×

สว. พันธุ์ใหม่ ชวนผู้มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยร่วมโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13-14 ก.พ. นี้ ย้ำเห็นด้วยตัดอำนาจ สว.

โดย THE STANDARD TEAM
10.02.2025
  • LOADING...
democratic-vote-invite

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา กลุ่ม ‘สว. พันธุ์ใหม่’ นำโดย นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ว่า เป็นครั้งแรกที่ประธานรัฐสภาบรรจุลงระเบียบวาระ ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่ถูกต้อง และเป็นที่สนใจของสังคมทั่วไป 

 

นันทนาระบุว่า กลุ่ม สว. พันธุ์ใหม่ เห็นด้วยกับการทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยให้ประชาชนลงมติว่า เห็นด้วยกับวิธีการที่จะได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือไม่ และเมื่อ สสร. ร่างเสร็จเรียบร้อย จึงจัดทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อถามประชาชนว่ารับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมย้ำว่า การทำประชามติ 2 ครั้ง จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาจากประชาชน และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณจนเกินไป

 

นอกจากนี้ กลุ่ม สว. พันธุ์ใหม่ ยังเห็นด้วยกับการลดอำนาจของ สว. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากการเลือกกันเอง แตกต่างจาก สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นจึงควรให้น้ำหนักหลักอยู่ที่ สส.

 

“การจะแก้รัฐธรรมนูญได้นั้น ต้องใช้เสียง สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และหาก สว. ไม่ยอมโหวตให้ การแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งสังคมก็จะไม่ต่างอะไรจาก สว. 250 คนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติตั้งขึ้นมา แล้ว สว. ชุดนี้จะเอาอำนาจไว้กับตัวเองเพื่ออะไร เราจึงอยากเชิญชวน สว. ที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมาร่วมโหวตเพื่อผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วยกัน ให้เราได้กติกาตามประชาธิปไตย ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” นันทนากล่าว 

 

กลุ่ม สว. พันธุ์ใหม่ ยังเรียกร้องให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเองก็เคยพูดว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงประชาชนทุกท่านที่รู้สึกได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่พอใจการทำงานขององค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน 

 

ส่วนข้อเสนอให้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น นันทนายืนยันว่า การบรรจุลงระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นการปฏิบัติตามกระบวนการนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรผิดปกติ ไม่เช่นนั้นประธานรัฐสภาคงไม่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising