เว็บไซต์ข่าวสถานีโทรทัศน์ CNBC เผยแพร่รายงานกึ่งวิเคราะห์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ออกมาแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยกับสถานะแหล่งผลิตยานยนต์สำคัญ หรือ Detroit of Asia น่าจะเป็นกองหนุนหรือไม้ตายสำคัญสำหรับ Tesla ค่ายผู้ผลิต EV รายใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ในการขับเคี่ยวกับค่ายผู้ผลิต EV สัญชาติจีน เพื่อขยายตลาดสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ พร้อมแหล่งผลิตยานยนต์ EV ที่ตอบโจทย์ในแง่ความพร้อมของห่วงโซ่อุปทาน แรงงาน และดีมานด์ในตลาด
รายงานกึ่งวิเคราะห์ดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่ Tesla ภายใต้การก่อตั้งของ Elon Musk กำลังเผชิญกับความเพลี่ยงพล้ำในการแข่งขันอย่างดุเดือดกับสารพัดคู่แข่งในอุตสาหกรรม EV โดยเฉพาะคู่แข่งสัญชาติจีน ทำให้บริษัทต้องดิ้นรนค้นหาตลาดและแหล่งผลิตแห่งใหม่เพื่อให้สามารถสร้างโอกาสการขยายตัวเติบโตต่อไปในอนาคต
ยอดขาย Tesla ลดอย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายรถ EV ของ Tesla ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สร้างความกังวลให้กับบรรดานักลงทุนในตลาดและนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม ที่มองเห็นสัญญาณการแข่งขันของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มใช้นโยบายด้านราคามากระตุ้นความต้องการ (ดีมานด์) ในตลาด
โดย Musk ประกาศหั่นราคารถยนต์ Tesla ในบางรุ่นเพื่อแข่งขันกับคู่แข่ง ควบคู่กับการปรับโครงสร้างองค์กร ปลดคนงานออก และหั่นงบใช้จ่ายบางส่วน เช่น โครงการพัฒนาเครือข่ายซูเปอร์ชาร์จเจอร์ รวมถึงการโยกฐานการผลิตมาไว้ในจีนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ Tesla จนทำให้หุ้นของบริษัทจากที่เคยเป็นดาวเด่นของตลาดวอลล์สตรีทกลับเป็นดาวร้ายของนักลงทุน โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หุ้นของ Tesla ปรับตัวร่วงลงไปแล้วมากกว่า 30%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีผลต่ออุตสาหกรรม EV
หาก Donald Trump ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย หรือต่อให้ไม่ใช่ Trump การผลิตรถยนต์ในจีนก็มีความเสี่ยงมากอยู่ดี โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 พฤษภาคม) Bloomberg รายงานว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพิจารณาเสนออัตราภาษี 100% สำหรับ EV ของจีน
นอกจากนี้ไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่มากที่จะขายโดยปราศจากข้อจำกัดด้านภาษีของสหรัฐฯ Tu Le ผู้ก่อตั้ง Sino Auto Insights บริษัทที่ปรึกษาประจำกรุงปักกิ่งกล่าวว่า จำนวนประชากรอาเซียนที่รวมกันกว่า 650 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้อาเซียนเป็นตลาดยานยนต์ EV ที่ค่อนข้างเนื้อหอม
ดังนั้นการตั้งโรงงานในไทยจึงตอบโจทย์ Tesla และช่วยให้ Tesla สามารถเข้าถึงตลาดยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอาเซียนได้โดยตรง
แม้ว่าการแข่งขันตัดราคาเป็นสิ่งที่ Tesla สู้จีนไม่ได้ แต่ Le ชี้ว่า รถยนต์ราคาย่อมเยาที่คนส่วนใหญ่เอื้อมถึงได้ของTesla จะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุยอดขายจำนวนมากในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ ในการเปิดเผยผลประกอบการล่าสุด Tesla ระบุว่า บริษัทจะเร่งการเปิดตัวยานพาหนะใหม่ รวมถึงรุ่นที่ราคาไม่แพงมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นที่ราคาไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.2 แสนบาท) ภายในปี 2025 พร้อมระบุชัดเจนว่า รถยนต์โมเดลราคาเอื้อมถึงของ Tesla ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตจากโรงงานผลิตที่มีอยู่เดิม ในระหว่างที่บริษัทกำลังมองหาพื้นที่สร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่
ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตถึงความเร่งด่วนในการจัดหาโรงงานแห่งใหม่นอกตลาดจีน เพราะในขผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สถานการณ์ทั้งหมดทำให้ Musk ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากในการปลดล็อกทะลวงข้อจำกัด และค้นหาขอบเขตการเติบโตใหม่ ท่ามกลางการเผชิญกับความท้าทายด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
แม้ว่าจนถึงขณะนี้ จีนจะยังคงเป็นตลาด EV ขนาดใหญ่ที่มีดีมานด์สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่ด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด Tesla จึงต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ นอกจากตลาดจีน และภูมิภาคเอเชียก็ถือเป็นหนึ่งในตลาด EV ที่ร้อนแรงที่สุด
รายงานระบุว่า นอกเหนือจากความสนใจลงทุนในอินเดียแล้ว Tesla ยังจับตาดูประเทศไทย ซึ่งเป็นเมืองแห่งยานยนต์ไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างใกล้ชิด ที่ซึ่งการคมนาคมสีเขียว หรือ Green Mobility กำลังได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการที่รัฐบาลไทยกำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุยกับ Tesla เพื่อให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย
‘ไทย’ ยังอยู่ในสายตา Musk
ขณะที่ Musk เองก็กำลังสำรวจสถานที่สำหรับโรงงานขนาดใหญ่แห่งถัดไปนอกประเทศจีน โดยไทยเป็นหนึ่งในการพิจารณาดังกล่าวมา 2-3 ปีแล้ว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยืนยันได้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดหาฐานลูกค้าขนาดใหญ่ให้กับ Tesla เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพายุโรปและสหรัฐอเมริกามากเกินไป และเป็นทางเลือกที่แตกต่างสำหรับการผลิต นอกเหนือจากการดำเนินงานที่มีอยู่ในจีนและความสนใจในอินเดีย
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งสนับสนุนให้ Musk ที่กำลังพิจารณาไทยเป็นฐานการผลิต EV ของบริษัท โดยชี้ถึงสถานะ Detroit of Asia ซึ่งพ่วงมาด้วยแรงงานทักษะสูง และห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยให้ Tesla ลดการพึ่งพาจีน อีกทั้งด้วยฐานการผลิตที่เพียบพร้อมครบครันในประเทศไทย Tesla ยังสามารถให้บริการตลาดเอเชียและตลาดอื่นๆ ได้อีก
ไทยตอบโจทย์ห่วงโซ่อุปทาน Tesla จีน
Craig Irwin นักวิเคราะห์การวิจัยอาวุโสของ Roth Capital ชี้ว่า ความพร้อมในการผลิตของไทยทั้งในแง่กำลังคนและห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่จะช่วยให้ Tesla ประหยัดต้นทุนการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในปัจจุบัน และไทยยังเป็นหนึ่งในทางเลือกหลักที่ตอบโจทย์ความต่อเนื่องในการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานที่สนับสนุนโรงงาน Tesla ในเซี่ยงไฮ้
Seth Goldstein นักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นของ Morningstar เสริมว่า ไทยยังเป็นทางเลือกที่ลงตัว เนื่องจากการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังตลาดโลกตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป มีผลกระทบทางการเมืองน้อยลง เมื่อเทียบกับการผลิตและส่งออกจากจีน
แม้ว่ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยอาจไม่เข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุนจากพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อ แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรที่สูงลิ่ว ซึ่งเรียกเก็บจากยานพาหนะของจีนในสหรัฐฯ Goldstein กล่าว และตลาดหลายแห่งคาดหวังว่าจะกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรซึ่งอาจเพิ่มขึ้นมากกว่านี้
ขณะที่ Tesla เปิดตัวรถ EV รุ่น Model 3 และ Model Y ในประเทศไทยในปี 2022 ไม่นานหลังจากนั้นคู่แข่งจากจีนก็เข้ามาขับเคี่ยวในตลาดไทย เช่น แบรนด์ EV อย่าง BYD และ Xiaomi ของจีนที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตั้งแต่ระดับไฮเอนด์ไปจนถึงราคาไม่แพง โดยเฉพาะ BYD ที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่า 3 ล้านคันในปี 2023 ซึ่งมากกว่าการผลิตของ Tesla เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
สงครามราคา EV ไทยไม่จบง่าย
รายงานล่าสุดจาก Nikkei Asia ระบุว่า ราคารถ EV ซีดานรุ่น Model 3 ของ Tesla เพิ่มการหั่นราคาจากเดิมหั่นแค่ 9% เป็น 18% ในไทย โดย นฤดม มุจจลินทร์กูล นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี กล่าวกับ Nikkei Asia ว่า สงครามราคาจะยังไม่สิ้นสุดในเร็วๆ นี้แน่นอน
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ Tesla ที่พิจารณาไทยเป็นฐานการผลิต EV นอกประเทศจีนที่สำคัญเท่านั้น แม้แต่จีนเองก็พิจารณามาตั้งโรงงานผลิต EV ในไทยเช่นกัน โดยมีรายงานว่า BYD, Great Wall Motor และผู้ผลิต EV ชาวจีนรายอื่นๆ เตรียมที่จะเริ่มขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย โดยผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน รวมถึง BYD ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโรงงานผลิตแห่งใหม่ในไทย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Steven Dyer อดีตผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการของ Ford และผู้ให้คำปรึกษาจากบริษัทที่ปรึกษา AlixPartners กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านยานยนต์ กำลังแรงงาน และนโยบายที่มีอยู่ของประเทศไทย ล้วนสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่สิ่งสำคัญคือผู้ผลิตรถยนต์มองเห็นตลาดผู้บริโภคเพียงพอสำหรับอุปทานที่ผลิตในประเทศไทย ก่อนชี้ถึงหลักการสำคัญของธุรกิจยานยนต์ที่จะประสบความสำเร็จก็คือ “ทำในที่ที่คุณขาย” ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและภาษีศุลกากร และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดรถยนต์ที่กำลังเติบโต และประเทศไทยก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอยู่แล้ว โดย Toyota, Honda, Nissan, Ford, GM และ Mercedes-Benz ยอมรับว่าประเทศไทยเป็นสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคแล้ว
โดยไทยยังมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตชั้นนำระดับโลก ผ่านการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและอากรนำเข้าที่ดี แต่ก็มีหนทางอีกยาวไกลในการแปลงการผลิตรถยนต์ในปัจจุบันให้พร้อมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภายในปี 2030 ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเปลี่ยน 30% ของการผลิตยานยนต์ต่อปีเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเท่ากับรถยนต์ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน ซึ่งเป็นตลาดที่รถจักรยานยนต์ถือเป็นเป้าที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งจากมุมมองของการผลิตและผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม Le มองว่าแม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบ แต่ก็ยังต้องแสดงไพ่ให้ถูกต้อง เนื่องจากทุกประเทศในอาเซียนกำลังมองหาผู้ผลิต EV เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศของตนเอง แต่ในมุมมองของ Le เห็นว่า
“ประเทศไทยและเวียดนามมีโอกาสจะเป็นสองประเทศที่มีความได้เปรียบเหนือประเทศอื่นๆ เนื่องจากประสบการณ์ด้านการผลิตยานยนต์และทักษะแรงงาน”
ปัจจุบัน นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า รัฐบาลไทยเสนอมาตรการจูงใจที่สำคัญแก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการลดภาษีนำเข้าสูงสุดถึง 40% และลดอัตราภาษีสรรพสามิตลง 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบเต็มรูปแบบที่นำเข้าในปี 2024-2025
Dyer กล่าวว่า หากผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในตลาดห่างไกลด้วยรถยนต์ไฟฟ้า “บริษัทจะนำความคุ้นเคยของแบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐฯ มาสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งมักจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้กับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอื่นๆ ในตลาดเหล่านั้น”
‘ลิเธียม’ ไพ่ใบสำคัญของไทย
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิเคราะห์ยังชี้ว่าการค้นพบแหล่งสะสมลิเธียมเกือบ 15 ล้านตันของประเทศไทย ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ อาจทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในเอเชียในการดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ยิ่งไปกว่านั้น หากประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือส่วนประกอบได้ในราคาถูกและส่งออกได้อย่างอิสระ ก็สามารถจินตนาการได้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่หลายราย รวมถึง Tesla จะพิจารณาสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทยอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าไทยยังมีศักยภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับ Tesla ในกรณีที่จีนตัดการเข้าถึงชิ้นส่วนราคาถูกของ Tesla โดยพิจารณาจากเงื่อนไขความพร้อมหลายๆ ประการ
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า แม้จะสู้คู่แข่งจากจีนไม่ได้ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าโมเดลรถยนต์ Tesla ที่ราคาไม่แพงสามารถช่วยให้บริษัทเติบโตด้วยยอดจัดส่งจำนวน 5 ล้านคันภายในปี 2030
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น หากรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยมีคุณสมบัติได้รับเงินอุดหนุนจากพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะยิ่งช่วยสร้างแรงจูงใจที่แข็งแกร่งในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตยานพาหนะหรือแบตเตอรี่เพื่อการส่งออก
อ้างอิง: