข้ามาประกอบธุรกิจหรือมาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนา e-Government และ Digital Transformation ในภาครัฐ เพื่อช่วยลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย ทำให้กระบวนการต่างๆ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และน่าเชื่อถือ 

 

“ผมเห็นว่ามันมีความจำเป็นอย่างมาก (e-Government) เพราะนอกจากจะช่วยลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย มันยังช่วยให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส เพราะในปัจจุบัน ถ้าเราดูข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการลงทุน เราจะเห็นว่ามันยังมีข้อจำกัดที่เยอะมาก และมีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน 

 

“ยกตัวอย่างง่ายๆ SMART Visa ผมและทีมงานในโครงการธนาคารโลกเคยเสนอว่า มันควรจะเป็นดิจิทัลให้ได้หมดแล้วในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฝั่งบทบาทของภาครัฐกับการเป็น e-Government หากมีการบูรณาการในเรื่องของข้อมูล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับพลิกตัวเองมาเป็น ‘ผู้สนับสนุน (Supporter)’ มากกว่าเป็น ‘ผู้ควบคุม (Controller)’ ก็จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาได้ในทุกเซกเตอร์

 

“เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายข้อมูลเข้าสู่การประมวลผลในรูปแบบ Cloud ที่มีการพูดคุยกันในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังสอดคล้องกับข้อเสนอของทางธนาคารโลกด้วยเช่นกันที่มองว่า e-Government จะมาเพิ่มเติมในเรื่องของความโปร่งใส การลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และการลดกระบวนการให้น้อยลงเพื่อให้มันง่ายขึ้น”

 

สำหรับประเด็นการเปลี่ยนหมวกของผู้ควบคุมสู่การเป็นผู้สนับสนุนนั้น ปวีร์ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ในอนาคต สิ่งที่เขาหวังและต้องการจะเห็นคือ การที่ภาครัฐต้องทำงานกับเอกชนมากขึ้น เปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็นสนับสนุนภาคเอกชนแทน แต่ก็ยังต้อง ‘หาจุดสมดุล’ ในกรณีที่หากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา รัฐจะต้องเข้าไปกำกับดูแลเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และเปิดให้มีผู้เล่นใหม่ๆ ในตลาดเพื่อให้เกิดการแข่งขัน การพัฒนา

 

“รัฐจะต้องหาจุดสมดุลให้ได้ว่า ทำอย่างไรให้มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาด เพื่อทำให้เกิดการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านธุรกิจดิจิทัล จะอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้นในเซกเตอร์นี้ได้อย่างไร ด้วยวิธีไหน การแข่งขันหรือการลงทุนจากต่างชาติ นอกจากจะมีมิติในแง่ ‘การได้รับประโยชน์ของผู้บริโภค’ แล้ว ในภาคการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจ เราก็จะได้ ‘Know-How’ จากเขากลับมาด้วย”

 

การทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระวังมิติ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในโอกาสการเข้าถึงโลกดิจิทัล

เรามักจะพูดกันเสมอว่า โลกยุคโควิด-19 ถูกเร่งปฏิกริยาการทรานส์ฟอร์มให้หมุนเร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว เนื่องจากทุกคนอยู่ในโหมดไฟต์บังคับที่หากไม่ปรับตัว/เปลี่ยนแปลงก็อาจจะตกขบวน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคหรือตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปได้สำเร็จ

 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง การปรับตัวและทรานส์ฟอร์มสู่โลกดิจิทัลก็ยังมีข้อกังวลในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะมิติด้านความเหลื่อมล้ำ ที่ยังมีชาวบ้าน พลเมืองจำนวนมากที่อาจจะไม่สามารถเร่งฝีเท้าให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ (ข้อจำกัดด้านการเข้าถึงการเชื่อมต่อข้อมูล อุปกรณ์ และทักษะด้านดิจิทัล)

 

“ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเป็นอะไรที่เราเห็นได้เยอะมากเลย มีความพยายามในหลายๆ ประเทศที่จะนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน หรืออย่างฝั่งภาครัฐเองก็ต้องการจะกระจายสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ แต่เราจะเห็นว่าบางคนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้เลย 

 

“สิ่งที่จะมาแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลได้อาจจะเป็นเรื่องของนโยบายและการปรับใช้ ในช่วงต้นเองเราจะต้องเจอปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระยะยาวเราอาจจะต้องพิจารณาว่ามันมีโครงสร้างพื้นฐานหรืออะไรที่เราสามารถปรับปรุงหรือขยายให้มันพัฒนาขึ้นได้ ในส่วนของนโยบายของภาครัฐเองก็จำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลด้วย”

 

ส่วนในมุมมองของการที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มตื่นตัวออกโครงการเสริมทักษะด้านดิจิทัลกับประชาชนและผู้คนนั้น ปวีร์มองว่าเป็นเรื่องที่ดีและ ‘จำเป็น’ อย่างยิ่ง แต่ก็จะต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่งไปด้วย เนื่องจากถือเป็นฐานรากของพีระมิดที่สำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กัน

 

ธนาคารโลกกับมุมมอง ‘ข้อจำกัด’ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

ในมุมมองของตัวแทนธนาคารโลก หรือ ‘World Bank’ ปวีร์อธิบายเพิ่มเติมว่า พวกเขายังพบข้อจำกัดของไทยในการดึงดูดเม็ดเงินด้านดิจิทัลอีกมากที่เกิดขึ้น ซึ่งมาจากการรวบรวมข้อมูลและการจัดทำงานวิจัย

 

“กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอาจจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ถ้าเราจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามา เราจะต้องพิจารณาในเรื่องของ FDI (การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ) และข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องของการลงทุน ซึ่งมันก็จะโยงไปในเรื่องของกฎหมายต่างๆ 

 

“เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งในปัจจุบันผมขอสรุปสั้นๆ ว่า ‘มันยังมีข้อจำกัดเยอะมาก’ เช่น การจำกัดประเภทของธุรกิจที่ถูกลดหลั่นกันลงไป, การจ้างแรงงาน, การขอใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมันก็ไปเกี่ยวโยงกับข้อจำกัดอื่นๆ ที่จะต้องพิจารณาประกอบกัน เช่น เรื่องของวิชาชีพที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้

 

“อีกปัญหาที่สำคัญก็คือ การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ที่เกิดความล่าช้าของการบังคับใช้ในประเทศไทย เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริการด้านดิจิทัล และอาจจะต้องพิจารณาประกอบกับกฎหมายอื่นๆ ด้วย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า กฎหมาย และกฎเกณฑ์เรื่องการคุ้มครองซัพพลายเออร์ด้านดิจิทัล (Digital Supplier) 

 

“แต่ในแง่มุมหนึ่ง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็อยู่ในระหว่างการทบทวนอยู่ เช่น สพธอ. ​(สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์: ETDA) ที่กำลังทบทวนกฎหมายทางด้านดิจิทัลในบางลักษณะ มีการทบทวนพระราชบัญญัติว่าด้วยการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมันเป็นพื้นฐานสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับดิจิทัล”

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ปวีร์เชื่อว่าจะช่วยให้ไทยก้าวหนีออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ และเพิ่มความเนื้อหอมในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ นั่นก็คือการปฏิบัติตามปัจจัย 3 ประการที่ World Economic Forum เสนอไว้ ประกอบไปด้วย

 

  1. นวัตกรรมปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด
  2. ภาครัฐมีบทบาทในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล 
  3. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลงทุนพลิกโฉมดิจิทัลในภาคธุรกิจอย่างเต็มตัว 

 

“ถ้าภาครัฐทำตามทั้ง 3 ข้อนี้ ผมก็เห็นว่ามันจะเพิ่มโอกาสให้ประเทศของเราดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามา การพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การสนับสนุนโดยภาครัฐ ซึ่งมันจำเป็นมากๆ ถ้าเม็ดเงินลงทุนเข้ามามาก มันจะมีโอกาสอย่างมากเลยที่ประเทศไทยของเราจะพัฒนาต่อไปในอนาคต ในเรื่องของเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และในเรื่องของรายได้ ซึ่งก็จะทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising