ธนินท์ เจียรวนนท์ หรือ เจ้าสัวซีพี นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย ได้รับการยอมรับในระดับโลกและถูกยกย่องให้เป็น ‘นักธุรกิจดีเด่นแห่งเอเชีย’ จากนิตยสาร Nikkei Asian Review และรายการโทรทัศน์ NHK 10 เส้นทางสู่ความสำเร็จและอนาคตที่เขากำลังสร้างต่อจากนี้คือสิ่งน่าติดตามอย่างยิ่ง
จากเด็กชายที่อาศัยอยู่ ณ ตึกแถวสามชั้นของร้าน ‘เจียไต๋’ ย่านเยาวราช เขาเคยเล่าไว้ว่า ก่อนไปเรียนต่อที่เกาะฮ่องกง เขาไม่เคยมีความคิดจะเป็นนักธุรกิจแม้แต่น้อย ตอนนั้นเขาฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ด้วยซ้ำ แต่วันนี้เขากลายเป็นนักธุรกิจผู้สร้างตำนานเช่นเดียวกับ ลีกาชิง เจ้าของฉายาว่า ‘มังกรแห่งเกาะฮ่องกง’ และธนินท์เองคงหนีไม่พ้นฉายา ‘มังกรแห่งเจ้าพระยา’
เรียนรู้จากประสบการณ์
ใน พ.ศ. 2496 ‘เจียไต๋’ ได้ขยายกิจการไปสู่ ‘เจริญโภคภัณฑ์’ เพื่อดำเนินธุรกิจขนาดกลาง ธนินท์ได้รับมอบหมายจากครอบครัวให้บริหารงานส่วนอาหารสัตว์ ที่เน้นขายอาหารเลี้ยงไก่และหมู เช่น ข้าวโพด แป้ง ถั่ว รำ ข้าว และปลาป่น รวมถึงงานสำคัญคือ การขนส่งหมูทางเรือไปขายที่ฮ่องกง ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายหมูได้ดีเท่าปัจจุบัน ธนินท์สังเกตเห็นว่า แรงลมและคลื่นทำให้หมูบอบช้ำจากแรงกระแทก เขาจึงศึกษาทิศทางกระแสลมและคลื่นในแต่ละฤดู แล้วปรับการจัดตำแหน่งหมูให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงเวลา นั่นคือ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ซึ่งเป็นฤดูร้อน เขาจะจัดวางหมูไว้กลางลำเรือ ส่วนฤดูหนาวจะจัดวางไว้ท้ายเรือ สิ่งที่ธนินท์ค้นพบจากประสบการณ์ตรงนี้เองทำให้การเคลื่อนย้ายหมูทางเรือเป็นไปด้วยความราบรื่น
ผู้ต่อยอด ผู้ขยับขยาย และผู้บุกเบิก
ธนินท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อย่างเต็มตัวใน พ.ศ. 2512 โดยต่อยอดแนวทางบริหารของครอบครัว ขยายเครือข่ายกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างคึกคัก ธนินท์พาเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุนใน 20 ประเทศทั่วโลก และผลิตสินค้าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ อีกกว่า 100 ประเทศ จนได้ชื่อว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความสามารถเชิงรุกทางธุรกิจของธนินท์ เกิดจากวิสัยทัศน์ ‘คิดก่อน ทำก่อน’ นอกจากนั้นยังพร้อมปรับตัวเท่าทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เขาเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ และยังกล้าลงทุนนำเทคโนโลยีทันสมัยมาพัฒนาธุรกิจหลัก 3 กลุ่มของเครือได้แก่ กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม
ในด้านของการบุกเบิก เขาเป็นนักธุรกิจไทยรายแรกที่เดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาเพื่อดูกิจการของ ‘อาร์เบอร์ เอเคอร์ส’ บริษัทไก่พันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น ผ่านการแนะนำของ ร็อดแมน ร็อกกี้เฟลเลอร์ ทายาทแห่งตระกูลที่มีบทบาทควบคุมเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และทั่วโลก ธนินท์ตัดสินใจนำเข้าไก่พ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุพร้อมเทคโนโลยีใหม่ใน พ.ศ. 2513 โดยให้อาร์เบอร์ เอเคอร์ส เข้ามาบริหารจัดการ และทำข้อตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นการร่วมมือทางธุรกิจและสร้างสัมพันธ์อันดีมาจนถึงปัจจุบัน
รุกตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง
ใน พ.ศ. 2522 ธนินท์ นำบริษัทเจียไต๋เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ประเทศจีน นับเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรก และบริษัทสัญชาติไทยบริษัทแรก ที่ได้รับทะเบียนใบอนุญาตประกอบการธุรกิจจากประเทศจีน
จากนั้นจึงนำบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าไปพัฒนาและลงทุนในอีกหลายประเทศของทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียและโลก มียอดขายทั่วโลกจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มูลค่ารวมกว่า 45,000 ล้านเรียญสหรัฐ
ล่าสุดเขารุกตลาดอาหารในสหรัฐฯ โดยการเข้าซื้อกิจการบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ ผู้นำด้านการผลิตอาหารแช่แข็งของสหรัฐอเมริกา ที่มีเครือข่ายกระจายสินค้ามากกว่า 5,000 จุดตามร้านค้าชั้นนำของสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจสินค้าจากประเทศไทยของเครือซีพี
สร้างโอกาส สร้างคน
ทุกโอกาส ทุกประสบการณ์ และทุกวิกฤตของธนินท์มีคุณค่า ทำให้เขาได้ค้นพบเส้นทางใหม่ๆ เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพิ่มเติมเสมอ จนสามารถขึ้นมาเป็นนักธุรกิจแถวหน้าของโลก
การให้ความสำคัญกับโอกาสและประสบการณ์ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จนพัฒนาเป็นแนวคิด ‘สร้างโอกาส’ ให้แก่คนรุ่นใหม่
ทุกวันนี้ ธนินท์ในวัย 79 ปี ยังคงให้โอกาสเรื่องการพัฒนาคน ทั้งคนรุ่นเก่าที่เติบโตมาพร้อมองค์กร และโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ โดยมีหลักสูตรการเรียนรู้และฝึกฝนในโครงการ ‘Young Talent เถ้าแก่น้อยอินเตอร์’ เพื่อการเป็นเจ้าของกิจการที่เข้าใจนวัตกรรมและทันโลก
ธนินท์ย้ำเสมอว่า การสร้างคนให้มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ระดับสากล