×

ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคม ที่เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทย จากยุค 2G มุ่งหน้าสู่ 5G ในอนาคต [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ย้อนกลับไปในยุค 2G หรือประมาณ 3 ทศวรรษก่อน ประเทศไทยเคยเกือบเสียโอกาสครั้งสำคัญทางเทคโนโลยี หาก ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คนปัจจุบัน ไม่ตัดสินใจเดินหน้ากับ ‘ธุรกิจใหม่ที่ท้าทาย’
  • การเกิดขึ้นของ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเทคโนโลยีโทรคมนาคมของประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของธนินท์ ที่เปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจการของเครือซีพี จากธุรกิจเกษตรและอาหาร ขยายมาสู่กิจการโทรคมนาคม
  • การขยายโครงข่ายโทรศัพท์เป็นก้าวย่างสำคัญที่จะพลิกเปลี่ยนประเทศไปสู่อนาคตแห่งการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ตรงกับ ‘หลักการ 3 ประโยชน์’ ซึ่งหมายถึง ‘ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ และบริษัทได้ประโยชน์’ อย่างที่เขายึดถือมาโดยตลอดในการทำธุรกิจ

ขณะที่ไทยเตรียมเดินหน้านโยบาย Thailand 4.0 เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีการสื่อสารจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

รัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงเร่งผลักดันอย่างจริงจังให้เกิดเทคโนโลยี 5G ภายในปี 2563 เพื่อเร่งขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

แม้อนาคตจะยังมาไม่ถึง แต่ในอดีต ประเทศไทยเคยก้าวผ่านยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งสำคัญมาแล้ว

 

ย้อนกลับไปในยุค 2G หรือประมาณ 3 ทศวรรษก่อน ประเทศไทยเคยเกือบเสียโอกาสครั้งสำคัญทางเทคโนโลยี หาก ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คนปัจจุบัน ไม่ตัดสินใจเดินหน้ากับ ‘ธุรกิจใหม่ที่ท้าทาย’

 

ห้วงเวลานั้น เป็นยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ซึ่งมีใช้เฉพาะแต่สถาบันการศึกษา โดยเชื่อมสัญญาณผ่านสายโทรศัพท์ ส่วนระบบโทรศัพท์หลักเป็นระบบลากสายไปตามสำนักงานและบ้าน ประชาชนส่วนใหญ่พึ่งพาโทรศัพท์สาธารณะที่รอคิวกันยาวเหยียด เพราะการขอเบอร์โทรศัพท์บ้านเพียง 1 หมายเลขต้องรอกันข้ามปี ทำให้เกิดการเรียกเก็บหัวคิวและการขอหมายเลขโทรศัพท์ครั้งละหลายหมายเลขเพื่อนำมาขายเก็งกำไร

 

 

ไม่นับรวมโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเริ่มต้นได้เพียงไม่นาน อีกทั้งยังมีผู้ให้บริการเพียง 2 ราย คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ TOT) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ CAT) ทำให้การแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างช้าๆ

 

การเกิดขึ้นของ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเทคโนโลยีโทรคมนาคมของประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของธนินท์ที่เปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจการของเครือซีพี จากธุรกิจเกษตรและอาหาร ขยายมาสู่กิจการโทรคมนาคม

 

ธนินท์เริ่มธุรกิจโทรคมนาคม เมื่อรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2531-2534) เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไทยร่วมลงทุนในโครงการ ‘ขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย’ ใน พ.ศ. 2533 ซึ่งในเวลานั้นกลับไม่มีบริษัทไทยรายใดเลยที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการ ด้วยเหตุผลด้านเงินลงทุนที่สูงเกินไป

 

แรกเริ่มธนินท์ปฏิเสธโอกาสครั้งนี้ เพราะมองว่าไม่ใช่งานถนัด แต่เมื่อไตร่ตรองจริงๆ ก็พบว่า ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารอย่างรวดเร็วโดยเทคโนโลยีทันสมัย กำลังเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะถาโถมเข้ามาปฏิวัติระบบธุรกิจแบบเดิมๆ ของโลกทั้งหมด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ ต่างก็มีโทรศัพท์ 1 เลขหมายต่อประชาชน 3 คน ส่วนมาเลเซียมี 1 เลขหมายต่อประชาชน 10 คน ต่างจากประเทศไทยที่มีเพียง 1 เลขหมายต่อประชาชน 33 คน

 

การขยายโครงข่ายโทรศัพท์จึงเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะพลิกเปลี่ยนประเทศไปสู่อนาคตแห่งการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ตรงกับ ‘หลักการ 3 ประโยชน์’ ซึ่งหมายถึง ‘ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ และบริษัทได้ประโยชน์’ อย่างที่เขายึดถือมาโดยตลอดในการทำธุรกิจ

 

ธนินท์จึงตัดสินใจลงทุนในธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

 

แนวทางการทำงานของธนินท์ในเรื่องนี้ เป็นเช่นเดียวกับเมื่อเขาปฏิวัติการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา นั่นคือ เมื่อเริ่มงานใหม่ที่ยังไม่มีความรู้ ต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกของคนเก่งระดับโลกมาช่วยพัฒนา ซึ่งทำได้ด้วยการ ‘ขอความร่วมมือ’ หรือ ‘ซื้อ’ เทคโนโลยีสำเร็จรูป เพื่อให้สิ่งที่ริเริ่มสามารถเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

 

ในเวลานั้นธนินท์ได้เชิญบริษัท บริติช เทเลคอม (British Telecom ปัจจุบันคือ BT Group) ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมจากประเทศอังกฤษ มาเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และถือหุ้นร่วม ก่อนจะยื่นข้อเสนอเป็นผู้ดำเนินการโครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ ‘ดีที่สุด’ ทั้งในด้านเทคนิค อัตราส่วนแบ่งรายได้ และการบริหารโครงการ

 

สุดท้าย เครือซีพีจึงได้รับสัมปทานดำเนินงาน 25 ปี แต่เพียงผู้เดียว บนเงื่อนไขที่ว่า ต้องใช้ผู้ผลิตอุปกรณ์เป็นซัพพลายเออร์มากกว่า 1 ราย เพื่อป้องกันการผูกขาด ซึ่งซีพีเลือกใช้ผู้ผลิต 3 รายที่เป็นระดับสุดยอดของโลก ได้แก่ ซีเมนส์ (Siemens) จากเยอรมนี เอทีแอนด์ที (AT&T) จากสหรัฐอเมริกา และเอ็นอีซี (NEC) จากญี่ปุ่น  

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 เครือซีพีจัดตั้งบริษัทจดทะเบียนชื่อ ‘บริษัท ซีพี เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด’  หรือ ‘ซีพี เทเลคอม’ เพื่อดำเนินงานโครงการดังกล่าวด้วยวงเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท แต่พลันเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การดูแลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ธนินท์ต้องเจรจากับรัฐบาลชุดใหม่ในสมัยนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน อีกรอบ

 

 

การเจรจาครั้งนี้ ธนินท์ ในนามบริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเปลี่ยนมาจากชื่อ ‘ซีพีเทเลคอม’ ยอมสละสิทธิ์ขยายโครงข่ายเขตภูมิภาค โดยตกลงขยายโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายเฉพาะเขตนครหลวงให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2539 ซึ่งต่อมาจะเพิ่มเติมอีก 6 แสนเลขหมาย และเทเลคอมเอเชียสามารถส่งมอบเลขหมายทั้งหมดให้แก่องค์การโทรศัพท์ก่อนกำหนดเวลา

 

เมื่อเริ่มดำเนินงาน เทเลคอมเอเชียจัดการให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการขอจดทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ ที่ร่นระยะเวลารอคอยจาก 1 ปี เป็น 1 สัปดาห์โดยไม่ต้องจ่ายค่าหัวคิวใดๆ ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมไทยแบบก้าวกระโดด ยกเลิกระบบชุมสายโทรศัพท์แบบโบราณ เป็นการวางโครงข่ายกระจายศูนย์ที่ไม่ต้องพึ่งพาชุมสายหลัก สามารถแตกลูกข่ายเป็นชุมสายย่อย เชื่อมต่อถึงบ้านและสำนักงานต่างๆ ได้ทันที

 

 

รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อข้อมูลใหม่ล่าสุด ณ ขณะนั้น คือ ‘เคเบิลใยแก้วนำแสง’ ซึ่งมีช่องสัญญาณกว้าง ส่งข้อมูลได้มหาศาลทั้งภาพและเสียง จนเทเลคอมเอเชียกลายเป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกๆ ที่สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนโครงข่ายโทรศัพท์  

 

นับจากนั้น วงการโทรคมนาคมไทยจึงเข้าสู่ยุคใหม่อย่างสมบูรณ์พร้อมกับการแข่งขันใหม่ๆ ในแวดวงธุรกิจโทรคมนาคมที่นำการเติบโตมาสู่เศรษฐกิจของประเทศ เช่น ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

 

ปัจจุบัน เทเลคอมเอเชียเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (True Corporation Public Company Limited) และแม้ยังคงอยู่ในช่วงเพิ่มทุน เพื่อนำเงินมาสนับสนุนธุรกิจ บริษัทก็ได้ขยายกิจการโทรคมนาคมไปรอบด้าน บนหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ของธนินท์ ในการสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

พร้อมเดินหน้ากับเทคโนโลยี 5G เพื่อร่วมพัฒนา ‘Thailand 4.0’ ด้วยความมุ่งมั่นต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X