×

‘ผู้คนรวมตัว เฉลิมฉลองไร้หน้ากาก’ บรรยากาศฟุตบอลโลกไม่หวั่นโควิด กับคำถามของชาวจีน ที่รู้สึกเหมือน ‘อยู่บนดาวคนละดวง’

24.11.2022
  • LOADING...

บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่เปิดฉากตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางความสนใจของผู้คนทั่วโลก หลังผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากจากวิกฤตโควิดในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา

 

โดยหลายประเทศรวมถึงไทย มีการรวมตัวของผู้คนเพื่อเฉลิมฉลองต้อนรับฟุตบอลโลก แต่สำหรับจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เผชิญผลกระทบจากโควิด และจนถึงตอนนี้ยังคงไม่มีทางออกของสถานการณ์ที่ชัดเจน เนื่องจากความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายหลักของรัฐบาลคือ Zero-COVID หรือนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ประกอบกับสถานการณ์ระบาดในหลายเมือง รวมถึงปักกิ่ง ที่เริ่มกลับมาทวีความรุนแรงอีกระลอก ทำให้บรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลโลกของชาวจีนในครั้งนี้เงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด

 

ความอึดอัดใจจากการต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโควิดที่เคร่งครัด ในขณะที่ภาพการแข่งขันและการเชียร์ฟุตบอลแบบไร้หน้ากากและไม่ต้องเว้นระยะห่างในสนามแข่งขันที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพ ปรากฏผ่านสื่อทางการที่ถ่ายทอดสดและนำเสนอข่าว ทำให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อย เกิดคำถามที่มาพร้อมกับความไม่พอใจ โดยรู้สึกราวกับว่าจีนและการแข่งฟุตบอลโลกนั้น ‘อยู่บนดาวคนละดวง’

 

ดูจากที่บ้านหรือที่กักตัว

  • ฟุตบอลนั้นเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นคนรักกีฬา และเขาเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า การคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก คือความฝันของประเทศ

 

  • ด้วยเหตุนี้ สถานีโทรทัศน์ของทางการจีน อาทิ CCTV ตลอดจนโซเชียลมีเดียอย่าง Douyin หรือก็คือ TikTok ในจีน จึงได้ถ่ายทอดสดการแข่งขัน ในขณะที่สื่อทางการจีน ก็พยายามขยายให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของจีน ในมหกรรมฟุตบอลโลกรอบนี้ แม้ว่าทีมชาติจีนจะไม่ได้เข้าร่วมในการแข่งขันรอบ 32 ทีมสุดท้าย โดย Global Times รายงานว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในจีน ตั้งแต่รถบัสไปจนถึงสนามกีฬา (สนามกีฬานานาชาติลูซัยล์: Lusail Stadium) หรือแม้แต่เครื่องปรับอากาศ ก็มีส่วนเป็นตัวแทนของจีนในงานนี้”

 

  • ขณะที่ CCTV ยังนำเสนอข่าวการปรากฏตัวของผู้ถือธงจีนในพิธีเปิด ตลอดจนรายงานวิธีการส่งแพนด้ายักษ์ 1 คู่ ไปยังกาตาร์ เพื่อเป็นของขวัญสำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกและเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

 

  • อย่างไรก็ตาม ในหลายเมืองใหญ่ของจีน รวมถึงปักกิ่ง พบว่าสถานการณ์ระบาดของโควิดที่กลับมารุนแรงขึ้น ทำให้บรรยากาศการเฉลิมฉลองต้องหยุดชะงัก และส่งผลให้ธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นต้องปิดให้บริการอีกครั้ง ในขณะที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมของทางการ

 

  • เมื่อไม่มีบาร์ให้เข้าไปเฉลิมฉลองและเชียร์ฟุตบอลโลก หนังสือพิมพ์ Global Times รายงานว่า แฟนบอลบางคน ‘เลือกที่จะดูเกมการแข่งขันที่บ้านกับครอบครัว’ ขณะที่มีรายงานว่า ประชาชนหลายคนถูกส่งไปกักตัว และต้องดูการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างโดดเดี่ยว

 

  • สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปดูการแข่งขันฟุตบอลโลกด้วยตัวเองถึงสนามแข่งขันนั้น พบว่าเที่ยวบินระหว่างกาตาร์และจีนยังมีค่อนข้างจำกัดมาก และอาจหาตั๋วเที่ยวบินได้ยาก

 

จีนและฟุตบอลโลกอยู่บนดาวคนละดวง?

 

  • ในแอปพลิเคชันส่งข้อความยอดนิยมอย่าง WeChat มีผู้โพสต์ข้อความที่เป็นเหมือนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลปักกิ่ง โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบาย Zero-COVID ที่ยังดำเนินอยู่ พร้อมทั้งถามว่า “จีนและกาตาร์นั้นอยู่บนโลกใบเดียวกันหรือไม่?” ซึ่งข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ก่อนจะถูกลบและปิดกั้นการค้นหาไป

 

  • ส่วนโซเชียลมีเดียอย่าง Weibo ที่มีลักษณะคล้าย Twitter มีการแสดงความคิดเห็นมากมายจากผู้ที่ชมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่พูดประมาณว่า “การชมการแข่งขันในปีนี้ ทำให้พวกเขารู้สึกถูกแบ่งแยกจากส่วนอื่นๆ ของโลก”

 

  • บางข้อความยังบอกถึงความเข้าใจของพวกเขา ที่รู้สึกว่าเป็นเรื่อง ‘แปลก’ ที่เห็นคนหลายแสนคนรวมตัวกัน โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือต้องแสดงหลักฐานการตรวจเชื้อโควิดล่าสุด “ไม่มีที่นั่งแยกเพื่อให้ผู้คนสามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ และไม่มีใครสวมชุดสีขาวและสีน้ำเงิน (ชุดทางการแพทย์) อยู่ข้างสนาม โลกใบนี้แบ่งแยกแล้วจริงๆ”

 

  • ชาวเน็ตจีนบางคนกล่าวด้วยความคับข้องใจว่า “ในด้านหนึ่งของโลกมีงานคาร์นิวัลซึ่งก็คือฟุตบอลโลก ส่วนอีกด้านก็มีกฎห้ามไปสถานที่สาธารณะเป็นเวลา 5 วัน”

 

  • พ่อแม่บางคนบอกว่า พวกเขามีปัญหาในการอธิบายกับลูกๆ ว่าเหตุใดภาพจากสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก จึงแตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้คนที่บ้านต้องเผชิญ

 

  • อย่างไรก็ตาม มีชาวจีนไม่น้อย ที่ยังวิจารณ์การเปิดประเทศของประเทศต่างๆ ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงเรียกเชื้อไวรัสโควิดว่าเป็น ‘ภาวะฉุกเฉินเฉียบพลันระดับโลก’

 

  • ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นในหลายเมืองใหญ่ของจีน ยังคงนำมาตรการตรวจเชื้อหมู่จำนวนมากและมาตรการจำกัดการเดินทางมาใช้อีกครั้ง พร้อมทั้งส่งข้อความหนักแน่นไปถึงประชาชนว่าให้อยู่แต่ในบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

  • แต่ผลจากการใช้มาตรการเข้มงวดดังกล่าวมา 3 ปี ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกสิ้นหวัง และนำมาสู่การแสดงออกด้วยความไม่พอใจ เช่น การประท้วงที่เกิดขึ้นทั้งในเมืองกวางโจวและเจิ้งโจเมื่อเดือนที่แล้ว

 

สถานการณ์โควิดในจีนล่าสุด

 

  • ทางการจีนรายงานข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิดล่าสุดพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศวานนี้ (23 พฤศจิกายน) พุ่งสูงเป็นสถิติใหม่ 31,444 รายในวันเดียว ทำลายสถิติเดิมที่เมื่อวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่นครเซี่ยงไฮ้ เผชิญมาตรการล็อกดาวน์ทั่วเมืองนานกว่า 2 เดือน

 

  • ดัชนีหุ้นในจีน ร่วงลงอย่างหนักหลังเปิดตลาดวันนี้ (24 พฤศจิกายน) ท่ามกลางความกังวลต่อจำนวนเคสผู้ติดเชื้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งบดบังด้านบวกของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด

 

  • แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการจะต่ำตามมาตรฐานสากล แต่จีนก็พยายามกำจัดทุกห่วงโซ่การติดเชื้อ และทำให้เป็นมาตรฐานระดับโลกภายใต้นโยบายหลักที่มอบหมายโดยสีจิ้นผิง

 

  • อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่นาน จีนได้เริ่มผ่อนปรนมาตรการบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเชื้อหมู่จำนวนมากและมาตรการกักกันโรค โดยพยายามหลีกเลี่ยงการบังคับใช้มาตรการเข้มงวดทั้งหมด เช่น การล็อกดาวน์แบบปิดเมือง แบบเดียวกับที่เกิดกับประชากร 25 ล้านคนในเซี่ยงไฮ้

 

  • โดยหลายเมืองได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ปรับให้เข้ากับท้องถิ่นมากขึ้น แต่ก็มักจะดำเนินการล็อกดาวน์แบบไม่แจ้งล่วงหน้า เช่น ในกรุงปักกิ่งมีชาวบ้านจำนวนมากเปิดเผยว่า พวกเขาได้รับแจ้งก่อนหน้านี้ไม่นาน เกี่ยวกับการล็อกดาวน์พื้นที่เป็นเวลา 3 วัน

 

  • ทางด้านนักวิเคราะห์ของ Nomura Holdings, Inc. บริษัทการเงินและการลงทุนของญี่ปุ่น ประเมินว่า มากกว่า 1 ใน 5 ของ GDP ทั้งหมดของจีนนั้นอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใหญ่เกินขนาดเศรษฐกิจของอังกฤษ

 

  • “การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบสไตล์เซี่ยงไฮ้สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่อาจถูกแทนที่ด้วยการล็อกดาวน์บางส่วนบ่อยขึ้นในเมืองต่างๆ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้น” นักวิเคราะห์ของ Nomura ระบุ พร้อมทั้งปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนในปีหน้าเหลือ 4.0% จาก 4.3%”

 

แฟ้มภาพ: STR / AFP


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X