×

30 อำเภอใน 18 จังหวัด พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย เข้าใกล้เกณฑ์ประกาศเป็นพื้นที่ระบาด

โดย THE STANDARD TEAM
24.07.2023
  • LOADING...

วานนี้ (23 กรกฎาคม) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับทีมสาธารณสุขในพื้นที่ 30 อำเภอของ 18 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อเน้นย้ำให้ทีมงานในพื้นที่เร่งรัดการควบคุมป้องกันโรคในช่วง 4 สัปดาห์จากนี้ (21 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม 2566)

 

จากการรายงานพบว่ามีพื้นที่ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเข้าใกล้เกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก

 

นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง 38 แห่งทั่วประเทศ ให้การสนับสนุนวิชาการและทรัพยากร เพื่อลดผู้ป่วยให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

 

“กรมควบคุมโรคทำงานร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกรมการแพทย์มาระยะหนึ่งในการลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต และในภาวะใกล้วิกฤตตอนนี้ได้ประสานขอความร่วมมือเพิ่มจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อระดมกำลังในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกอีกด้วย” นพ.ธเรศกล่าว

 

ขณะเดียวกัน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้อธิบายว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ประกาศกำหนดให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ถ้ามีจำนวนผู้ป่วยสูงและต่อเนื่อง อาจต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้น อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจตามที่ระบุในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. ในการประกาศสถานที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการดำเนินการตามมาตรา 34 แบบเดียวกับการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย เช่น โรคโควิด-19 ในระยะ 2 ปีแรก

 

ทั้งนี้ มาตรา 34 (8) จะทำให้ทีมงานสาธารณสุขในพื้นที่สามารถเข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคได้ เช่น การเข้าไปสำรวจลูกน้ำยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และพ่นสารเคมีเพื่อฆ่ายุงตัวแก่ ในบ้าน วัด โรงเรียน โรงแรม หรือสถานที่อื่นๆ ที่อาจจะเข้าไปไม่ได้ในสถานการณ์ปกติ และมาตรา 34 (4) (5) (6) ยังกำหนดให้เจ้าของสถานที่ต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายและแก้ไขสภาพแวดล้อม เช่น กำจัดขยะ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานฯ อีกด้วย

 

“หากมีการประกาศพื้นที่โรคระบาดจะช่วยเพิ่มความร่วมมือของประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ภายใต้กลไกของกฎหมายจะทำให้สามารถลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญทำให้ประชาชนไทยไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่ป้องกันได้” นพ.โสภณกล่าว

 

นอกจากนี้กรมควบคุมโรคจะทำหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของ 18 จังหวัดดังกล่าวได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้นในช่วง 4 สัปดาห์จากนี้ รวมทั้งให้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่เรียกว่า CDCU plus VCU ที่ประกอบด้วยนักระบาดวิทยา นักกีฏวิทยา และนักเทคนิคการแพทย์ ในจังหวัดที่ผ่านการอบรมหลักสูตรควบคุมป้องกันโรคที่กรมฯ ได้จัดขึ้น

 

และประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนทรัพยากรในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก และหากประชาชนสงสัยว่าจะป่วยจากโรคไข้เลือดออกให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X