ความคืบหน้าคดีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
ขณะที่พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้นายเปรมชัยมาให้ปากคำในวันที่ 5 มี.ค. หลังที่ทนายความขอเลื่อนให้ปากคำครั้งก่อน โดยอ้างว่าติดธุระสำคัญ ในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งจะเป็นข้อหาที่ 10 ที่นายเปรมชัยและพวกถูกดำเนินคดี
กระทั่งในเวลาต่อมามีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกได้มาถอนแจ้งความเมื่อวันที่ 21 ก.พ. เนื่องจากพิจารณานิยามคำว่า ‘สัตว์’ แล้วพบว่าไม่เข้าตามคำนิยามของตาม พ.ร.บ.การทารุณกรรมสัตว์ ทำให้ข้อกล่าวหาขณะนี้มีเพียง 9 ข้อหา
สำหรับ มาตรา 3 พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นิยามคำว่า สัตว์ หมายถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน ใช้เป็นพาหนะ ใช้เป็นเพื่อน ใช้เป็นอาหาร และใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่น และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่กำหนดนิยามของสัตว์ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ว่า
พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นั้น มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อมมิให้ถูกกระทำทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดงซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็สามารถบังคับใช้กับสัตว์อื่นๆ ได้อยู่แล้ว ยังเหลือเพียงนิยามของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เนื่องจากมีข้อโต้แย้งในรายละเอียดของคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาตินี้ กรมปศุสัตว์จะเร่งประชุมคณะกรรมการฯ ให้ได้ข้อสรุปนิยามของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนสูงสุด โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 มีนาคมนี้
อนึ่งถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดนิยามให้สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติเป็นสัตว์ตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ ก็ตาม สัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติก็อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ หากไปล่าหรือทำร้ายจะมีโทษหนักกว่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ส่วนสัตว์ป่าแม้อยู่ตามธรรมชาติ แต่หากนำมาเลี้ยง จะอยู่ภายในกฎหมายว่าด้วยการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ด้วยอยู่แล้ว