×

ผู้ค้าทุบแผงทิ้ง ปิดตามคำสั่ง! พาสำรวจตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ หลังครบเส้นตายวันนี้

28.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • 5 ตลาดรอบบ้านป้าทุบรถปิดตามคำสั่งของกรุงเทพมหานครแล้ว มีการเข้าเคลียร์พื้นที่ทำความสะอาด นำแผงเหล็กกั้น ขณะที่ผู้ค้ากังวลอนาคต ไม่รู้จะได้กลับมาขายหรือไม่
  • วันนี้เป็นวันกำหนดเส้นตายให้ทุกตลาดจัดการตามคำสั่ง โดยปิด 3 แห่ง และ ทำให้ถูกต้อง 2 แห่ง ขณะที่ผลการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดจากคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ กทม. ตั้ง จะได้ข้อสรุปวันนี้เช่นเดียวกัน

THE STANDARD เกาะติดรายงานข่าวกรณีป้าทุบรถ ตั้งแต่เหตุการณ์เริ่มต้นจากการแชร์คลิปขวานทุบรถสะเทือนโลกออนไลน์ จนนำไปสู่ปมปัญหาตลาดที่สร้างในเขตที่อยู่อาศัย อันเป็นสาเหตุใหญ่ที่นำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ตั้งแต่การจอดรถกีดขวางหน้าบ้าน และความไม่สะดวกในแง่การอยู่อาศัย ซึ่งเจ้าของบ้านได้ฟ้องร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับ 10 ปี

 

หลังการออกมาแถลงข้อเท็จจริงของป้า เรื่องราวก็ถูกนำเสนอผ่านสื่อหลายสำนัก ทำให้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องลงไปตรวจสอบในพื้นที่ สั่งให้ นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ ตรวจสอบตลาดรอบบ้านป้าทั้ง 5 แห่ง โดยได้มีการเรียกเจ้าของตลาดเข้ามาพบ รวมทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหานี้ทั้งหมดด้วย

 

กระทั่งในเวลาต่อมา ได้สั่งให้ 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดสวนหลวง, ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง ซึ่งไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งตลาด ปิดทำการค้าขายทันทีภายใน 7 วัน  โดยระหว่างนี้จะผ่อนผันให้ผู้ค้าได้ระบายขายสินค้าที่ค้างสต็อกอยู่ได้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

 

ส่วนอีก 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ตและตลาดยิ่งนรา มีความผิดในการใช้พื้นที่ไม่ตรงกับใบอนุญาตที่ขอทำการพาณิชย์ จึงให้ไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 7 วัน โดยห้ามขายสินค้าอาหารสดอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีกำหนดเส้นตายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์เช่นกัน

 

 

สำรวจ 5 ตลาด ปิดขายของทั้งหมดแล้ว สุดเงียบเหงา

จากการลงพื้นที่สำรวจตลาด บริเวณหมู่บ้านเสรีวิลล่า สวนหลวง ของทีมข่าว ซึ่งครบกำหนดเส้นตาย 7 วันในวันนี้ ตามที่มีคำสั่งให้แต่ละตลาดต้องดำเนินการ หากกางแผนที่โดยให้บ้านป้าทุบรถเป็นจุดศูนย์กลาง เราพบบรรยากาศทั้ง 5 ตลาดมีคำสั่งจากเขตประเวศมาติดบริเวณหน้าตลาดให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ละตลาดดังต่อไปนี้

 

 

ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต: หากหันหน้าเข้าบ้านป้าทุบรถ จะพบว่าตลาดอยู่ทางด้านซ้าย ติดกับกำแพงของบ้านป้า มีนายยศนนท์ ลิ้มธรรมเลิศ เป็นเจ้าของ ได้มีการรื้อผ้าใบด้านหน้าตลาดออกทั้งหมด รวมทั้งมีการจัดการพื้นที่โดยรอบใหม่ โดยมีช่างเข้ามาทุบเอาแผงปูนที่ตั้งขายของออก ใช้เครื่องเจาะทำลายพื้นผิว และติดป้ายหน้าตลาดว่าห้ามมีการตั้งแผงขายของ โดยภายในบริเวณแผงขายของบางส่วนที่อยู่ในโซนของโครงสร้างเหล็กยังคงมีร้านอยู่จำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าบางส่วนจับกลุ่มพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และทยอยเก็บข้าวของออก

 

 

“ผมขายมาสิบกว่าปี ขายดอกไม้ วันนี้เน่าหมด ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาขายเมื่อไร ก็อยากให้เห็นใจคนทำมาหากินด้วย เราทำอาชีพสุจริต จะให้ไปปล้นเขาหรือ ก็ไม่ใช่ แต่ขอทำมาหากิน ให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวก็พอ” ผู้ค้าชายสูงอายุ ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อคนหนึ่งกล่าว

 

 

ตลาดยิ่งนรา: คือตลาดที่อยู่ถัดมาทางซ้ายของตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต พบว่าบริเวณโดยรอบถูกปิดล้อมด้วยแผงเหล็กล้อเลื่อน มีนายรังสรรค์ จรรยาวัฒนกุล เป็นผู้ถูกออกคำสั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามหนังสือที่เขตประเวศติดไว้ที่หน้าตลาด ขณะที่แผงขายของในโซนตลาดมีกลุ่มแม่ค้าบางรายเข้ามาประกอบอาหาร เช่น ปอกผลไม้ เตรียมขาย ซึ่งหากมองจากภายนอก ไม่พบการขนย้ายของออกไปมากนักเหมือนตลาดอื่นๆ หากแต่มีการกั้นและปิดไม่ให้มีการขายของได้แล้ว

 

 

ตลาดรุ่งวาณิชย์: ถัดจากตลาดยิ่งนรามาด้านหน้า เป็นตลาดที่มีการนำเอาแผงเหล็กมากั้นปิดรอบบริเวณเช่นเดียวกัน มีนายธเนตร รุจิราวาณิชย์ เป็นเจ้าของ ในโซนของตลาดค่อนข้างจะโล่ง เนื่องจากมีการจัดเก็บแผงทั้งหมดออกไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่ด้านหลังตลาดเจ้าหน้าที่ได้นำผ้าใบมาล้างทำความสะอาด

 

 

“ผมขายอยู่ข้างๆ ตลาดมานาน ก็ได้อาศัยอานิสงส์ของตลาดที่คนมีกำลังซื้อมาจับจ่ายหลายปี ทำให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ต้องยอมรับว่าจากนี้ไปคงไม่เหมือนเดิม ก็ต้องปรับตัวหาที่ขายใหม่” พ่อค้าขายตับย่าง หมูปิ้ง บอกทีมข่าว

 

 

ตลาดสวนหลวง: หากหันหน้าเข้าบ้านป้า ตลาดจะอยู่ด้านขวา ซึ่งมีตลาดเดียว พบว่าวันนี้มีกลุ่มผู้ค้าจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ตลาด ช่วยกันทำความสะอาดในบริเวณโดยรอบตลาด ทั้งล้างและลอกท่อระบายน้ำ แต่ได้ติดป้ายที่ทำด้วยกระดาษ A4 มาติดหน้าตลาดห้ามการบันทึกภาพวิดีโอและภาพนิ่ง ซึ่งตลาดดังกล่าวมีนายสุรกิจ นามวรกานต์ เป็นเจ้าของ

 

 

ตลาดร่มเหลือง: เป็นตลาดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านป้า ไม่มีโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นอาคารหรือโรงเรือนแต่อย่างใด มีนายเกียรติรัตน์ สุวรรณวัฒนาสุข เป็นเจ้าของตลาด มีการนำเอาสังกะสีมากั้นล้อมตลาดที่เป็นพื้นที่โล่งไว้ รวมทั้งผ้าใบกางปิดทางเข้าออก ทีมข่าวได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายด้านใน พบว่ามีการนำเอาโครงสร้างเหล็กที่ทำเป็นแผงขายของมาตั้งกองรวมไว้ และเคลียร์พื้นที่ให้โล่งแล้ว

 

 

สำหรับบรรยากาศที่บริเวณหน้าบ้านป้าทุบรถในวันนี้ ยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนที่ขับรถและเดินผ่านไปมา บางรายยังลดกระจกเพื่อถ่ายภาพและสอบถามทีมข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางรายไปถ่ายรูปที่หน้าบ้านป้า ขณะที่ผู้ค้าหลายรายต่างเดินทางมาดูตลาดที่ตนเองขายของ ซึ่งยอมรับว่าตกที่นั่งลำบากในการค้าขาย ขณะที่ซูเปอร์มาเก็ตที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านป้า ติดกับตลาดร่มเหลืองยังคงเปิดทำการปกติ มีเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอดส่องดูแลตามปกติ

 

 

รอผลสอบข้อเท็จจริงวันนี้ ผอ.เขต หาพื้นที่ใหม่ให้ผู้ค้าได้ขาย

อย่างไรก็ตามจากนี้ คงต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องทั้งหมด ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงนามแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่สอง เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยระบุให้รายงานผลสอบใน 7 วัน ซึ่งตรงกับวันนี้เช่นเดียวกัน โดยมีรายงานว่าจะมีการประชุมในช่วงบ่ายของวันนี้

 

 

ด้านนายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวานนี้ ถึงการแก้ปัญหาสำหรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ สำนักงานเขตได้จัดสรรพื้นที่ค้าขายไปยังตลาดรถไฟ ถนนศรีนครินทร์ ตลาดนัมเบอร์วัน ย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 ตลาดราชพฤกษ์ ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 35 ตลาดที่จัดสรรสามารถรองรับผู้ค้าได้รวม 600 คน ทั้งนี้ยังมีในส่วนของห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ที่เสนอพื้นที่โล่งจำนวน 18 ไร่ ให้รองรับกลุ่มผู้ค้าอีกด้วย คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ได้รับความเดือดร้อนได้ วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคมนี้ สำนักงานเขตและผู้ค้าในตลาดจะทำกิจกรรม Big Cleaning Day เพื่อทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ

 

สำหรับคดีเกี่ยวกับการฟ้องร้องระหว่างบ้านของป้าและตลาด ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคดีสิ่งแวดล้อมระหว่างนางสาวบุญศรี แสงหยกตระการ กับพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 4 คน และมีนายสุกิจ นามวรกานต์ กับพวกรวม 7 คน เป็นผู้ร้องสอด กรณีนางสาวบุญศรีเห็นว่าผู้ว่าฯ กทม. กับพวกละเลยให้มีการก่อสร้างอาคารและตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า เขตประเวศ โดยผิดกฎหมาย ในวันที่ 2 มีนาคม เวลา 13.30 น.

 

 

ในส่วนที่พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้เจ้าของบ้าน 2 ราย คือ นางสาวรัตนฉัตร แสงหยกตระการ อายุ 61 ปี และนางสาวราณี แสงหยกตระการ อายุ 57 ปี ผู้ก่อเหตุทุบรถมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ได้มีการขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไป ซึ่ง 3 ข้อหาได้แก่ ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ข่มขู่ทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว และพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตไปรับทราบข้อกล่าวหา

 

 

เปิดเนื้อหาหนังสือคำสั่งเขตประเวศ ก่อนถึงเส้นตายวันนี้

สำหรับสำเนาหนังสือคำสั่งที่ได้นำไปติดไว้ที่หน้าตลาดทั้ง 5 ตลาด มีรายละเอียดดังนี้ สำเนาหนังสือคำสั่ง ผอ.เขตประเวศ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้แก้ไขหรือปรับปรุง ข้อความว่า

 

เรียนเจ้าของตลาดร่มเหลือง ด้วยนายสมบัติ เครือกีรติธรรม ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เจ้าพนักงานสาธารณสุข ตรวจสอบสถานประกอบกิจการของท่าน ตั้งอยู่อาคารไม่มีเลขที่ ซอยศรีนครินทร์ 55 พบว่าจัดตั้งตลาดประเภทที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรา 38 พ.ร.บ. การสาธารณสุข 2535 ประกอบข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องตลาด พ.ศ. 2546 ออกคำสั่งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจัดตั้งตลาดพร้อมเอกสารหลักฐานที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตประเวศ ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งนี้

 

หากครบกำหนดระยะเวลาไม่มายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ออกใบอนุญาตให้จะต้องหยุดการประกอบกิจการทันที หากฝ่าฝืนเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะเข้าดำเนินการด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นบังคับใช้กฎหมาย

 

 

ทั้งนี้ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรา 45 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 25,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535

 

อนึ่ง หากท่านไม่พอใจคำสั่งนี้หรือเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง

 

ขอแสดงความนับถือ ลงนาม นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนายการเขตประเวศ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานท้องถิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X