วันนี้ (15 มีนาคม 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวในโซเซียลมีเดียว่าการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ที่ตลาดบางแค เกิดความล่าช้าในการดำเนินการควบคุมโรคและรายงานการสอบสวนโรคดังกล่าวนั้น กรมควบคุมโรคขอชี้แจงว่าในการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนที่ตลาดบางแคในครั้งนี้ ไม่ได้ดำเนินการล่าช้ากว่ามาตรฐานที่กำหนดแต่อย่างใด การดำเนินการควบคุมโรคและรายงานการสอบสวนโรคเป็นไปตามระบบที่วางไว้อย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน
การตรวจพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในกรณีนี้ เป็นผลมาจากระบบเฝ้าระวังกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) และการสอบสวนโรคอย่างเป็นระบบ ซึ่งหลังจากได้รับรายงานพบผู้ป่วยในตลาดดังกล่าว ทางสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตรวจอย่างทันท่วงที จากนั้นได้หารือร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค เพื่อทำการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มเติมให้ครบ 100% โดยวางแผนดำเนินการในวันที่ 11-12 มีนาคมที่ผ่านมา โดยทำการตรวจพ่อค้าแม่ค้า และลูกจ้างแรงงานในตลาดทั้ง 6 แห่ง โดยวิธี SWAB โดยรถชีวนิรภัยพระราชทาน ผลการตรวจพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนดังกล่าวเพิ่มเติม และบางส่วนกำลังอยู่ระหว่างรอผล
“ในช่วงก่อนที่จะตรวจพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนดังกล่าว ก็ไม่มีรายงานการระบาดในพื้นที่บางแคแต่อย่างใด แต่ในช่วงประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้ มีรายงานพบกลุ่มก้อนการระบาดในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อที่ติดกับตลาดบางแค และในรายงานสอบสวนโรคมีข้อมูลว่าแรงงานต่างด้าวในโรงงานแห่งนี้มักจะมาซื้ออาหารที่ตลาดบางแคเพื่อนำไปปรุงรับประทานในครอบครัว” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับระบบการรายงานการสอบสวนโรคนั้น ทางห้องปฏิบัติการได้รายงานผลการตรวจมายัง สปคม. และได้ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดก่อนส่งข้อมูลไปยังสำนักอนามัย กทม. และกรมควบคุมโรคตามระบบ แต่เนื่องจากรายงานดังกล่าวเข้าสู่ระบบหลังเวลา 16.30 น. จึงได้มีการดำเนินการส่งต่อข้อมูลดังกล่าวตามขั้นตอนที่วางไว้ต่อไป ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ากรุงเทพมหานครดำเนินการล่าช้า
อย่างไรก็ตาม สำนักอนามัย กทม. ร่วมกับ สปคม. และ กรมควบคุมโรค ได้เริ่มตรวจคัดกรองเชิงรุกพ่อค้าแม่ค้าในตลาดทั่วพื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 นับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้มติของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ซึ่ง กทม. น่าจะเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่เริ่มการตรวจเชิงรุกในพ่อค้าแม่ค้าในตลาด โดยทาง กทม. ได้ตรวจพ่อค้าแม่ค้าและแรงงานในตลาดไปแล้ว 437 แห่งทั่วพื้นที่ กทม. ตรวจไปแล้ว 45,012 คน พบผู้ติดเชื้อสะสม 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.04 ซึ่งพบเป็นผู้ติดเชื้อในตลาดหลายแห่งแบบประปราย ไม่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งที่ตลาดบางแคก็ได้สุ่มตรวจคัดกรองในพ่อค้าแม่ค้าและแรงงานไปแล้วประมาณ 700 คน ซึ่งในครั้งนั้นตรวจไม่พบเชื้อแต่อย่างใด
“ขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งการดำเนินการควบคุมโรคและรายงานการสอบสวนโรคเป็นไปตามระบบที่วางไว้อย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นพ.โอภาสกล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล