จากกรณีการถกเถียงประเด็นการปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยในประมวลฯ ไม่ได้ระบุชื่อกัญชาและกัญชงในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แล้ว
วันนี้ (17 มกราคม) นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (รองเลขาฯ อย.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้ากฎหมายกัญชาว่า วันนี้มีความคืบหน้าในการปลดล็อกกัญชาและกัญชงออกจากรายชื่อเสพติดให้โทษ ซึ่งต้องเรียนว่าทุกอย่างต้องทำตามลำดับขั้นตอนทางกฎหมาย ขั้นตอนแรกคือ การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ที่เป็นกฎหมายระดับรอง ซึ่งจะออกเป็นลักษณะของประกาศกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยวันนี้เป็นก้าวแรกในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่มี นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. เป็นประธาน
นพ.วิทิตกล่าวว่า มติในที่ประชุมเห็นชอบให้ควบคุมสารสกัดจากทุกส่วนของกัญชาและกัญชง โดยเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดให้การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คือ สารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชง ที่เป็นพืชในตระกูลแคนนาบิส (Cannabis) ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ คือ ก. สารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชง เฉพาะที่ได้จากการอนุญาตปลูกในประเทศ ในทุกส่วนที่มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก และ ข. สารสกัดจากเมล็ดกัญชาและกัญชง ที่ได้จากการปลูกในประเทศเช่นกัน
“นั่นคือจะไม่มีชื่อกัญชาอยู่ในยาเสพติดแล้ว เราจะเหลือว่ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คือ สารสกัดที่ได้จากพืชกัญชาและกัญชง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประโยชน์ของการใช้กัญชาได้” นพ.วิทิตกล่าว
นพ.วิทิตกล่าวย้ำว่า เราต้องป้องกันการนำเข้าสารสกัดจากกัญชาและกัญชงจากต่างประเทศ เพื่อดูแลผู้ประกอบการในประเทศ ด้วยการกำหนดข้อยกเว้น ก. และ ข. เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตไปก่อนหน้านี้ยังสามารถสกัดและนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ดังนั้นสารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชงทุกส่วนยังเป็นยาเสพติด แต่ถ้ามีปริมาณสาร THC น้อยกว่า 0.2% โดยน้ำหนัก จะถือว่าไม่เป็นยาเสพติด แต่ต้องมาจากการอนุญาตปลูกในประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ นพ.วิทิตกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อพิจารณาในวันที่ 19 มกราคมนี้ หลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยย้ำว่าหากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ส. แล้ว ก็จะเสนอต่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอำนาจตามประมวลยาเสพติด เห็นชอบเพื่อลงนามประกาศใช้ต่อไป