ดอยซ์แบงก์ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกจากยุโรป ประกาศยืนยันแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยเตรียมถอนตัวจากธุรกิจซื้อขายหุ้นทั่วโลก รวมถึงลดขนาดธุรกิจที่ปรึกษาด้านการลงทุน และปลดพนักงานจำนวน 18,000 ตำแหน่ง ให้เหลือประมาณ 74,000 ตำแหน่งทั่วโลกภายในปี 2022 เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับองค์กร
คริสเตียน เซวิก ซีอีโอของดอยซ์แบงก์ ระบุในแถลงการณ์ว่า วันนี้ดอยซ์แบงก์ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงรากฐานทางธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี แต่ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นการ ‘รีสตาร์ท’ ธุรกิจของธนาคาร โดยแผนปรับโครงสร้างครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน โดยคาดว่าจะลดรายจ่ายลง 1 ใน 4 หรือ 6 พันล้านยูโร เหลือ 1.7 หมื่นล้านยูโรในช่วงหลายปีข้างหน้า
ที่ผ่านมาธุรกิจวาณิชธนกิจของดอยซ์แบงก์พยายามแข่งขันกับสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ ในวอลล์สตรีทอย่าง เจพี มอร์แกน เชส, โกลด์แมน แซคส์ และ มอร์แกน สแตนลีย์ แต่ธนาคารประสบปัญหากับทิศทางธุรกิจหลังเผชิญมรสุมต่อเนื่องมาจากวิกฤตการเงิน โดยหลายปีก่อนหน้านี้ดอยซ์แบงก์พยายามต่อสู้คดีความในสหรัฐฯ จนกระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงในการจ่ายเงินค่าปรับจำนวน 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2017 เพื่อยุติคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) อันเป็นชนวนสำคัญสู่วิกฤตการเงินปี 2008 หรือที่รู้จักกันในชื่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
ประกอบกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในยุโรป และการไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตั้งแต่แรก ส่งผลให้ดอยซ์แบงก์ไม่สามารถแข่งขันในเซกเตอร์ที่มีต้นทุนสูงมากดังกล่าวได้
นอกจากคดีความดังกล่าวแล้ว ดอยซ์แบงก์ยังเผชิญกับข่าวอื้อฉาวและถูกสอบสวนจากข้อกล่าวหาฟอกเงินในรัสเซีย ซึ่งลงเอยด้วยการที่ดอยซ์แบงก์ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 630 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017
ก่อนหน้าการประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพียง 2 วัน การ์ธ ริตชี ผู้บริหารฝ่ายวาณิชธนกิจของดอยซ์แบงก์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่คนภายนอกและตลาดจับตาว่า ดอยซ์แบงก์กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
นอกจากวาณิชธนกิจแล้ว ดอยซ์แบงก์มีแผนจะถอนตัวจากธุรกิจซื้อขายหุ้นทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินงานในลอนดอนและนิวยอร์ก โดยในเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรมีพนักงานดอยซ์แบงก์เกือบ 8,000 คน
อีกหนึ่งแรงกดดันที่ทำให้ดอยซ์แบงก์ต้องตัดสินใจปรับโครงสร้างครั้งใหญ่มาจากการที่ไม่สามารถควบรวมกิจการกับคอมเมิร์ซแบงก์ได้ หลังการเจรจาประสบความล้มเหลวในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนในดอยซ์แบงก์มากเพียงพอ
ทั้งนี้ดอยซ์แบงก์เตรียมจะประกาศตัวเลขขาดทุนถึง 2.8 พันล้านยูโรในไตรมาส 2 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายในการลดขนาดธุรกิจวาณิชธนกิจของธนาคาร ส่วนการปรับโครงสร้างหลังจากนี้จะมีต้นทุนประมาณ 7.4 พันล้านยูโรตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยดอยซ์แบงก์มีกำหนดจะเปิดเผยรายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: