×

‘Didi Chuxing’ เมื่อรัฐจีนคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยี ‘เหนือฟ้ายังมีฟ้า’

21.07.2021
  • LOADING...
Didi Chuxing

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • Didi Chuxing หรือ ตีตี ชูสิง เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติจีน ผู้ให้บริการเรียกรถโดยสารจำพวกแท็กซี่ รถส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน ที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่ที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่งของโลก
  • ในที่สุด Didi (DIDI) ก็เข้าเทรดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สำเร็จเมื่อวันพุธที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเปิดราคาที่ 16.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น
  • 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้ออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการ App Store ต่างๆ ในประเทศ ดำเนินการถอดถอนแอปพลิเคชันของ Didi Chuxing ลงจากแพลตฟอร์มในประเทศจีนให้หมด เนื่องจากพบว่ามีความผิดฐานเก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน
  • ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของทั้งสองฝ่ายคือ ‘ข้อมูล’ เนื่องจาก Didi Chuxing มีความพิเศษกว่าบริษัทเทคโนโลยีจีนรายอื่นๆ ในแง่ของข้อมูลที่พวกเขามี

นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ‘Didi Chuxing (ตีตี ชูสิง)’ สตาร์ทอัพผู้ให้บริการเรียกรถโดยสารจำพวกแท็กซี่ รถส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชันจากประเทศจีนดูจะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด โดนมรสุมแรงกดดันจากรัฐบาลจีนเล่นงานหนักอ่วมเอาเรื่องเป็นพิเศษ 

 

แต่ก่อนจะมาอธิบายกันอย่างละเอียดว่าชะตากรรมที่ Didi กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คืออะไร สะท้อนถึงนัยซ้อนเร้นในเชิงการเมือง สงครามระหว่างประเทศ หรือภูมิรัฐศาสตร์แค่ไหน เราขอพาคุณไปทบทวนกันอีกสักครั้งว่า Didi คืออะไร ไล่เรียงย้อนดูไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่ามีที่ไปที่มาเช่นไร

 

 

ใครคือ Didi?

Didi Chuxing หรือ ตีตี ชูสิง เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติจีน ผู้ให้บริการเรียกรถโดยสารจำพวกแท็กซี่ รถส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน ที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่ที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่งของโลก (Ride-hailing Company: แบบเดียวกับ Uber หรือ Grab นั่นแหละ)

 

จุดเริ่มต้นของ Didi เกิดขึ้นในปี 2012 เมื่อซีอีโอและผู้ก่อตั้ง เจิ้งเหว่ย (Cheng Wei) อดีตพนักงานตำแหน่งผู้จัดการภูมิภาคของ Alibaba B2B และรองผู้จัดการทั่วไปของ Alipay ลูกหม้อของ Alibaba ที่อยู่กับบริษัทมานานกว่า 8 ปีเต็ม ตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง BeiJing XiaoJu Keji Co. มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเดินทางปลอดภัย ง่าย สะดวกสบาย และยั่งยืน ในชื่อ Didi Dache โดยถือเป็นแอปแอปพลิเคชันที่เริ่มต้นพัฒนาบริการเรียกรถรายแรกๆ ในประเทศจีน

 

ในปี 2015 DiDi Dache ได้ผนวกรวมกิจการกับคู่แข่งอย่าง Kuaidi Dache ก่อนจะเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น Didi Chuxing โดยชื่อเป็นการเล่นคำกับเสียงพ้องของการบีบแตร (ตีตี) ส่วน Chuxing ในภาษาจีนหมายถึงการเดินทาง (Mobility)

 

อีกหนึ่งปีถัดมา Didi ได้เข้าซื้อกิจการของคู่แข่งจากโลกตะวันตก Uber China ด้วยมูลค่าดีล 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการที่ Uber จะถอนทัพตัวเองออกจากจีน แต่ได้สิทธิ์เข้าถือหุ้นใน Didi แทนในสัดส่วนกว่า 15.4% (คล้ายๆ กับกรณีที่ Uber ดีลกับ Grab ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง)

 

Didi Chuxing

เจิ้งเหว่ย ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Didi Chuxing

 

ปัจจุบัน Didi กลายเป็นแอปพลิเคชันเรียกรถเบอร์ต้นๆ ของโลก การันตีด้วยยอดผู้ใช้งาน (Annual Active Users) รวมทั้งโลกที่กว่า 493 ล้านราย (3 ใน 4 มาจากผู้ใช้งานในประเทศจีนเป็นหลัก) และให้บริการในกว่า 16 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมบราซิล รัสเซีย และเม็กซิโก

 

โดยนอกเหนือจากบริการเรียกรถทั่วๆ ไปแล้ว พวกเขาก็ยังมีบริการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น Bike-Sharing (ให้เช่าจักรยาน), DiDi Food (ส่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรี) และ DiDi Financial Services (บริการการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล, ประกันรถ และประกันสุขภาพ เป็นต้น)

 

ขณะที่ข้อมูลจากการเปิดเผยของ Didi กับนักลงทุนก่อนยื่นไฟลิงเพื่อทำ IPO นั้นระบุว่า 

  • พวกเขามีจำนวนผู้ใช้งาน Active Users รวมที่ 600 ล้านราย สูงกว่าคู่แข่งอย่าง Uber ที่มีผู้ใช้งาน 93 ล้านราย 
  • มีจำนวนผู้ขับ Active Users ที่ระดับ 15 ล้านราย สูงกว่า Uber ซึ่งอยู่ที่ 3.5 ล้านราย
  • มีอัตราการเข้าถึงแพลตฟอร์มและบริการมากกว่า Uber ถึง 4-6 เท่าตัว 

 

ส่วนผลประกอบการในช่วง 3 ปีหลังสุด (2018-2020) มีรายละเอียดดังนี้

    • 2018: รายรับรวม 135,288 ล้านหยวน ขาดทุน 14,978 ล้านหยวน
    • 2019: รายรับรวม 154,786 ล้านหยวน ขาดทุน 9,728 ล้านหยวน
    • 2020: รายรับรวม 141,736 ล้านหยวน ขาดทุน 10,514  ล้านหยวน
  • Q1 2021: รายรับรวม 20,472 ล้านหยวน กำไรสุทธิ 5,483 ล้านหยวน*

 

*เริ่มกลับมาทำกำไรในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด

 

ขณะที่ข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทของ Didi ประกอบด้วย

  • SoftBank Vision Fund: 
    • สัดส่วนหุ้น 21.5% มูลค่า (คาดการณ์) 15,000-21,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • Uber: 
    • สัดส่วนหุ้น 12.8% มูลค่า (คาดการณ์) 9,000-12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • Tencent: 
    • สัดส่วนหุ้น 6.8% มูลค่า (คาดการณ์) 4,800-6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

IPO ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อแผนโตของ Didi ไม่สวยงามเหมือนภาพฝัน

หลังมีข่าวลือระแคะระคายมาโดยตลอด ในที่สุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Didi ก็ได้ดำเนินการยื่นไฟลิงแบบ Confidential กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพื่อเตรียมเข้า IPO เป็นที่เรียบร้อย โดย ณ เวลานั้นมีการประเมินกันว่ามูลค่าบริษัทหลังเข้าตลาดแล้วน่าจะอยู่ที่ 70,000-100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

การที่ Didi เลือก IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เพื่อที่จะช่วยเพิ่มดีกรีของบริษัทให้เป็นที่ยอมรับของบรรดานักลงทุนระดับโลก รวมถึงแผนการนำเงินลงทุนมาช่วยเร่งการเติบโต ขยายการให้บริการในตลาดยุโรปตะวันตก และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก (เป้าหมายของเจิ้งเหว่ย เคยให้สัมภาษณ์กับ BBC เมื่อปี 2018 ไว้ว่า อยากพา Didi ให้ขยายไปช่วยแก้ปัญหาการเดินทางของผู้คนทั่วทั้งโลกในทุกประเทศ) 

 

ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี บริการของพวกเขาให้พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกจุด ทันท่วงที นอกจากนี้ ระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ก็ยังทำได้เร็วกว่าการจดทะเบียนในตลาหหุ้นจีนอีกต่างหาก (ในเชิงเปรียบเทียบกันคือ สหรัฐฯ ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ ส่วนจีนนานหลายเดือน)

 

ในที่สุด Didi (DIDI) ก็เข้าเทรดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สำเร็จเมื่อวันพุธที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเปิดราคาที่ 16.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจากราคาเสนอขายที่ 19% (14 ดอลลาร์สหรัฐ) ก่อนจะปิดตลาดที่ราคา 14.14 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 1% จากราคาเปิดตลาด ส่งผลให้มูลค่าบริษัทรวมตามราคาตลาดในช่วงดังกล่าวหรือ Market Cap มีมูลค่าอยู่ที่ 67,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่ามูลค่าการประเมินในช่วงยื่นไฟลิงอยู่พอสมควร

 

แต่นั่นดูจะไม่เป็นประเด็นที่สลักสำคัญหรือกลายเป็นวาระใหญ่โตของ Didi เลยแม้แต่น้อย เมื่อเทียบกับปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญในอีก 2 วันถัดมา

 

ศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2021 Didi ได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทกำลังถูกหน่วยงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน (Cyberspace Administration of China: CAC) ดำเนินการตรวจสอบด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งในระหว่างที่กำลังทำการตรวจสอบนี้ พวกเขาจะไม่สามารถเปิดรับสมัครผู้ใช้งานรายใหม่ในประเทศจีนเข้าสู่แพลตฟอร์มได้

 

แม้ว่าทาง Didi จะไม่ได้ออกมาเปิดเผยว่าข้อหาที่พวกเขาต้องถูกสอบสวนโดยหน่วยงาน CAC คืออะไร แต่สื่ออย่าง South China Morning Post ก็เชื่อกันว่า ประเด็นที่ Didi ถูกเดินหน้าสืบสวนมาจาก 3 กรณี (ข้อหา) 

  • ข้อหาแรก: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่ควบคุมข้อมูลด้านแผนที่ภูมิศาสตร์ของประเทศโดยตรง มองว่าข้อมูลแผนที่ที่ Didi ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมบนแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการในการเดินทางนั้นอาจจะเป็นข้อมูลที่เข้าข่ายประเภท Sensitive Data หรือเป็นชุดข้อมูลที่มีความอ่อนไหว และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงประเทศ
  • ข้อหาที่สอง: กระทรวงคมนาคมมองว่าบริการแท็กซี่ผ่านแพลตฟอร์ม Didi อาจจะเข้าข่ายการละเมิดกฎการออกใบอนุญาตขับแท็กซี่และการจดทะเบียนแท็กซี่ได้
  • ข้อหาที่สาม: เข้าข่ายการละเมิดการเก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน

 

อย่างไรก็ดี วาระซ่อนเร้นที่ South China Morning Post เชื่อว่านำไปสู่การตั้งข้อหาสอบสวนในครั้งนี้ น่าจะมาจากการที่ Didi เลือกตัดสินใจไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดหุ้นจีน ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมาจีนมีความต้องการที่จะลดการพึ่งพาสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งทำให้หน่วยงานรัฐบาลจีนเกิดความไม่พอใจ และใช้ประเด็นความมั่นคงทางภัยไซเบอร์มาเล่นงาน Didi แทน

 

แม้นักวิเคราะห์จะบอกว่ายัง ‘เร็วเกินไป’ ที่จะคาดการณ์ว่าการตรวจสอบ เปิดฉากสืบสวนโดยรัฐบาลจีนในครั้งนี้จะพา Didi ไปจอดที่ปลายทางใด

 

แต่รัฐบาลจีนกลับพา Didi ขึ้นทางด่วน และมีคำตอบให้ Didi เร็วกว่านั้น!

 

เมื่ออีก 2 วันถัดมา หรือตรงกับวันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการจีนโดยหน่วยงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน ได้ออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการ App Store ต่างๆ ในประเทศ ดำเนินการถอดถอนแอปพลิเคชันของ Didi Chuxing ลงจากแพลตฟอร์มในประเทศจีนให้หมด เมื่อสอบสวนแล้วพบว่า Didi มีความผิดจริง ฐานเก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน ซึ่งเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายของหน่วยงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีนและรัฐบาลจีนโดยตรง

 

คำสั่งของรัฐบาลจีนในครั้งนี้จะทำให้ผู้ใช้งานในจีนรายใหม่ๆ ที่ยังไม่มีแอปพลิเคชันของ Didi เสิร์ชหาแอปพลิเคชันของ Didi ไม่เจอ ดาวน์โหลดลงบนสมาร์ทโฟนของตัวเองไม่ได้ แต่ผู้ใช้งานเก่าของ Didi ที่โหลดตัวแอปพลิเคชันไว้ก่อนหน้าอยู่แล้วจะยังสามารถใช้บริการ Didi ได้ต่อไปตามปกติ

 

ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นจะมีผลบังคับใช้เฉพาะประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมเท่านั้น ขณะที่ในประเทศอื่นๆ ที่เหลือทั่วโลก Didi จะยังให้บริการได้ตามเดิมต่อไป

 

โดย Didi ให้คำมั่นสัญญาผ่านแถลงการณ์ไว้ว่า พวกเขาจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปรับปรุงเพื่อป้องกันความเสี่ยงและความสามารถทางเทคโนโลยีของบริษัท ไปจนถึงป้องกันข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานด้วยมาตรการที่เข้มงวดขึ้น และจะยังคงให้บริการผู้บริโภคในจีนต่อไป

 

แต่โดยสรุปแล้ว Didi เชื่อว่าคำสั่งของรัฐบาลจีนจะส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัทอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน

 

5 วันถัดมา ในวันที่ 9 กรกฎาคม Didi ยังโดนรัฐบาลจีนเล่นงานต่อเนื่อง เมื่อหน่วยงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีนได้ประกาศว่า Didi จะต้องนำแอปพลิเคชันที่ดำเนินงานโดยพวกเขารวมกว่า 25 แอปพลิเคชันออกจาก App Store ของผู้ให้บริการระบบทุกราย (ครอบคลุมแอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้งานและคนขับ) เนื่องจากพบว่า Didi ได้กระทำความผิดร้ายแรงในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งขัดต่อกฎหมายของ PRC Cybersecurity Law

 

Didi Chuxing

นับจนถึงข้อมูลล่าสุดในช่วงปิดตลาด ณ วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ราคาหุ้นของ Didi แตะอยู่ที่ระดับ 11.24 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดิ่งหนักสุด ปิดที่ 11.06 ดอลลาร์สหรัฐ

 

แรงกดดันที่ส่งผลกระทบกับความมั่นใจของ ‘นักลงทุน’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลพวงที่ตามมาอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อ Didi ถูกรัฐบาลจีนเล่นงานอย่างหนัก คือความมั่นใจของนักลงทุนที่หดหายลงตามไปด้วย เนื่องจากฝั่ง Didi เองก็ยอมรับว่าคำสั่งของรัฐบาลที่เกิดขึ้น แม้จะบังคับใช้เฉพาะในประเทศจีน ไม่ได้มีผลกับประเทศอื่นๆ ที่พวกเขาให้บริการ แต่ก็จะส่งผลกระทบกับรายได้ของพวกเขาแน่นอน 

 

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันรายได้กว่า 90% ของบริษัทยังคงมาจากตลาดประเทศจีนเป็นหลักด้วย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ARK Investment เพิ่งประกาศลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีจีนลงมาในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 1% ของการลงทุนทั้งหมด (กุมภาพันธ์ 2021 ถือหุ้นเทคโนโลยีจีนในระดับ 8%) โดย แคธี วูด ผู้บริหารกอง ARK มองว่า มูลค่าหุ้นเทคโนโลยีจีน แม้จะปรับลดลงมาบ้าง แต่ยังมีโอกาสที่จะลดลงได้อีก  

 

ด้าน ธนพล ศรีธัญพงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย Investment Strategy, Research and Asset Allocation, CIO บล.ไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ต่อประเด็นการเข้ามาตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีโดยทางการจีนไว้ว่า “จุดเลวร้ายสุดสำหรับหุ้นเทคโนโลยีจีนน่าจะผ่านไปแล้ว และในภาพใหญ่เชื่อว่าทางการจีนไม่ได้ต้องการที่จะทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่เติบโตอีกต่อไป เพราะแผนระยะยาวของจีนยังคงมุ่งเน้นในด้านนวัตกรรม เพียงแต่การเข้ามาควบคุมนี้เพื่อต้องการให้รายเล็กสามารถพัฒนาได้ด้วย (ต้านการผูกขาด)” 

 

Didi Chuxing

ภาพประกอบจากบทความ
‘ส่องอนาคต ‘หุ้นเทคฯ จีน’ ในวันที่ทางการตรวจสอบเข้มข้น กดดันราคาร่วงหนัก แต่อาจเป็นโอกาสของผู้ลงทุนระยะยาว’

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้จัดการกองทุนไทยประเมินว่า ระยะสั้น หุ้นเทคโนโลยีจีนอาจจะยังมีแรงกดดันจากการตรวจสอบของทางการจีนอยู่ แต่หากเป็นผู้ลงทุนระยะยาวแล้ว โอกาสที่ราคาหุ้นเทคโนโลยีจีนย่อยตัวลงมาเช่นนี้ถือเป็นจังหวะเหมาะที่จะเข้าลงทุน

 

“ในระยะสั้น หุ้นเทคโนโลยีจีนอาจจะยังไม่สดใสนัก แต่สำหรับระยะยาวค่อนข้างน่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาหุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้ลดลงมาซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ซึ่งปกติจะไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก

 

“มีหุ้นหลายบริษัทที่มีนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ดังนั้นหากนักลงทุนยังเชื่อใน Short-Term Pain But Long-Term Gain หุ้นในหมวดเศรษฐกิจใหม่และเทคโนโลยีจีนน่าจะเป็นหุ้นหมวดหนึ่งที่จะตอบโจทย์การลงทุนระยะยาวได้ค่อนข้างดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและเติบโตของจีน” 

 

Didi Chuxing

 

เหยื่อสงครามเทคโนโลยี จีน-สหรัฐฯ ที่มี ‘ข้อมูล’ และภูมิรัฐศาสตร์เป็นเดิมพัน!

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลจีนใช้ยาแรงกับ Didi คาดการณ์กันว่ามาจากความไม่พอใจที่ผู้ให้บริการเรียกรถผ่านมือถือรายนี้เลือก IPO เข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นตลาดหุ้นจีน เซี่ยงไฮ้ หรือฮ่องกง

 

สะท้อนได้จากการที่รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายใหม่โดยเพ่งเล็งไปที่บริษัทเทคโนโลยี และบริษัทที่มีข้อมูลผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านคนที่มีแพลนจะ IPO เข้าตลาดหุ้นต่างประเทศว่าจะต้องยื่นเรื่องให้ทางการจีนอนุมัติเสียก่อน โดยเฉพาะการเข้ารับการตรวจสอบโดยหน่วยงานด้านภัยไซเบอร์ เนื่องด้วยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ข้อมูลมหาศาลที่ Sensitive เหล่านั้น ตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมและการแสวงประโยชน์ของรัฐบาลต่างประเทศได้ และจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ

 

ซึ่งในความเห็นของผู้สันทัดกรณีและนักวิเคราะห์เชื่อว่า คำสั่งนี้จะส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีและบริษัทจีนอีกมาเลือกที่จะไปยื่นเข้า IPO ในตลาดหุ้นฮ่องกงแทนสหรัฐฯ​ ไปโดยปริยาย

 

เฟิงชูเฉิง (Feng Chucheng) พาร์ตเนอร์บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Plenum ในปักกิ่ง สะท้อนความเห็นกับ Bloomberg ว่า “กฎเกณฑ์นี้จะผลักดันให้บริษัทจีนหลายแห่งเลือกที่จะลิสต์เข้า IPO ตลาดหุ้นฮ่องกงแทนตลาดในประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบโดยทางการ

 

“และไม่ต้องสืบเลย เพราะการระบุว่าบริษัทที่เข้าข่ายจะต้องถูกตรวจสอบและยื่นเรื่องขออนุมัติจากรัฐบาลจีนก่อน IPO ในต่างประเทศนั้นจะต้องมีผู้ใช้งาน 1 ล้านรายขึ้นไป ถือเป็นหลักไมล์ที่ต่ำมากๆ กับบริษัทเทคโนโลยีในจีนทุกแห่งที่เล็งจะ IPO”

 

ด้าน พอล กิลลิส ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการกวางหัวแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งในกรุงปักกิ่ง คาดการณ์ว่า ไม่น่าจะมีบริษัทจีนเข้าจดทะเบียนในสหรัฐฯ ในช่วงอีก 5-10 ปีข้างหน้า นอกเหนือไปจากที่บริษัทใหญ่ๆ 2-3 แห่ง ซึ่งน่าจะเป็นการจดทะเบียนซ้ำอีกรอบในตลาดรองมากกว่า

 

ส่วนกรณีของ Didi เราอาจจะได้เห็นมาตรการที่ชัดเจนมากขึ้นกว่านี้จากรัฐบาลจีน ที่จะมีการประกาศออกมาในอีก 1-2 เดือนต่อจากนี้

 

นอกเหนือจากนี้ THE STANDARD WEALTH ยังมีโอกาสได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นจาก ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกรณีของ Didi Chuxing ว่าในมุมของเขา ปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังสะท้อนประเด็นใดกันแน่

 

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าตอนนี้ปัจจัยที่สำคัญที่สุดและทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของทั้งสองฝ่ายคือ ‘ข้อมูล’ เนื่องจาก Didi Chuxing มีความพิเศษกว่าบริษัทเทคโนโลยีจีนรายอื่นๆ ในแง่ของข้อมูลที่พวกเขามี

 

“ถ้าเราถามว่า Didi Chuxing มีข้อมูลอะไรที่น่ากังวล พวกเขามีทั้งข้อมูลคนขับ ผู้ใช้บริการ ตัวรถยนต์ ซึ่งมีกล้องบันทึกวิดีโอทั้งภายในรถและนอกรถ 

 

“Didi Chuxing ยังได้รับสิทธิ์การจัดทำข้อมูลแผนที่ในประเทศจีน ซึ่งจะมีความละเอียดอ่อนมาก เนื่องจากถ้าเรามองในเชิงข้อมูลแผนที่มันก็จะมีประเด็นที่ตั้ง ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ฐานทัพ ซึ่งบริษัท Didi Chuxing มีข้อมูลเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นมาของรัฐบาลจีนว่า การที่ Didi Chuxing เข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในอนาคตจะนำไปสู่ปัญหาใดตามมาอีกที่เกี่ยวกับความมั่นคง ความปลอดภัยของข้อมูลละเอียดอ่อนเหล่านี้ที่รัฐบาลจีนมี”

 

สำหรับภาพที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ในประเด็นบริษัทเทคโนโลยีจีนและการเข้าลิสต์ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ VS. รัฐบาลจีนนั้น ดร.อาร์มตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็นด้วยกัน

  1. บริษัทเทคโนโลยีจีนที่มีขนาดใหญ่โตอยู่แล้วจะถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีนมากขึ้น – โดยที่การจัดการโดยรัฐบาลจีนจะไม่ใช้วิธีการทำลายบริษัทเหล่านี้ไปโดยสิ้นเชิง แต่จะเป็นในเชิงการจำกัดความเสี่ยง เลี่ยงการเติมทุนมหาศาลในช่วงระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะยากต่อการควบคุมของรัฐบาลจีน ตัวอย่างเช่น กรณีของ Ant Group ที่รัฐบาลจีนพยายามจะเข้าไปปรับโครงสร้างองค์กร ลดการผูกขาดในตลาด และปรับให้การดำเนินงานถูกควบคุมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ Regulator โดยตรง แต่ทุกวันนี้สถานะของ Ant Group ก็ยังคงเป็นฟินเทคเบอร์ต้นๆ ของโลกเช่นเคย

 

  1. บริษัทใหม่ๆ ของจีนจะมีอุปสรรคมากขึ้นในการก้าวขึ้นมาเป็นยูนิคอร์น หรือ IPO ได้ด้วยมูลค่าประวัติศาสตร์ – เนื่องจากกฎหมายความมั่นคงข้อมูลที่ได้ประกาศใช้ออกมาแล้ว รวมถึงกฎหมายความปลอดภัยข้อมูลผู้บริโภคที่กำลังจะผ่านออกมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทเทคโนโลยีจีน (ในเชิงความเชื่อมั่น) แต่ในแง่หนึ่งก็จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีนหน้าใหม่รายแห่งอาจจะโตได้ช้าลง ไม่หวือหวาเหมือนในอดีต

 

Didi Chuxing

 

“ผมคิดว่าการโตแบบหวือหวาสำหรับบริษัทเทคโนโลยีในจีนไม่ว่าใหญ่หรือเล็กก็จะเป็นเรื่องที่ยากแล้ว

 

“ก่อนหน้านี้เราเคยพูดกันว่า Ant Group จะกลายเป็นอีกหนึ่ง IPO ครั้งประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และมีมูลค่ามหาศาลสูงเป็นลำดับต้นๆ ครั้งหนึ่งของโลก แต่ในมุมมองของรัฐบาลจีน เขามองว่ามูลค่ามหาศาลก็ย่อมมาพร้อมกับ ‘ความเสี่ยงมหาศาล’ ด้วย ทั้งต่อการควบคุม ความใหญ่ของทุน ประเด็นข้อมูล และการส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน

 

“ผมเชื่อว่าสำหรับรัฐบาลจีนแล้ว สุดท้ายต้องการ ‘เสถียรภาพ’ มากกว่าความใหญ่หรือความหวือหวา สุดท้ายแล้วมันก็จะเป็นภาพลักษณ์เช่นนี้ต่อไปของความมุ่งหมายของรัฐบาลจีนในปัจจุบัน” ดร.อาร์มกล่าวทิ้งท้าย

 

‘เหนือฟ้าย่อมมีฟ้า’ สุภาษิตนี้น่าจะเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีจีนหลายแห่ง โดยเฉพาะ Didi Chuxing ได้ดีที่สุด

 

เพราะต่อให้เป็นบริษัทที่มีศักยภาพจะเติบโตมากแค่ไหน ดึงดูดนักลงทุนได้น่าสนใจหอมหวนเย้ายวนสุดๆ เพียงใด แต่สำหรับรัฐบาลจีนแล้ว บริษัทเหล่านั้นก็จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยพวกเขาอยู่ดี

 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากปันใจไปหาศัตรูของประเทศอย่างสหรัฐฯ บทสรุปที่เกิดขึ้นก็น่าจะจบไม่สวย เหมือนที่ Didi Chuxing กำลังผจญในวังวนตอนนี้แน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising