วันนี้ (28 กุมภาพันธ์) มีการรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ว่า ธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ สั่งการให้ นพ.อายุส ภมะราภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์อุตรดิตถ์ ส่งทีมแพทย์ไปตรวจและติดตามอาการกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนา 2019 หลังมีรายงานว่าเดินทางกลับจากเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งหมด 4 คน แบ่งเป็น นักการเมืองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารในสำนักงาน อบจ. อุตรดิตถ์ 3 คน ส่วนอีก 1 คน เป็นลูกจ้างเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์
โดยในเบื้องต้นทั้ง 4 คนยังไม่มีใครเป็นไข้ หรือพบอาการแต่อย่างใด ซึ่งตอนนี้ถูกให้กักตัวอยู่ในบริเวณบ้านที่พักอาศัยของแต่ละคน โดยไม่มีการออกไปพบปะกับผู้คนนอกบ้าน เป็นเวลา 14 วัน
นอกจากนี้ นพ.อายุส ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้ข้อมูลที่เราได้รับรายงานคร่าวๆ มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงประมาณ 40 กว่าราย สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์ และพบว่ามีผู้ที่เดินทางกลับมาจากกลุ่มประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้ง 9 ประเทศตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข เราพบว่ามาจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดประมาณ 30 กว่าราย แล้วก็มีมาจาก เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และอิตาลีด้วย
“สิ่งที่เราจะต้องดำเนินการในตอนนี้คือ เราจะต้องดำเนินการติดตามบุคคลผู้เป็นกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ อันดับแรกเลยเราจะต้องทำการยืนยันข้อมูลก่อนว่าแต่ละคนได้กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ต่อมาก็เป็นเรื่องของภูมิลำเนา อาชีพ หน้าที่การงาน เพื่อที่เราจะได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสาธารณสุขที่ถูกต้องกับทุกคน โดยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เราจำเป็นต้องให้กักอยู่ในบริเวณพื้นที่จำกัด เช่น อยู่ที่บ้านในระยะเวลา 14 วัน
“แต่อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเหล่านี้อาจจะยังไม่เกิดอันตราย เพราะโรคนี้มีระยะฟักตัว 2-7 วัน ตามหลักการทางวิชาการ ดังนั้น ถึงแม้ผลการตรวจจากสนามบินอาจไม่เจอผู้ติดโรค แต่เราต้องสังเกตอาการของเขาต่อ 14 วัน”
นอกจากนี้ นพ.อายุส พูดถึงประเด็นที่สาธารณสุขจะปกปิดตัวเลข โดยบอกว่า ปกติการรายงานเกี่ยวกับโรคต้องเป็นการรายงานอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขไม่มีเจตนาที่จะปกปิดข้อมูล เพราะการปกปิดไม่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรค ตรงกันข้าม หากยิ่งปกปิดโรค จะทำให้การระบาดของโรครุนแรงยิ่งกว่าเดิม
ภาพ: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์