วันนี้ (29 พฤษภาคม) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ตรวจสอบเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ไม่มีชื่อยื่นขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีน Sinopharm รวมทั้งยังจดทะเบียนทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีคุณสมบัตินำเข้ายาและเวชภัณฑ์ และไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ผลิตวัคซีน Sinopharm จริง
ซึ่งภายหลังปรากฏเป็นข่าว ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก็ได้ปฏิเสธพร้อมชี้แจงแล้วว่า ลักษณะของบริษัทไม่น่าเชื่อถือและไม่มี Dossier หรือเอกสารประกอบรายการประกอบยาและการผลิตจากบริษัทเจ้าของวัคซีน เพื่อมาใช้ขอใบอนุญาตต่อ อย. แต่อย่างใด ดังนั้นหนังสือฉบับดังกล่าวนั้นจึงเป็นข้อความที่บิดเบือน และทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นการกระทำดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ) เช่นเดียวกับผู้ที่นำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ หรือส่งต่อก็จะเข้าข่ายมีความผิดเช่นกัน
“กระทรวงดีอีเอสกำลังประสานข้อมูลกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมหลักฐานแล้ว และดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังติดตามตัวกรรมการผู้จัดการผู้ลงนามทั้ง 2 รายในหนังสือมาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือฉบับดังกล่าว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป” ชัยวุฒิ กล่าว
ชัยวุฒิกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีบุคคลและกลุ่มบุคคลนำไปวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวหาในทำนองว่า รัฐบาลมีการเรียกรับผลประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเข้าข่ายการหมิ่นประมาทและเสนอข้อมูลเท็จอย่างชัดเจนเช่นกัน เพราะการขึ้นทะเบียนและนำเข้าวัคซีนมีระเบียบขั้นตอนการดำเนินการตามช่องทางกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าพบใครเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ยังทราบว่าเมื่อคืนวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก และแกนนำกลุ่ม ‘CARE คิด เคลื่อน ไทย’ ที่มักร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย นำไปพูดคุยแสดงความคิดเห็นผ่านแอปพลิเคชัน Clubhouse โดยมีเนื้อหาสาระให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคม ตลอดจนสร้างความเสียหายให้แก่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง มีการพูดถึงขั้นว่ามีคนเรียกค่าพาเข้าพบนายกรัฐมนตรีกับบริษัทดังกล่าวเพื่อให้มีช่องทางเจรจานำเข้าวัคซีน Sinopharm โดยแลกกับเงิน 5 ล้านบาทอีกด้วย
ชัยวุฒิกล่าวอีกด้วยว่า เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดวงฤทธิ์ก็เคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์อ้างว่า มีรุ่นน้องที่รู้จักกันพยายามนำวัคซีน Sinopharm 20 ล้านโดสให้รัฐบาล และระบุว่า ‘ประสานไปที่คนของรัฐบาลทุกช่องทางแล้ว มันถามหาผลประโยชน์ตอบแทนกันก่อนหมดเลย’ จนมีผู้มารีทวิตหรือเผยแพร่ข้อความต่อจำนวนมาก และยังมีหลักฐานว่ามีความสนิทสนมกับ กรกฤษณ์ กิติสิน หนึ่งในผู้บริหารของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ด้วย หรือเมื่อต้นเดือนมกราคมก็ทวีตในทำนองว่า มีคนบางกลุ่มได้สิทธิ์ซื้อวัคซีนโควิด-19 แล้ว ทั้งที่กระบวนการทุกอย่างมีการเปิดเผยโปร่งใสโดยตลอด
“ทั้งการที่บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ถูกเปิดโปงว่า ไม่ใช่ผู้แทน Sinopharm จริง และการทวีตข้อความในประเด็นเดียวกันล่วงหน้าของดวงฤทธิ์ ทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าอาจเป็นขบวนการเดียวกันที่ต้องการสร้างความสับสนและดิสเครดิตรัฐบาล เรื่องนี้กระทรวงดีอีเอสได้รวบรวมหลักฐานการเผยแพร่ข้อความในแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งการพูดคุยในแอปพลิเคชัน Clubhouse ล่าสุดไว้ทั้งหมดแล้ว ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายทำการสรุปว่ามีผู้กระทำผิดกี่ราย อย่างไรบ้าง เพื่อดำเนินคดีอย่างเร่งด่วนต่อไป” ชัยวุฒิ กล่าว
ชัยวุฒิกล่าวอีกว่า การที่มีการออกมาโพสต์ว่ามีการเรียกเงิน 5 ล้านบาท หรือมีการเรียกผลประโยชน์จากการจัดหาวัคซีนโควิด-19 นั้น หากมีหลักฐานยืนยันชัดเจนก็เปิดเผยได้อยู่แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเป็นการแอบอ้างหาประโยชน์ ซึ่งไม่สมควรให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการระบาดโควิด-19 แต่ถ้าไม่มีหลักฐาน เป็นการพูดลอยๆ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อดิสเครดิตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เท่ากับเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย คนเหล่านี้ก็มักจะออกมาเรียกร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ ปิดหูปิดตาประชาชน ซึ่งเป็นรูปแบบของขบวนการ Fake News และต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม