×

เจ้าสัวธนินท์ แห่งเครือ CP ชี้ ‘สหรัฐฯ’ เสี่ยง ‘สูญเสียตำแหน่งผู้นำโลก’ หากการค้ายังป่วนไม่เลิก

13.05.2025
  • LOADING...
เจ้าสัวธนินท์ แห่งเครือ CP ชี้ ‘สหรัฐฯ’ เสี่ยง ‘สูญเสียตำแหน่งผู้นำโลก’ หากการค้ายังป่วนไม่เลิก

มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทยอย่าง เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือ CP Group วัย 86 ปี ออกมาให้มุมมองถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและ ‘สงครามการค้า’ ที่ร้อนระอุ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ซึ่งมีคำเตือนอันน่าจับตาของเขาที่ว่า ‘สหรัฐฯ’ กำลังสุ่มเสี่ยงที่จะ ‘สูญเสียตำแหน่งผู้นำโลก’ ไป หากบรรดาประเทศต่างๆ ถอยฉากจากการลงทุนใน ‘พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ’ ท่ามกลางกำแพงภาษีที่ถูกใช้อย่างไม่ยั้งคิด

 

ในการให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ที่กรุงโตเกียว ธนินท์ชี้ว่าแม้สงครามการค้าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของเครือ CP Group เพียงเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทใช้กลยุทธ์ ‘ผลิตและจำหน่ายในประเทศ’ เป็นหลัก 

 

แต่เขามองว่านโยบาย America First ที่ทรัมป์นำมาใช้นั้นเป็นการทำลายบรรดาประเทศพันธมิตรอย่างเอาแต่ใจ และสั่นคลอนกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการค้าเสรีที่สหรัฐฯ เคยเป็นผู้สร้างและนำมาโดยตลอด

 

เขากล่าวพร้อมเสริมว่า “เขามีทัศนคติที่ประมาทและพร้อมใช้มาตรการภาษีโดยไม่ยั้งคิด” พร้อมย้ำว่ามันคือชัยชนะในระยะสั้นของเขาเท่านั้น แต่ในระยะยาวสหรัฐฯ นั่นแหละที่จะสูญเสีย

 

แม้สหรัฐฯ จะมีหนี้รัฐบาลมหาศาลทะลุ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ธนินท์ยังยืนยันว่าวอชิงตันควรจะยังคงเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกต่อไปได้ ตราบใดที่พันธบัตรของพวกเขายังเป็นเครื่องมือลงทุนที่น่าเชื่อถือที่สุด 

 

แต่คำถามสำคัญที่เขาย้ำคือ “ถ้า (ทรัมป์) กำลัง ‘ล้มกระดาน’ เศรษฐกิจโลก แล้วสหรัฐฯ จะอยู่รอดได้อย่างไร? และใครเล่าจะยังลงทุนในหลักทรัพย์ของตนเอง?” พร้อมเตือนถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นๆ จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

 

ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้า หลายประเทศรวมถึงจีนและญี่ปุ่นได้เข้าหารือเพื่อลดความขัดแย้ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ถือพันธบัตรรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ธนินท์มองว่านี่คือไพ่ตายหรือไม้ตายสุดท้ายที่ญี่ปุ่นสามารถใช้ในการเจรจาต่อรองกับวอชิงตันได้

 

เขากล่าวว่า “ญี่ปุ่นสามารถบอกสหรัฐฯ ได้ว่า หากเศรษฐกิจของตนได้รับความเสียหาย (จากสงครามการค้า) พวกเขาจะไม่สามารถซื้อพันธบัตรได้อีกต่อไป และอาจต้องลดการถือครองลง” 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดจะคาดการณ์ไปต่างๆ นานา แต่ รมว.คลังญี่ปุ่นก็ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า ญี่ปุ่นไม่มีความตั้งใจที่จะนำเรื่องการถือครองหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ มาใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาการค้า

 

สำหรับประเทศไทยเอง แม้จะเผชิญกับภาษีเพิ่มขึ้น 36% ภายใต้นโยบายการค้าแบบตอบโต้ซึ่งกันและกันของทรัมป์ แต่ CP Group ก็ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ธุรกิจหลักคือ “ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นอาหาร” และใช้กลยุทธ์ ‘ผลิตและจำหน่ายในประเทศ’ โดยรายได้กว่า 63% ของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (บริษัทหลักของเครือ CP) ในปี 2024 มาจากต่างประเทศ โดยมีเวียดนามและจีนเป็นตลาดสำคัญ

 

แม้ ‘สงครามการค้า’ ของทรัมป์จะทิ้งเงาทะมึนไว้เหนือเศรษฐกิจโลก แต่ก็สร้าง ‘โอกาส’ ให้กับประเทศต่างๆ เช่นกัน โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งธนินท์มองว่าควรจะมองกลุ่มประเทศ ASEAN ทั้ง 10 ประเทศเป็นตลาดของตนเอง และควรส่งเสริมให้บริษัทการค้าต่างๆ สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กในภูมิภาคนี้ ซึ่งยังคงเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากร

 

แม้จะมีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ธนินท์มองว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อนุรักษนิยม และลังเลที่จะขยายตัวในระดับโลก ญี่ปุ่นช้าเกินไปในการตัดสินใจ ไม่เต็มใจที่จะเสี่ยง และลังเลที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง การลงทุนใหม่ใดๆ ย่อมมีความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสมอ

 

ในทางตรงกันข้าม ธนินท์แสดงความสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในญี่ปุ่น และกำลังพิจารณาความร่วมมือที่เป็นไปได้ โดยชื่นชมรากฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่น ขณะที่ CP Group เองก็กำลังเปิดรับ ‘นวัตกรรม’ ในทุกธุรกิจของตน “นี่คือยุคของนวัตกรรมและการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เราจะหยุดนิ่งไม่ได้เลย” เขากล่าว

 

นอกจากนี้ CP Group ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบริษัทการค้าสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Itochu มาตั้งแต่ปี 2014 ผ่านการถือหุ้นไขว้ แม้ Itochu จะประกาศในเดือนเมษายนว่าจะขายหุ้นทั้งหมดใน CP ภายในเดือนมีนาคม 2026 และ CP ก็มีแผนจะขายหุ้นใน Itochu เช่นกัน แต่ทั้งสองบริษัทก็ยืนยันว่าจะยังคงความร่วมมือทางกลยุทธ์ต่อไป

 

สำหรับสถานะส่วนตัว ธนินท์ครองตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย จากการจัดอันดับของ Forbes ประจำปี 2025 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินราว 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising