วันนี้ (29 กรกฎาคม) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งที่ 4/2564 ที่ประชุมได้พิจารณาการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมด้านการปกครอง ภาษี และสังคมอีกด้วย
โดยคณะทำงานชุดนี้จะมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการทำมาตรการทางปกครอง มาตรการทางภาษี และมาตรการสังคม มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ อีกทั้งสนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว และมีการประสานกับศูนย์ต่อต้านประจำแต่ละกระทรวงอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานสถิติการดำเนินงานระงับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 โดยจากการที่ดีอีเอสยื่นคำร้องและแจ้งความดำเนินคดี มีคำสั่งศาลให้ระงับแล้ว 8 คำสั่ง รวม 94 ยูอาร์แอล อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล 8 คำร้อง รวม 145 ยูอาร์แอล และมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูลไม่เหมาะสม รวม 54 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ
ขณะที่ผลการดำเนินงานด้านการป้องกันปราบปรามในช่วงเดียวกัน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ตรวจสอบการกระทำความผิด และดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริงตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 35 ยูอาร์แอล
“อีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาข่าวปลอมคือความร่วมมือร่วมใจของประชาชนและผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อยากให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสเข้ามายังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยสามารถแจ้งมาได้ที่บัญชีไลน์ทางการของศูนย์ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกจำนวน 2,409,640 บัญชี ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันต่อต้านข่าวปลอมกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ไลน์ @antifakenewscenter เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม” ชัยวุฒิกล่าว