×

วิกฤตเศรษฐกิจดิจิทัลไทยมูลค่าหายเฉียด 6.4 แสนล้านบาท เอกชนจับมือรัฐดัน ‘สตาร์ทอัพไทย’ เร่งพลิกเกม

05.09.2024
  • LOADING...
สตาร์ทอัพไทย

ในปัจจุบันชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนใหญ่ถูกห้อมล้อมไปด้วยบริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ทั้ง TikTok, YouTube หรือ Google เพื่อเสพคอนเทนต์และหาข้อมูล หรือ Lazada และ Shopee สำหรับเลือกซื้อสินค้า

 

สถิติล่าสุดจากสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยร่วมกับ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ พบว่า รายได้จากแพลตฟอร์มคอนเทนต์ออนไลน์ไหลออกจากไทยรวม 14,371 ล้านบาท แต่ที่ไหลออกเยอะมากที่สุดคือฝั่งของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไหลออกกว่า 6.4 แสนล้านบาทต่อปี โดยเงินดังกล่าวนั้น ‘เคย’ เป็นรายได้ของผู้ประกอบการไทย

 

สตาร์ทอัพไทย

ธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยรุ่นที่ 6 

 

ธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมรุ่นที่ 6 ของสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย เผยให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยสมาคมฯ ชี้ให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันบนโลกดิจิทัลกับยุคที่เรียกว่า ‘สงครามล่าอาณานิคมแบบไม่ใช้กำลัง’

 

เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน สตาร์ทอัพ รวมทั้งธุรกิจ SMEs ที่เป็นกลุ่มธุรกิจหลักในไทยกว่า 90% กำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก โดย ‘สงคราม’ ครั้งนี้ไม่ได้เป็นการใช้กำลังเพื่อแย่งชิงทรัพยากร แต่เป็นการใช้พลังทางเศรษฐกิจและอิทธิพลเป็นอาวุธ

 

“วันนี้ประเทศไทยกำลังสูญเสียอธิปไตยด้านดิจิทัลให้กับบริษัทต่างชาติ เรากำลังถูกล่าอาณานิคมอย่างเงียบๆ ผ่านการไหลออกของเงินจากระบบเศรษฐกิจไทย แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าไทยหมดหวัง เรายังมีข้อได้เปรียบในบางอุตสาหกรรม ซึ่งเราต้องคว้าโอกาสเอาไว้ให้ได้” ธนวิชญ์กล่าว

 

Pioneers of the New Economy คือเป้าหมายของสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยในการหาน่านน้ำธุรกิจใหม่ เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้และสามารถขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน

 

ท่ามกลางความท้าทายมากมาย สมาคมฯ เชื่อว่าจุดแข็งของประเทศไทยที่สตาร์ทอัพไทยยังสามารถต่อยอดและพัฒนาโซลูชันดิจิทัลให้โตต่อได้ในระดับโลกคือ ด้านสุขภาพ อาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเดิมที่ไทยมีศักยภาพในการสร้างให้โดดเด่นเหนือคู่แข่งต่างชาติได้

 

สำหรับการเปลี่ยนวิสัยทัศน์จาก ‘ความฝัน’ ให้กลายเป็น ‘ความจริง’ ธนวิชญ์เสนอแนวทางสำคัญ 3 หัวข้อใหญ่ใน 7 ประเด็นที่อยากให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

 

1. Manpower (กำลังคนด้านดิจิทัล)

 

  • เน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีสำหรับบุคลากร เพื่อให้เกิดการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดโลก ทั้งนี้ ควรมีการสนับสนุนด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการจัดโปรแกรมเร่งรัดความรู้ด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม

 

2. Money (การสนับสนุนด้านการเงิน)

 

  • เงินลงทุน ควรจัดสรรเงินทุนให้เทียบเท่ากับประเทศชั้นนำอย่างสิงคโปร์ ซึ่งจัดสรรเงินลงทุนสูงถึง 200 ล้านบาทต่อบริษัท ผ่านกองทุน Matching Fund ที่ร่วมลงทุนกับนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง

 

  • เงินกู้ ควรมีการให้กู้ยืมแบบไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ผ่อนชำระ 5 ปี วงเงินสูงสุด 13 ล้านบาทต่อบริษัท

 

  • เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ควรบังคับใช้กฎหมาย Credit Term Guideline อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้บริษัทใหญ่ต้องชำระเงินแก่คู่ค้าไม่เกิน 45 วัน โดยนโยบายนี้ไม่ต้องใช้เงินภาษีประชาชน

 

  • PO Financing ใช้ใบสั่งซื้อเป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ

 

3. Market (การเข้าถึงตลาด)

 

  • ผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศ ควรผลักดันสตาร์ทอัพไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศผ่านเครือข่ายทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเติบโตในตลาดสากล

 

  • Thailand First ควรกำหนดสัดส่วนงบประมาณด้านไอทีที่ต้องใช้ซื้อสินค้าหรือบริการจากสตาร์ทอัพไทย เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจภายในประเทศ

 

ในฝั่งของภาครัฐ ปัจจุบันก็เริ่มมีการเข้ามาช่วยแชร์ความเสี่ยงการลงทุนในสตาร์ทอัพแล้วเรียกว่า Matching Fund โดยในปีงบประมาณ 2567 นี้ สกสว. จัดสรรเงินทุนสนับสนุน NIA และ TED Fund ทำให้สตาร์ทอัพมีแหล่งสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐที่ 100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีการทำงานร่วมกับ Corporate Venture Capital (CVC) ของไทยอย่างบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัดแล้ว

 

นอกจากนี้ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า “สิ่งที่มากกว่าเงินทุนที่ภาครัฐจะช่วยคือ การจับผู้ประกอบการให้มาเจอกับลูกค้า โดยหนึ่งในกลุ่มลูกค้าที่จะเพิ่มการใช้งานนวัตกรรมของสตาร์ทอัพก็คือหน่วยงานรัฐ เมื่อเป็นเช่นนั้นความน่าเชื่อถือของสตาร์ทอัพจะสูงขึ้น เพราะมีฐานผู้ใช้งานจริง ยิ่งเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ที่นำเงินมาลงทุนในสตาร์ทอัพด้วย”

 

ประเด็นนี้สอดคล้องกับความท้าทายของสตาร์ทอัพไทยในปัจจุบันที่มักจะถูกนักลงทุนต่างชาติมองข้าม และเลือกที่จะนำเงินไปลงกับธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านแทน เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่พิสูจน์ตัวเองได้ยังมีไม่เท่ากับประเทศอื่นๆ

 

“สิ่งที่ทำให้นักลงทุน Venture Capital (VC) ต่างชาติ มองข้ามไทยไปในหลายปีที่ผ่านมา เพราะนักลงทุน VC กับ CVC ท้องถิ่น สนับสนุนเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพในระยะแรกเริ่ม (Pre-seed หรือ Seed) ไม่เพียงพอ การขาดผู้ลงทุนที่เป็นบริษัทท้องถิ่นทำให้ต่างประเทศยังชะลอการลงทุนในไทย เนื่องจากผู้ที่จะเข้าใจความเชี่ยวชาญของผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพได้ดีที่สุดก็คือ VC ท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นผู้สร้างความมั่นใจให้กับบริษัทผู้ลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุน” ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) กล่าว

 

ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) 

 

อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทยในตอนนี้เริ่มได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านกองทุน Matching Fund ที่จะมาช่วยลดความเสี่ยงให้กับภาคเอกชนที่จะลงทุนสตาร์ทอัพ และภาคเอกชนอย่างกองทุน Finno Efra Private Equity Trust ที่หันมาบ่มเพาะสตาร์ทอัพระยะแรกให้สามารถเติบโตเป็นธุรกิจรุ่นใหม่ได้ รวมทั้งสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยที่เป็นชุมชนผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า ‘ธุรกิจสตาร์ทอัพ’ ให้มีบทบาทขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising