×

นพ.เดนิส มุกเควกี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคองโก หวังต่อสู้กับความรุนแรงในประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2023
  • LOADING...
Denis Mukwege

นพ.เดนิส มุกเควกี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะช่วยประชาชนในประเทศต่อสู้กับความรุนแรงและความโหดร้ายป่าเถื่อน หลังจากที่ตนเองเคยต้องหลบหนีออกจากประเทศเพราะวิจารณ์รัฐบาลจนถูกโจมตีมาแล้ว

 

แพทย์วัย 68 ปี เจ้าของฉายา ‘คุณหมอปาฏิหาริย์’ (Dr. Miracle) มีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากการทำศัลยกรรมตกแต่งให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม จนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลของเขารักษาผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศไปแล้วมากกว่า 50,000 คน

 

นพ.มุกเควกีเคยถูกมือปืนโจมตีในปี 2012 ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence: GBV) ปัจจุบันเขาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

 

จากการติดตามบิดาซึ่งเป็นนักเทศน์ไปเยี่ยมเยียนสมาชิกในชุมชนที่เจ็บป่วย ทำให้ นพ.มุกเควกีในวัยเด็กตัดสินใจว่าเมื่อโตขึ้นจะเป็นหมอ เขาเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งบริเวณชายแดนบุรุนดี ก่อนที่จะได้รับโอกาสไปศึกษาด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาที่มหาวิทยาลัยอองเชร์ ประเทศฝรั่งเศส

 

ในปี 1998 เขาได้กลับไปก่อตั้งโรงพยาบาล Panzi ในเมืองบูกาวู ซึ่งเป็นเมืองเกิดของเขา โดยแรกเริ่มเดิมที เขาตั้งใจให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลเพื่อสุขภาพของมารดา โดยดูแลคุณแม่มือใหม่หรือคุณแม่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามปะทุขึ้น กลับกลายเป็นว่ามีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มาเข้ารับการรักษาด้วยอาการบาดเจ็บอย่างน่าสยดสยองอันเนื่องมาจากถูกกระทำรุนแรงทางเพศโดยกลุ่มติดอาวุธต่างๆ

 

นพ.มุกเควกีเคยให้สัมภาษณ์กับ BBC เมื่อปี 2013 ว่า การข่มขืนในคองโกตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพื่อบีบให้ชุมชนละทิ้งที่ดินและทรัพยากรของตนเอง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คาดว่าผู้หญิงหลายหมื่นคนถูกข่มขืนหรือถูกทำร้ายตลอดช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งสามทศวรรษ 

 

นพ.มุกเควกี ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านการรักษาความรุนแรงทางเพศในช่วงสงคราม ปัจจุบันโรงพยาบาล Panzi ดูแลผู้หญิงมากกว่า 3,500 คนต่อปี นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว ผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศยังสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาและกฎหมายอีกด้วย

 

ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่สหประชาชาติเมื่อปี 2012 นพ.มุกเควกีวิจารณ์รัฐบาลของประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิลาในขณะนั้น รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ไม่พยายามยุติสงครามที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและการข่มขืนเป็นยุทธวิธีในการทำสงคราม ถ้อยแถลงดังกล่าวส่งผลให้ในเดือนถัดมา เขาตกเป็นเป้าหมายของมือปืนที่บุกเข้าไปในบ้านของเขาและจับลูกสาวของเขาเป็นตัวประกัน

 

ต่อมา นพ.มุกเควกีและครอบครัวหนีไปอยู่ที่สวีเดน จากนั้นจึงได้ย้ายไปเบลเยียม ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา นพ.มุกเควกีจะได้กลับไปยังประเทศบ้านเกิด โดยผู้หญิงในประเทศคองโกช่วยกันระดมทุนเพื่อเป็นค่าตั๋วเครื่องบินให้เขาเดินทางกลับประเทศ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ นพ.มุกเควกีคิดลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

 

โดยนับตั้งแต่กลับมาคองโก นพ.มุกเควกีอาศัยอยู่ที่โรงพยาบาลของเขา ภายใต้การคุ้มครองถาวรของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

 

เขาได้รับรางวัล UN Human Rights Prize ติดหนึ่งใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกโดยนิตยสาร TIME และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2018 ท่ามกลางความยินดีของประชาชนที่มารวมตัวกันโห่ร้องแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองที่โรงพยาบาลของเขา

 

แม้ว่าเขาจะยังใหม่กับการเมือง แต่ นพ.มุกเควกีเริ่มแสดงบทบาทสนับสนุนสันติภาพในคองโกบนเวทีโลกอยู่เนืองๆ โดยเมื่อปีที่แล้ว เขาเรียกร้องให้สหประชาชาติคว่ำบาตรรวันดาจากกรณีที่สนับสนุนกลุ่มกบฏ M23 ในคองโกตะวันออก จนนำไปสู่การปะทะนองเลือดและทำให้ผู้คนหลายแสนคนต้องพลัดถิ่น ขณะที่รวันดาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีบทบาทในทางการเมือง แต่ นพ.มุกเควกี ซึ่งได้รับการยกย่องจากชาวคองโกในฐานะนรีแพทย์ผู้ใจบุญ ยังขาดเครือข่ายทางการเมืองทั่วประเทศเหมือนที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนอื่นๆ นักวิเคราะห์จึงตั้งคำถามถึงความสามารถของเขาในการนำพาประเทศหลุดพ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ 

 

ขณะที่ นพ.มุกเควกีเองหวังว่า ชื่อเสียงและการดำเนินการเพื่อมนุษยธรรมของเขาจะดึงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสิ้นหวังในธรรมาภิบาล หลังจากถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ปกครองที่สืบทอดอำนาจรุ่นต่อรุ่นมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม

 

ภาพ: Justin Makangara / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X