×

พัฒนาการภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกภาพยนตร์

13.01.2023
  • LOADING...

Babylon ภาพยนตร์สุดเวอร์วังจากฝีมือของผู้กำกับมากวิสัยทัศน์อย่าง Damien Chazelle ถือเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่น่าจับตามองของปี 2023 ด้วยงานโปรดักชันที่โดดเด่นสะดุดตา การรวมตัวกันของทัพนักแสดงระดับแถวหน้าอย่าง Brad Pitt, Margot Robbie, Diego Calva, Jean Smart ฯลฯ รวมถึงการหยิบนำประวัติศาสตร์ของวงการฮอลลีวูดในช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจากภาพยนตร์เงียบไปสู่ภาพยนตร์เสียงในฟิล์มมาเป็นฉากหลังของเรื่อง  

 

ก่อนที่เราจะได้ไปรับชมผลงานล่าสุดของผู้กำกับ Damien Chazelle ในวันที่ 19 มกราคมนี้ THE STANDARD POP ขอพาผู้อ่านทุกท่านมาร่วมย้อนเวลากลับไปสำรวจเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของภาพยนตร์เงียบสู่ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกภาพยนตร์กัน

 

Kinetophone 

ภาพ: Wikipedia

 

ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม หรือการซิงก์เสียงและภาพเคลื่อนไหวให้ตรงกัน ถือเป็นระบบที่ถูกคิดค้นและพัฒนากันมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ โดยย้อนเวลากลับไปในช่วงประมาณปี 1894-1895 หลังจากที่ Thomas Edison นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้คิดค้นเครื่องฉาย Kinetoscope ที่มีลักษณะเป็นตู้ฉายที่มีช่องให้ผู้ชมได้ส่องดูภาพเคลื่อนไหว เขาได้ร่วมมือกับ William K.L. Dickson ในการทดลองระบบฉายที่สามารถเล่นภาพเคลื่อนไหวและเสียงได้พร้อมกันในชื่อ Kinetophone โดยการทดลองในช่วงแรก William K.L. Dickson ได้บันทึกเสียงไวโอลินลงในม้วนแว็กซ์ผ่านเครื่องบันทึกเสียงที่ผลิตโดยบริษัทของ Thomas Edison ก่อนที่จะนำมาเปิดให้ผู้ชมฟังควบคู่กับการฉายภาพเคลื่อนไหว และในเวลาต่อมาการทดลองที่ถูกบันทึกไว้ดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ The Dickson Experimental Sound Film 

 

The Dickson Experimental Sound Film (1894)

 

อย่างไรก็ตาม Kinetophone ของ Thomas Edison และ William K.L. Dickson นั้นทำได้เพียงการเปิดเสียงที่บันทึกไว้ควบคู่ไปกับการฉายภาพเคลื่อนไหว แต่ยังไม่สามารถซิงก์เสียงและภาพเคลื่อนไหวให้ตรงกันได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงคุณภาพของเสียงที่ยังไม่มีคุณภาพมากนัก แต่นี่ก็ถือเป็นหนึ่งในก้าวแรกๆ ของการพยายามสร้างระบบภาพยนตร์เสียงในฟิล์มขึ้นมา

 

Lee de Forest 

ภาพ: Wikipedia

 

นักประดิษฐ์อีกหนึ่งคนที่พยายามผลักดันระบบเสียงในฟิล์มให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นคือ Lee de Forest นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันและหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยในช่วงประมาณปี 1919-1920 Lee de Forest ได้คิดค้นวิธีบันทึกเสียงที่เรียกว่า Phonofilm โดยใช้ระบบการบันทึกเสียงด้วยการกะพริบของแสงแบบอนาล็อกลงบนแผ่นฟิล์มโดยตรง เพื่อซิงก์เสียงและภาพเคลื่อนไหวให้ตรงกัน

 

ต่อมาในปี 1923 Lee de Forest ได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อสาธิตประสิทธิภาพของ Phonofilm โดยฉายภาพยนตร์สั้นจำนวน 18 ตอนให้สื่อมวลชนได้ชม และติดตั้งระบบ Phonofilm ในโรงภาพยนตร์อีกหลายแห่ง แต่ด้วยคุณภาพของเสียงที่ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก บวกกับการขาดเงินทุนในการสร้างภาพยนตร์ของตนเอง จึงทำให้ระบบ Phonofilm ของ Lee de Forest ไม่ได้รับความสนใจจากสตูดิโอภาพยนตร์รายใหญ่ และไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากนัก

 

Vitaphone System

ภาพ: Warner Bros.

 

Don Juan (1926)

 

ภายหลังการทดลองเพื่อทำให้ภาพยนตร์อันเงียบงันสามารถส่งเสียงได้กันมาอย่างยาวนาน ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็มาถึง เมื่อสตูดิโอ Warner Bros. ที่ ณ เวลานั้นเป็นเพียงสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ขนาดเล็ก ได้ตัดสินใจเซ็นสัญญากับบริษัท Western Electric ที่ทำงานเกี่ยวกับการบันทึกเสียงลงในแผ่นเสียง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Vitaphone หรือระบบฉายที่นำเครื่องฉายภาพยนตร์และเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน เพื่อซิงก์ภาพเคลื่อนไหวและเสียงให้เล่นพร้อมกัน ซึ่งแตกต่างไปจากการฉายภาพยนตร์เงียบหลายๆ เรื่องที่จะฉายภาพยนตร์ควบคู่ไปกับการแสดงดนตรีประกอบหรือพากย์เสียงแบบสดๆ

 

โดยภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่นำเทคโนโลยี Vitaphone มาใช้คือ Don Juan (1926) ผลงานจากผู้กำกับ Alan Crosland ที่บันทึกเสียงประกอบและดนตรีประกอบไว้ในแผ่นเสียง เพื่อนำมาซิงก์ให้เข้ากับภาพเคลื่อนไหว ซึ่งมีคุณภาพเสียงที่ชัดเจนกว่าและซิงก์ภาพและเสียงตรงกว่าหลายๆ ระบบที่เคยมีมา เพียงแต่ยังไม่มีการบันทึกไดอะล็อกของตัวละครลงไปด้วย

 

The Jazz Singer (1927) 

ภาพ: IMDb

 

The Jazz Singer (1927) 

 

ภายหลังจากที่ Don Juan ออกฉายและประสบความสำเร็จในแง่รายได้พอสมควร Warner Bros. ก็เริ่มเดินหน้าต่อด้วยภาพยนตร์เรื่องใหม่อย่าง The Jazz Singer ที่ออกฉายในปี 1927 พร้อมได้นักแสดงละครเวทีชื่อดังอย่าง Al Jolson มารับบทนำ โดย The Jazz Singer ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการซิงก์เสียงไดอะล็อกของตัวละครให้ตรงกับภาพเคลื่อนไหว โดยมีความยาวประมาณ 2 นาที พร้อมกับประโยคสุดไอคอนิกอย่าง “Wait a minute, wait a minute I tell yer, you ain’t heard nothin’ yet.” และส่งให้ The Jazz Singer กลายเป็นภาพยนตร์พูด (Talking Picture หรือ Talkies) เรื่องแรกของโลกภาพยนตร์ 

 

ขณะที่ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่มีการซิงก์เสียงไดอะล็อกตลอดทั้งเรื่องคือ Lights of New York ผลงานการกำกับของ Bryan Foy ที่ออกฉายในปี 1928 ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ระบบ Vitaphone ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โรงภาพยนตร์หลายแห่งเริ่มนำระบบ Vitaphone มาใช้มากขึ้น และสตูดิโอภาพยนตร์ก็เริ่มผลิตภาพยนตร์พูดออกมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดยุคสมัยของภาพยนตร์เงียบจึงได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 1929  

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X