×

ดิก ฟอสบิวรี มนุษย์ที่โชว์ให้ทุกคนเห็นว่าเรายังบินสูงขึ้นได้อีก

16.03.2023
  • LOADING...
ดิก ฟอสบิวรี

ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ มีการแชร์เหรียญรางวัลกันเกิดขึ้นในกีฬาประเภทกระโดดสูงระหว่าง จานมาร์โก แทมเบรี นักกีฬากระโดดสูงชาวอิตาลี กับ มูตาซ บาร์ชิม นักกีฬากระโดดสูงทีมชาติกาตาร์ 

 

เหรียญทองโอลิมปิกไม่ใช่เพียงอย่างเดียวที่พวกเขามีร่วมกัน แต่มีอีกอย่างคือท่ากระโดดที่ลอยตัวขึ้น และเอาหลังด้านบนขึ้นไปข้ามบาร์กำหนดความสูง ก่อนจะโรยตัวลงมา เพื่อแข่งขันกันให้ได้ความสูงที่สุด 

 

เทคนิคนี้มีชื่อว่า ‘Fosbury Flop’ ที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกเกมส์เมื่อปี 1968 จากนักกรีฑาทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า ดิก ฟอสบิวรี 

 

กระโดดสูงก่อน Fosbury Flop เป็นอย่างไร 

 

ดิก ฟอสบิวรี

 

ก่อนที่จะมาเป็นกระโดดสูงอย่างทุกวันนี้ มีความพยายามหลากหลายรูปแบบ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงการเป็นมนุษย์ที่กระโดดได้สูงสุดที่ในโลก 

 

โดยในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์สมัยก่อน นักกีฬาจะใช้สิ่งที่เรียกว่า Straddle Kick ด้วยการพยายามกระโดดใช้ขาเตะนำให้ได้ความสูง แล้วนำตัวกระโดดข้ามบาร์และเอาหน้าลง ในการแข่งขัน 

 

ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทุกคนในอดีตเชื่อว่าเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้กระโดดได้สูงที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้ 

 

แต่ในโอลิมปิกเกมส์ปี 1968 ฟอสบิวรีได้กระโดดหันหลังให้กับบาร์ งอตัวเป็นรูปตัว J แล้วดีดตัวข้ามไม้กั้นไป และกระโดดลงด้วยหัวและคอที่ถึงพื้นก่อน ซึ่งเป็นท่าที่แตกต่างจากทุกคนในเวลานั้น 

 

ดิก ฟอสบิวรี กับจุดเริ่มต้นของ Fosbury Flop 

 

ดิก ฟอสบิวรี

 

ดิก ฟอสบิวรี เกิดและเรียนมัธยมในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา เขาเริ่มต้นทดลองเทคนิคการกระโดดสูงรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อายุ 16 ปี ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 4 เขากระโดดไม่ผ่านความสูงที่ 1.52 เมตร ซึ่งเป็นความสูงมาตรฐานสำหรับการแข่งขันระดับมัธยม 

 

เขาประสบปัญหาอย่างหนักกับการกระโดดในรูปแบบของ Straddle Kick ที่ต้องวิ่งขนานไปกับจุดที่ต้องกระโดดและเตะขาขึ้นไปในอากาศ จนเขาต้องเริ่มต้นทดลองรูปแบบอื่นๆ ในการกระโดดสูง 

 

“ผมรู้ว่าผมต้องลองเปลี่ยนท่าทางของร่างกาย นั่นคือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง และ 2 ปีต่อมาคือการปฏิวัติ” ฟอสบิวรีกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเขากับเทคนิคการกระโดดใหม่ 

 

เขาได้ทดลองรูปแบบต่างๆ รวมถึง Upright Scissors ที่วิ่งตรงไปหาจุดกระโดด และ กระโดดยกขาข้ามบาร์ที่ละข้างข้ามไป ซึ่งตามกฎคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ข้ามบาร์ไปอีกฝั่งหนึ่ง 

 

ดิก ฟอสบิวรี ได้ทดลองหลายรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับท่า Straddle Kick แบบเดิมที่ทุกคนใช้ในตอนนั้น 

 

แต่จากความพยายามทดลองทุกรูปแบบ ทำให้ผลงานของเขาค่อยๆ ดีขึ้น จนสุดท้าย เขาก็ได้ทดลองกระโดดหันหลังและใช้เท้าถีบตัวเองขึ้น 

 

ซึ่งตรงกับช่วงที่การแข่งขันเปลี่ยนพื้นรองจากไม้สับเป็นวัสดุที่นุ่มขึ้น ทำให้เขาสามารถกระโดดลงบนหลังและหัวของเขาได้ปลอดภัยขึ้น 

 

“เขาคืออัจฉริยะ” อีริก ไคนาร์ด เจ้าของเหรียญทองกระโดดสูง โอลิมปิกเกมส์ 2012 กล่าว 

 

“และตอนนั้นคุณต้องใช้ความกล้าหาญอย่างแน่นอน เพราะการพยายามทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่อันตรายในช่วงเวลาที่อุปกรณ์ยังเป็นแบบนั้น การทดลองของเขาจึงเป็นสิ่งที่ก้าวเข้าใกล้ขีดจำกัดมากๆ” 

 

นับว่าเป็นโชคดีของฟอสบิวรีที่ช่วงนั้นการเปลี่ยนพื้นรองของนักกีฬาจากไม้สับเป็น ฟองน้ำได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้นักกีฬากระโดดลงได้อย่างปลอดภัยขึ้น และทำให้เขาสามารถกระโดดเอาหลังลงได้

 

แต่เขาก็ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังในช่วงปี 1960 เพราะไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะสามารถเปลี่ยนแปลงวัสดุพื้นรองได้เหมือนกันหมด แต่ยังดีที่เขาฟื้นตัวกลับมาแข่งขันได้ 

 

ตอนแรกโค้ชก็อยากให้ฟอสบิวรีกลับมาใช้เทคนิคกระโดดแบบมาตรฐาน แต่สุดท้ายก็ยอมเปลี่ยนใจเมื่อสถิติของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ ในการแข่งขันระดับที่สูงขึ้น

 

จนกระทั่งในปี 1964 ท่ากระโดดของเขาได้รับฉายาว่า Fosbury Flop เมื่อนิตยสาร Medford Mail Tribune ลงภาพท่ากระโดดของเขา พร้อมแคปชันว่า ‘Fosbury Flops Over Bar’ จากนักข่าวที่มองว่าท่ากระโดดของเขาเหมือนกับปลาที่กระโดดอยู่บนเรือ แต่บางนิตยสารก็ใช้คำว่า ‘ท่ากระโดดที่ดูขี้เกียจที่สุดในโลก’ 

 

ในช่วงมหาวิทยาลัย โค้ชหลายคนก็ยังต้องการให้เขาเลิกเทคนิคนี้ แต่พอเห็นเขาทำลายสถิติมหาวิทยาลัยที่ความสูง 2.08 เมตร โค้ชก็ให้เขาใช้เทคนิคนี้ต่อ และนำเทคนิคนี้ไปสอนเยาวชนในทีมด้วย 

 

เขาก้าวต่อไปเป็นแชมป์ประเทศในระดับมหาวิทยาลัยติดต่อกันถึง 2 ครั้ง และคว้าแชมป์การคัดตัวไปเป็นนักกีฬาทีมชาติสหรัฐฯ และเขาก็ติดทีมชาติสหรัฐฯ ไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์สมัยแรกที่เม็กซิโกในปี 1968 

 

โอลิมปิก 1968 ที่เม็กซิโก วันที่การแข่งขันกระโดดสูงเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล 

 

ดิก ฟอสบิวรี

 

ดิก ฟอสบิวรี เป็น 1 ใน 3 ตัวแทนนักกรีฑาประเภทกระโดดสูงของสหรัฐฯ ในโอลิมปิกเกมส์ ปี 1968 ที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก

 

แน่นอนท่าของเขาในโอลิมปิกเกมส์ถูกตั้งคำถามเป็นอย่างมาก แต่สุดท้ายก็ได้รับการยอมรับเมือเขาผ่านเข้ารอบชิงฯ 

 

รอบชิงชนะเลิศมีนักกีฬาลงแข่งขันทั้งหมด 3 คน 2 คน คือ ดิก ฟอสบิวรี และ เอ็ด คารูเทอร์ จากสหรัฐฯ และ วาเลนติน กาวริลอฟ จากสหภาพโซเวียต 

 

ในการกระโดดที่ความสูง 2.22 เมตร กาวริลอฟคือคนเดียวที่กระโดดไม่พ้นบาร์ ทำให้ต้องไปตัดสินกับที่ความสูง 2.24 เมตร สถิติใหม่ของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 

 

ซึ่งมีเพียง ดิก ฟอสบิวรี ที่กระโดดพ้นบาร์และคว้าเหรียญทองไปครองในครั้งนั้น แต่ไม่เพียงพอ เขาขอให้ยกบาร์ขึ้นไปที่ความสูง 2.29 เมตร เพื่อหวังทำลายสถิติโลกในตอนนั้นที่ความสูง 2.28 เมตร แต่เขาทำไม่สำเร็จในการกระโดดทั้ง 3 ครั้ง 

 

Fosbury Flop ตำนานที่เปลี่ยนแปลงวงการกระโดดสูงไปตลอดกาล 

 

ดิก ฟอสบิวรี

 

โอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อมาที่มิวนิก (ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเมืองในเยอรมนีตะวันตก) ในปี 1972 นักกีฬา 28 จาก 40 คน ใช้เทคนิค Fosbury Flop ในการกระโดด และแม้ว่าเหรียญทองโอลิมปิกจะตกเป็นของ ยูริ ทาร์มาก นักกีฬาจากสหภาพโซเวียต ที่ใช้เทคนิคเก่า 

 

แต่โอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อมาในปี 1980 ที่กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต นักกีฬา 13 จาก 16 คน ใช้เทคนิคของ ดิก ฟอสบิวรี และปัจจุบันกลายเป็นเทคนิคที่นักกีฬากระโดดสูงทุกคนใช้ในการแข่งขัน 

 

เขาได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศของกรีฑาสหรัฐฯ เมื่อปี 1981 และได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศของโอลิมปิกเกมส์ในปี 1992 

 

ปี 2015 เรื่องราวของเขาถูกนำมาเล่าใหม่ในเพลง Broken Arrows ของ Avicii 

 

 

นอกจากการเปลี่ยนแปลงวงการกระโดดสูงไปตลอดกาลด้วยเทคนิคใหม่แล้ว เรื่องราวของเขามักจะถูกนำไปเล่าต่อในแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยี ถึงความกล้าที่จะก้าวออกจากกรอบการแข่งขันรูปแบบเดิมๆ หรือการเลิกเดินตามทางที่คนอื่นเคยไปมาแล้ว 

 

เพราะ ดิก ฟอสบิวรี แสดงให้เห็นถึงความกล้าที่จะเชื่อมั่นในหนทางของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดด้วยวิธีของเขาเอง 

 

ในวัยเด็กฟอสบิวรีผลักตัวเองเข้าสู่กีฬา เพื่อเป็นวิธีการรับมือกับการสูญเสียน้องชายอย่าง เกร็ก ฟอสบิวรี ที่ถูกคนเมาขับรถชนระหว่างที่ดิกและเกร็กกำลังปั่นจักรยานด้วยกัน 

 

เขาพยายามเล่นทั้งฟุตบอลและบาสเกตบอล รวมถึงกระโดดสูง ในช่วงแรก แต่ทุกอย่างดูเหมือนจะไม่เวิร์กสำหรับเขา 

 

“เขามองทุกอย่างแตกต่างออกไป” เอริก ฮินต์ซ จากสถาบันศึกษานวัตกรรมแห่งสมิธโซเนียน กล่าว 

 

“และเขามีความกล้าและความมั่นคงทางจิตใจที่จะเชื่อมั่นในทางของเขาเอง แม้ว่าจะพบเจอกับเสียงวิจารณ์” 

 

ขณะที่ บ็อบ เวลช์ นักเขียนอัตชีวประวัติของฟอสบิวรี เชื่อว่า ฟอสบิวรีรับมือกับคนที่ดูถูกสไตล์ของเขาได้เป็นอย่างดี เพราะเสียงวิจารณ์เหล่านี้ไม่เจ็บปวดเท่ากับการสูญเสียน้องชายไป 

 

จนสุดท้ายนวัตกรรมของเขาก็เป็นฝ่ายชนะ และความมุ่งมั่นที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ ยังคงเป็นบทเรียนได้สำหรับทุกคนที่อยากจะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ 

 

“เขาคือนักประดิษฐ์ในระดับเดียวกับ เฮนรี ฟอร์ด ที่คิดค้น Ford Model T ขึ้นมา

 

“เขาคือผู้ที่คิดค้นสิ่งที่เราใช้มาจนถึงทุกวันนี้” อีริก ไคนาร์ด กล่าว  

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ดิก ฟอสบิวรี เสียชีวิตลงในวัย 76 ปี ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 

 

แต่เทคนิคที่เขาคิดค้น ทดลอง และพิสูจน์ จะยังคงอยู่ในฐานะตำนานของวงการกรีฑาโลกตลอดไป 

 

ดิก ฟอสบิวรี

ภาพ: World Athletics 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising