วันที่ 11 สิงหาคม 2562 ถือเป็นวันแรกที่เริ่มบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ รวม 35 แห่ง) โดยสาระสำคัญคือการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 5 ล้านบาท 1 ชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน และจะคุ้มครองถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 พอเข้าวันที่ 11 สิงหาคม 2563 วงเงินคุ้มครองจะลดลงเหลือ 1 ล้านบาท 1 ชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน
ตัวอย่างเช่น
นาย A มีเงินฝากอยู่ที่ธนาคาร XYZ 20 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีออมทรัพย์ 5 ล้านบาท บัญชีฝากประจำ 15 ล้านบาท และธนาคาร FFF 3 ล้านบาท บัญชีฝากประจำเพียงอย่างเดียว
กรณีที่ธนาคาร XYZ และ FFF มีอันเป็นไป นาย A จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากสำหรับธนาคาร XYZ 5 ล้านบาท และธนาคาร FFF 3 ล้านบาท จากเงิน 23 ล้าน จะได้รับการคุ้มครองเพียง 8 ล้านบาทจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ส่วนที่เหลือจะต้องรอชำระบัญชีจากสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ
ถ้าจะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด ต้องกระจายเงินฝากจากธนาคาร XYZ ไปที่สถาบันการเงินอื่นๆ อีก 3 สถาบัน ไม่เกินสถาบันละ 5 ล้านบาท และเหลือไว้ที่ธนาคาร XYZ 5 ล้านบาทพอ
นอกจากนี้ในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 วงเงินคุ้มครองเงินฝาก 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงินจะลดลงเหลือ 1 ล้านบาทเท่านั้น
ปัจจุบัน จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า มีบัญชีเงินฝากทั้งหมดรวมทุกประเภทบัญชี 100.25 ล้านบัญชี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 13.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
ผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป มีทั้งสิ้น 1.53% ของบัญชีทั้งหมด หรือราว 1.58 ล้านบัญชี แต่ 1.53% นี้คิดเป็นสัดส่วนเงินฝากทั้งระบบราว 78.44% หรือกว่า 10.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลำดับขั้นได้ดังนี้
- มากกว่า 1 ล้าน แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท จำนวน 1.4 ล้านบัญชี รวมเป็นเงินทั้งสิ้นราว 3.49 ล้านล้านบาท
- มากกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 25 ล้านบาท จำนวน 84,626 บัญชี รวมเป็นเงินทั้งสิ้นราว 1.26 ล้านล้านบาท
- มากกว่า 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท จำนวน 25,798 บัญชี รวมเป็นเงินทั้งสิ้นราว 900,000 ล้านบาท
- มากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 22,866 บัญชี รวมเป็นเงินราว 5.17 ล้านล้านบาท
- มากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนเพียง 1,639 บัญชี เป็นเงินรวมมากถึง 2.51 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 1,532 ล้านบาทต่อบัญชี
ซึ่งกลุ่มหลังสุดคือกลุ่มหลักที่จะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ รวม 35 แห่ง) ขณะที่ SCBS ประเมินผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยดังนี้
1. ผู้ฝากเงินจะมีการกระจายเงินฝากไปที่สถาบันการเงินต่างๆ มากขึ้น
2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และบำนาญของบริษัทที่มีความมั่นคง (ดูได้จากอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ยิ่งมากยิ่งดี) จะได้รับความนิยมมากขึ้น
3. หุ้นกู้ของบริษัทที่มีเคดดิตเรตติ้งสูง จะได้รับความน่าสนใจมากขึ้น
4. กองทุนที่ลงทุนในตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลจะได้รับความนิยมมากขึ้น
5. กองทุนหุ้นต่างๆ โดยเฉพาะหุ้นตัวใหญ่และปันผลดีจะได้รับความนิยมมากขึ้น
6. กองทุนอสังหาริมทรัพย์รวมไปถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สินทรัพย์ในกองทุนมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องจะได้รับความนิยมมากขึ้น
7. สินทรัพย์อย่างทองคำที่มีมูลค่าในตัวมันเอง และมีมาตรฐานสากลในการกำหนดราคาก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น
8. นำเงินไปฝากหรือลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ผู้ฝากอาจจะมองทางเลือกในการเอาเงินไปฝากหรือลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นจากเรื่องกระจายความเสี่ยงและค่าเงินบาทที่แข็งค่า
9. สินค้าแบรนด์เนมที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้เร็ว และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา รวมถึงความนิยมที่มีแต่มากขึ้นอย่างนาฬิกาข้อมือ Rolex หรือ Patek Philippe ก็น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น
ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์รวมถึงสถาบันการเงินในไทยถือว่ามีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ถึงแม้จะมี NPL บ้าง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก SCBS คาดว่าผู้ฝากเงินคงจะไม่ได้ตกใจกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้มากนัก ประกอบกับดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากในตอนนี้ และอาจจะต่ำลงได้อีกในอนาคต ก็คงจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้มีเงินฝากกระจายเงินฝากไปที่สถาบันการเงินต่างๆ มากขึ้น รวมถึงสินทรัพย์ทางการเงินอย่างตราสารหนี้ กองทุน รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ REITS
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า