ก่อนเที่ยงคืนของคืนนี้ เกมฟุตบอลที่คอลูกหนังทั่วโลกเฝ้ารอคอย (เพราะเป็นลีกใหญ่ลีกเดียวที่แข่งตอนนี้!) คือเกม ‘Der Klassiker’ การพบกันของสองสุดยอดทีมแห่งวงการฟุตบอลเยอรมนี ‘เสือเหลือง’ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปะทะ ‘เสือใต้’ บาเยิร์น มิวนิก
ความสำคัญของเกมนี้อยู่ในระดับมีโอกาสจะเป็นเกมตัดสินแชมป์ได้เลยทีเดียว โดยสถานการณ์ปัจจุบันดอร์ทมุนด์เป็นรองจ่าฝูง มีคะแนนตามหลังบาเยิร์นอยู่ 4 คะแนน ซึ่งหากพวกเขาชนะในเกมนี้ก็จะไล่ประชิดเหลือเพียงแค่แต้มเดียว แต่ในทางกลับกันหากทีมของ ฮันซี ฟลิก เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะได้ พวกเขาก็จะหนีห่างเป็น 7 คะแนน โอกาสในการป้องกันแชมป์อีกสมัยนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นมาก
เกมระดับนี้แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนจับตามองคือการดวลกันของเหล่าซูเปอร์สตาร์ ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่ดอร์ทมุนด์มีขุมกำลังที่เพียบพร้อมที่จะต่อกรกับคู่ปรับสำคัญจากแคว้นบาวาเรียได้
นอกจาก จาดอน ซานโช พวกเขายังมี ยูเลียน บรันดท์, ธอร์แกน อาซาร์, อัชราฟ ฮาคิมี, ราฟาเอล เกร์เรโร, มามุด ดาฮูด รวมถึง มัตส์ ฮุมเมิลส์ ที่ไม่เป็นรองบาเยิร์นที่นำมาโดย โธมัส มุลเลอร์, คิงสลีย์ โกม็อง, แซร์ช นาบรี, โจชัว คิมมิช, ลีออน กอเรตซ์กา, ดาวิด อลาบา และพี่ใหญ่อย่าง มานูเอล นอยเออร์
แต่คู่ดวลที่กลายเป็นไฮไลต์สำหรับเกมนัดนี้ย่อมหนีไม่พ้นการเผชิญหน้ากันครั้งแรกของสองสุดยอดศูนย์หน้าต่างวัยอย่าง เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ กับ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน
การดวลกันของคู่นี้น่าดูอย่างไรบ้าง?
The Master VS The Apprentice
ปัจจุบันฮาลันด์มีอายุ 19 ปี ขณะที่เลวานดอฟสกีอายุมากกว่า 12 ปี แต่ฟอร์มการถล่มประตูของทั้งสองนั้นร้อนราวกับเป็นแมกมาที่ระเบิดออกมาจากภูเขาไฟ
ในฤดูกาลนี้เลวานดอฟสกียิงไปแล้ว 27 ประตู จากการลงสนาม 25 นัดในบุนเดสลีกา และหากนับรวมทุกรายการ ดาวยิงชาวโปแลนด์สังหารไปแล้ว 41 ประตู (รวมทุกรายการ) ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ 5 ติดต่อกันแล้วที่เขายิงได้มากกว่า 40 ประตู
แต่เจ้าหนูชาวนอร์เวย์ที่เพิ่งจะย้ายจากเรดบูล ซัลซ์บวร์กมาอยู่กับดอร์ทมุนด์เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมาเองก็ทำผลงานได้มหัศจรรย์ โดยยิงไปแล้ว 41 ประตูเท่ากัน (รวมทุกรายการและทุกสโมสร) และหากนับเฉพาะฟอร์มกับดอร์ทมุนด์ ก็ยิงไปแล้วถึง 13 ประตูจากการลงสนาม 13 นัด
เรียกว่าได้ว่าเป็นมวยที่น่าจะถูกคู่
อย่างไรก็ดี ทางด้าน ฮันซี ฟลิก เทรนเนอร์บาเยิร์นคิดว่าเป็นการเร็วเกินไปที่จะเปรียบเทียบระหว่างทั้งสอง
“ฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลแรกของฮาลันด์ ดังนั้นมันเร็วเกินไปที่จะมาเทียบกับเลวี” ฟลิกกล่าว “โรเบิร์ตเล่นในฟอร์มของนักฟุตบอลระดับโลกได้อย่างสม่ำเสมอมาหลายปี แต่ฮาลันด์เองก็เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ล้นเหลือ เขายังเด็ก แต่เขาก็มีพลังที่จะไล่ล่าประตูและเขาก็ต้องการจะจบสกอร์
“บุคลิกของเขาถูกผลักดันด้วยแรงขับมหาศาลในตัว เขากระหาย มีรูปร่างสูงใหญ่แต่ก็มีความคล่องตัว แต่เราจะสนใจแค่เขาคนเดียวไม่ได้”
สิ่งที่น่าสนใจคือสไตล์การเล่นของทั้งคู่มีความแตกต่างกัน
ในขณะที่ฮาลันด์เป็นศูนย์หน้าในแบบ ‘หมายเลข 9’ สมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยสัญชาตญาณในการทำประตูที่ล้นปรี่ โดยเฉพาะในระยะ 12 หลาที่เป็นระยะทำการที่ไอ้หนูตีนระเบิดถนัดถนี่ที่สุด
แต่ฮาลันด์ไม่ได้เก่งแค่ในกรอบเขตโทษ รูปร่างที่สูงใหญ่มาพร้อมกับความสามารถในการเชื่อมเกมให้เพื่อนร่วมทีม และที่สำคัญคือความเร็วที่พร้อมจะฉีกแนวรับและการเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่ดีที่จะได้ลุ้นจบสกอร์ด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเด่นไม่แพ้เท้าซ้ายฉมังเดชที่ไม่จำเป็นต้องยิงแรงแต่เฉียบคมมากพอที่จะส่งบอลเข้าประตู
เลวานดอฟสกีเป็นศูนย์หน้าในอีกรูปแบบที่คลาสสิกกว่า ครบเครื่องกว่า สามารถทำประตูได้ทุกรูปแบบไม่ต่างอะไรจากสุดยอดพ่อครัวที่จะต้ม ผัด แกง ทอด ก็หอมอร่อยในพริบตา
นอกจากนี้ยังมีเซนส์ในการเล่นฟุตบอลที่เป็นธรรมชาตินุ่มนวลกว่า และปฏิภาณไหวพริบในระดับสูง หลายจังหวะเหนือชั้นจนคู่แข่งตามไม่ทัน เรียกได้ว่าอยู่ในระดับปรมาจารย์ตัวจริง ไม่ได้เป็นรอง คริสเตียโน โรนัลโด หรือ ลิโอเนล เมสซี เลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
พอล แลมเบิร์ต อดีตมิดฟิลด์ห้องเครื่องของดอร์ทมุนด์ในยุคทศวรรษ 90 มองการเผชิญหน้ากันของทั้งคู่ว่า “ทั้งสองทีมต่างมีศูนย์หน้าที่เหลือเชื่ออยู่ ไม่ว่าจะเลวานดอฟสกีหรือฮาลันด์ ผมคิดว่ามันน่าสนใจมากว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร เลวานดอฟสกีอยู่มาก่อน เคยเห็นสิ่งต่างๆ และทำให้ดูมาแล้วมากมาย
“ส่วนฮาลันด์ยังเป็นเด็กหนุ่มที่กำลังสร้างชื่อ ทุกครั้งที่เด็กคนนี้ได้โอกาสดูเหมือนเขาจะทำสกอร์ได้เสมอ การเคลื่อนที่ของเขานั้นดีมาก ไม่ว่าเขาจะมีความเร็วระดับสายฟ้าฟาดเพื่อจะฉีกหนีกองหลัง หรือไม่การเคลื่อนที่ของเขาก็ดีมาก ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าด้วยวิธีการเล่นของเขาแล้ว เขาน่าจะสร้างปัญหาให้กับบาเยิร์นได้พอสมควร”
ว่าด้วยสถิติการถล่มประตูอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- นับเฉพาะการทำประตูในลีก เลวานดอฟสกียิงไปแล้ว 27 ประตูจากการเล่นแค่ 25 นัด มากกว่าฮาลันด์ที่ทำไป 26 ประตูจากการเล่นให้กับทั้งดอร์ทมุนด์และซัลซ์บวร์กรวม 24 นัด
- แต่ถ้าหากคิดจำนวนนาทีเฉลี่ยต่อประตูแล้วฮาลันด์เหนือกว่ามาก เพราะเจ้าหนูไวกิ้งใช้เวลาเฉลี่ย 64.5 นาทีต่อประตู ดีกว่าเลวานดอฟกีที่ใช้เวลา 82.3 นาทีต่อประตู
- และถ้าดูจำนวนค่าเฉลี่ยโอกาสได้ประตูแล้ว ฮาลันด์ทำได้ดีกว่าโดยใช้โอกาสเฉลี่ย 2.8 ครั้งต่อประตู ขณะที่ดาวยิงรุ่นพี่ใช้โอกาส 4.2 ครั้งถึงจะได้ 1 ประตู แต่ในวงเล็บต้องเข้าใจด้วยว่าสถิติส่วนหนึ่งของฮาลันด์เกิดขึ้นในบุนเดสลีกา ออสเตรีย ซึ่งเป็นลีกที่อ่อนกว่า
- เลวานดอฟสกีเคลื่อนที่เข้าไปรับบอลในเขตโทษได้มากกว่าฮาลันด์ โดย 22 เปอร์เซ็นต์ในการสัมผัสบอลของเขาเกิดขึ้นในเขตโทษ ขณะที่ดาวยิงรุ่นน้องสัมผัสบอลในเขตโทษ 18 ครั้ง
- ดาวยิงโปแลนด์ยังสร้างโอกาสให้เพื่อนมากกว่า โดยทำไป 27 ครั้ง ขณะที่ฮาลันด์ 21 ครั้ง
- แต่ถ้าดูการแอสซิสต์ ฮาลันด์กลับมีสถิติดีกว่าชัดเจน โดยแอสซิสต์ให้เพื่อนยิงประตู 6 ครั้ง ทั้งๆ ที่เล่นมาแค่ 10 นัด ขณะที่เลวานดอฟสกีทำได้แค่ 3 ครั้งจากการเล่น 25 นัด
- ถ้าดูที่ค่าเฉลี่ยประตูที่คาดหวังได้ (xG) ทั้งคู่ทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย โดยฮาลันด์ ยิงได้ 10 ประตูจากค่าเฉลี่ย 6.0 ขณะที่เลวานดอฟสกียิงได้ 27 ประตูจากค่าเฉลี่ย 25.1
ด้วยเหตุผลทั้งหมดทำให้การเผชิญหน้ากันของทั้งสองจึงเป็นฉากสำคัญของเกม Der Klassiker ในคืนนี้ที่จะลงสนามเวลา 23.30 น. ซึ่งเราจะได้เห็นกันว่าสุดท้ายแล้วระหว่างปรมาจารย์สุดเก๋าอย่างเลวานดอฟสกี กับไอ้หนุ่มซินตึ๊งอย่างฮาลันด์ ใครจะแน่กว่ากัน!
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/what-is-der-klassiker-why-bayern-munich-vs-borussia-dortmund-is-important-7942
- https://uk.sports.yahoo.com/news/haaland-v-lewandowski-strikers-prolific-060058010.html
- https://www.telegraph.co.uk/football/2020/05/25/erling-haaland-eyesrobert-lewandowski-throne-title-showdown/
- https://www.besoccer.com/new/haaland-vs-lewandowski-the-master-vs-the-apprentice-838872
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum
- ถึงจะถูกเรียกขานแบบเท่ๆ ว่า Der Klassiker แต่ในเยอรมนีไม่เคยมีการบัญญัติชื่อนี้แต่อย่างใด เพราะทั้งดอทมุนด์และบาเยิร์นไม่ได้มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ยาวนานเหมือนคู่แค้นตลอดกาลคู่อื่นๆ ถ้าถามคนเยอรมนี เกมนี้ก็เป็นแค่ ‘ดอร์ทมุนด์ VS บาเยิร์น’ ธรรมดา
- แต่มันก็มีปมอยู่บ้างในเรื่องที่ดอร์ทมุนด์เป็นลูกไล่ของบาเยิร์น และมักจะโดนดูดนักเตะที่เก่งที่สุดเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลังที่เสียทั้ง มาริโอ เกิตเซ, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี และ มัตส์ ฮุมเมิลส์ ให้กับคู่แข่ง
- มีครั้งหนึ่งที่บาเยิร์นเคยช่วยเหลือดอร์ทมุนด์ด้วยการให้กู้ยืมเงิน 2 ล้านยูโรเพื่อใช้จ่ายเงินเดือนในปี 2004 โดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ดอร์ทมุนด์ต้องทดแทนบุญคุณแต่อย่างใด เพราะหนี้สินชำระกันหมดแล้วไม่มีอะไรติดค้าง