×

ลูกค้าอย่างเรา ‘เสีย’ อะไรไปบ้างในยุคดิจิทัล

18.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การเสพข้อมูลในยุคดิจิทัลมิได้ส่งเสริมการรับข้อมูลในเชิงกว้างมากนัก เนื่องจากความฉลาดเฉลียวของระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้เห็นเฉพาะข้อมูลที่ ‘ถูกจริต’ กับตนเองเป็นหลัก
  • ลูกค้าจะเสียความเป็นส่วนตัว ความรู้ที่หลากหลาย สตางค์ และโอกาสที่จะร่วมดูแลสังคมผ่านภาษี ซึ่งเป็นเรื่องรุนแรง ร้ายกาจ และมีความเป็นไปได้สูง        

เรื่องความฉลาดเฉลียวแสนรู้ของโลกดิจิทัลนั้นสร้างความสุขสบายให้เราๆ ท่านๆ ในฐานะลูกค้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน ต้องการข้อมูลก็เสิร์ชได้เพียงพริบตา หิวก็สั่งอาหารได้ 24 ชั่วโมงทั่วไทย แถมมีบริการส่งถึงบ้านใน 30 นาที ต้องการท่องเที่ยวก็มีคนช่วยออกแบบทริป ให้คำแนะนำแบบฟรีๆ โอนเงินจ่ายเงินก็ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก โลกดิจิทัลนั้นแสนดีเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ลูกค้าอย่างเราๆ จะเลือกเปลี่ยนไปใช้ชีวิตดิจิทัลกันโดยไม่ต้องยั้งคิด

 

สมัยนี้ใครไปต่อแถวที่สาขาธนาคาร อ่านหนังสือพิมพ์เล่มใหญ่ที่หมึกเลอะมือ หรือโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม คงถูกค่อนแคะว่า ‘ไม่ทันสมัยเอาเสียเลย’

 

แต่เราทุกคนก็รู้กันดีว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เมื่อได้ชีวิตดี๊ดีมาจากโลกดิจิทัล ลูกค้าก็ควรต้องตระหนักเสียหน่อยว่าเจ้าดิจิทัลนั้นพรากบางสิ่งไปจากเราอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

 

โลกดิจิทัล = ไร้ความเป็นส่วนตัว

คนสมัยก่อนรักใคร ชอบใคร กิ๊กกับใคร บางทีก็ต้องแอบๆ ซ่อนๆ กว่าจะได้รู้เขาก็มีลูกกันไปเป็นโขยงแล้ว สมัยดิจิทัลนี้อย่าว่าแต่รักหรือชอบเลย แค่เหล่มองแป๊บเดียว ข้อมูลก็ไหลกันไปถึงไหนๆ ก็เจ้าระบบสารสนเทศแสนฉลาดตัวดี เราแอบปลื้มใคร แอบดูรูปคนไหน กดไลก์อะไร กดแชร์เมื่อไร เป็นอันว่าเก็บข้อมูลเอาไว้หมด จะอีเมล ข้อความ รูปภาพ ไปจนถึงการใช้ชีวิตในบ้านหรือที่ทำงานของเราๆ ท่านๆ ก็ไม่พ้น ล้วนแล้วแต่ถูกเครื่องมือและโปรแกรมต่างๆ ดึงข้อมูลไปหมด

 

 

ลูกค้าจะบ่นก็ทำได้ไม่เต็มปาก เพราะล้วนแล้วแต่ไปอนุญาตให้ระบบทั้งหลายรุกล้ำชีวิตส่วนตัวเอง ตั้งแต่ไปกด ‘ยอมรับ’ เลือกใช้บริการของเขาแล้ว สิ่งที่ได้กลับคืนมาคือความสะดวกสบาย ได้สินค้าและบริการที่ถูกต้องตรงใจในลัดนิ้ว

 

ลูกค้าที่แข็งขืน ไม่ยอมสละความเป็นส่วนตัวเหล่านี้จะตกยุคตกสมัยไป หรือแม้จะเลือกตกสมัยเพื่อพยายามเลี่ยงการโดนเก็บข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร สุดท้ายก็จะโดนระบบแสนฉลาดบีบบังคับจนเผลอเปิดช่องปล่อยข้อมูลออกไปจนได้

 

โลกดิจิทัล = ขาดความรู้รอบตัว

ข่าวดีอย่างหนึ่งในยุคดิจิทัลคือคนไทยคงไม่อ่านหนังสือ 8 บรรทัดต่อปีเป็นแน่ ทั้งนี้เพราะก้มหน้าอ่านเรื่องร้อยแปดในเครื่องมือดิจิทัลหลายชั่วโมงต่อวัน น่าเสียดายว่าการเสพข้อมูลในยุคดิจิทัลที่เน้นสื่อสังคมออนไลน์นั้นมิได้ส่งเสริมการรับข้อมูลในเชิงกว้างรอบตัวมากนัก เนื่องจากความฉลาดเฉลียวของระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้เห็นเฉพาะข้อมูลที่ ‘ถูกจริต’ (Relevant) กับตนเองเป็นหลัก เช่น หากใครไม่สนใจข่าวต่างประเทศอยู่เดิม ไม่ว่าจะเกิดสงคราม ก่อการร้าย โลกถล่ม ดินทลายในภูมิภาคอื่นที่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำคัญอย่างไร เขาก็อาจจะไม่ได้รู้ได้เห็นข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเลยก็ได้

 

 

ต่างกับยุคเดิมที่เน้นนั่งฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ ดูโทรทัศน์ จะมากจะน้อยก็มักจำต้องได้เห็น ได้ยินข้อมูลที่เกินกว่าความสนใจของตนไปด้วย การได้ข้อมูลเฉพาะด้านที่เราชอบ เราจะขาดข้อมูลที่กว้างขวางหลากหลาย ซึ่งอาจลดความเข้าใจตลาด เข้าใจโลกของผู้บริโภคลงได้อย่างไม่รู้ตัว

 

โลกดิจิทัล = เสียสตางค์อย่างลืมตัว

เครื่องมือการตลาดดิจิทัลจะเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าได้ และสามารถออกแบบโปรแกรมการตลาดที่กระตุ้นให้ลูกค้าควักเงินออกจากกระเป๋าแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น การใช้ระบบที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเพื่อนำเสนอสินค้าที่เรียกรวมๆ ว่า ‘Retargeting’ จะถูกพัฒนาให้มีลูกล่อลูกชน เปรียบเสมือนมีนักขายเก่งๆ ติดตามลูกค้าไปทุกที่ บางครั้งก็ทำตัวเป็นเพื่อนทักทายให้ข้อมูล บางเวลาทำตัวเป็นที่ปรึกษาให้ข้อมูลโดนใจ บางคราวใจดีมอบของขวัญของฝาก ลูกค้ารู้ตัวอีกทีก็กดซื้อสินค้าไปเสียแล้ว

 

 

นอกจากนั้น การพัฒนาด้านการตลาดและการขายจะเกิดขึ้นในทุกทิศทุกทาง ทุกเวลา จะทำงาน ขับรถ เรียนหนังสือ ซักผ้า หรืออาบน้ำ ก็จะมีช่องทางให้ซื้อให้ขาย

 

บริษัทระดับโลกอย่าง Google, Amazon หรือ Alibaba ต่างก็พัฒนาระบบผู้ช่วยส่วนตัวผ่านลำโพงอัจฉริยะให้ลูกค้าพูดคุย สั่งงาน และซื้อสินค้าได้เพียงเอ่ยปากเท่านั้น

 

ท้ายที่สุดแล้วเงินจะไหลออกจากกระเป๋าลูกค้าแบบไม่ทันตั้งตัวมากขึ้น ทำให้เราต้องตามล้างตามเช็ด ‘หนี้’ กันจ้าละหวั่น หากไม่ตั้งสติให้ดี

 

โลกดิจิทัล = หลบเลี่ยงภาษี

การตลาดดิจิทัลจับต้องได้ยาก ตั้งแต่การสั่งของ การส่งของ การออกใบเสร็จ ไปจนถึงการจ่ายค่าสินค้า ซึ่งอาจจะเป็นเงินเสมือนที่ไร้ตัวตนโดยสิ้นเชิง เมื่อมีแต่เรื่องจับต้องไม่ได้ตลอดกระบวนการซื้อขาย รัฐก็จะมึนงงกับการเก็บภาษีอากร ช่องโหว่ให้เลี่ยงภาษีจะเกิดขึ้นเต็มไปหมด รัฐก็จะทำงานยากขึ้นเป็นทวีคูณ

 

ช่องทางหลบภาษีจะเกิดขึ้นมากมาย หรือไม่ก็ไปหาที่จ่ายภาษีถูกๆ ในประเทศที่อัตราภาษีต่ำ ทั้งนี้เพราะของที่จับต้องไม่ได้จะส่งไปอยู่ในประเทศไหนก็ย่อมไม่ยากนัก

 

 

ลูกค้าที่คิดว่าการไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีในอัตราต่ำก็จะเห็นว่า ‘หวานคอแร้ง’ สบายใจเฉิบนั้นผิดถนัด เพราะระบบการซื้อขายที่ไม่สร้างรายได้แก่รัฐจะส่งผลร้ายแรงแก่สังคมในภาพรวมมาก

 

ภาษีที่พร่องไปมากจะกระทบกับระบบพื้นฐานทั้งการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค คมนาคม ฯลฯ ซึ่งหมายถึงว่าคุณภาพชีวิตของตัวเราและลูกหลานของเราจะด้อยลงด้วยเป็นเงาตามตัว

 

หลายคนเรียก ‘ดิจิทัล’ ว่าเป็นคลื่นทางสังคมที่เราต้องเข้าใจและฝ่าไปให้ได้ ส่วนการคาดการณ์ว่าดิจิทัลจะพรากความเป็นส่วนตัว ความรู้ที่หลากหลาย สตางค์ จนถึงโอกาสที่จะร่วมดูแลสังคมผ่านภาษีไปจากเรา แม้จะดูรุนแรง ร้ายกาจ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูง

 

ดังนั้นหากขาดความรู้ความเข้าใจและขาดการเตรียมการที่ดี เราอาจจะสูญเสียจนเกินเยียวยาก็เป็นได้

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X