พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผย มีนโยบายผลักดัน ‘ไทยชนะ’ เป็นเครื่องมือป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค รองรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ระยะที่ 2 โดยจะดำเนินการตามมาตรฐานการจัดการข้อมูลให้เป็นตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล
รวมถึงขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูลจะต้องไม่เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์ม/แอปฯ ไทยชนะให้ความสำคัญมาโดยตลอด
ด้าน ผศ. (พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยความคืบหน้าการใช้งาน ‘ไทยชนะ’ ของประชาชน และร้านค้า ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2563
โดยพบว่าขณะนี้มียอดผู้ใช้งานแล้วกว่า 30,792,286 คน และมีประเภทกิจการ/ร้านค้า ลงทะเบียน 230,768 ร้าน โดยพบว่า 5 จังหวัดที่มีสัดส่วนการประเมินกิจการ/กิจกรรมสูงสุด ได้แก่ 1. ปทุมธานี 2. นครปฐม 3. กรุงเทพมหานคร 4. นนทบุรี และ 5. ชลบุรี
นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนของการเปิดให้มีการใช้งานไทยชนะ ได้มีการเพิ่มฟังก์ชันเพื่อรองรับความต้องการ ล่าสุดเพิ่มระบบการจองคิวในไทยชนะ สำหรับจองการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่จะทยอยกลับมาเปิดหลังโควิด-19 ซึ่งจะมีการจำกัดนักท่องเที่ยว โดยไทยชนะจะเป็นเครื่องมือช่วยคัดกรองและติดตามการเข้าพื้นที่ของนักท่องเที่ยวด้วย รองรับนโยบายการท่องเที่ยวแบบ New Normal ที่ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนรูปแบบของชีวิตปกติวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งในฟากของประชาชน และกิจการ/กิจกรรมที่เข้ามาลงทะเบียน”
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มฟังก์ชันการเช็กอินแบบกลุ่ม (Group Check-in) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน รองรับการเช็กอินพร้อมกันได้ 4 คน โดยในส่วนของแอปฯ ไทยชนะ ทั้งบน Android และ iOS จะสามารถใช้ฟังก์ชันใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ โดยสามารถเช็กเอาต์แบบกลุ่มได้เช่นกัน
“ขอเน้นย้ำข้อควรรู้และแนวปฏิบัติในการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการของร้านค้าโดยใช้สมุดจด ดังนี้ 1. ข้อมูลนี้ใช้เพื่อการสอบสวนโรค กรณีผู้ใช้บริการบางคนป่วยโรคโควิด-19 ขึ้นในภายหลัง 2. ห้ามนำไปใช้เพื่อการอย่างอื่นโดยเด็ดขาด 3. ร้านค้าจัดเก็บในที่ปลอดภัย โดยสามารถสืบค้นย้อนหลังได้ 60 วัน และ 4. เมื่อครบกำหนดให้ร้านค้าทำลายสมุดจดดังกล่าว” นพ.พลวรรธน์กล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์