×

ประชาธิปัตย์ชี้ พักโทษทักษิณสะท้อนคุกมีไว้ขังคนจน เตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ สกัดโรคทักษิณ

โดย THE STANDARD TEAM
19.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) ที่พรรคประชาธิปัตย์ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เราได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คุกมีไว้ขังคนจน เพื่อที่จะชี้ให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการยุติธรรมของกรมราชทัณฑ์ 

 

ราเมศกล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ การบังคับโทษในเรื่องของโทษผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายไร้ประสิทธิภาพ ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีการดำเนินการในหลายเรื่องที่ไม่ตรงไปตรงมา ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่กรณีทักษิณ ซึ่งต้องถามไปยังรัฐบาล กรณีที่เคยแถลงต่อนโยบาย ต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรีพูดชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินจะยึดหลักนิติธรรม คือการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา โดยรัฐบาลไม่ได้ตระหนักถึงหลักนิติธรรมที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเลย 

 

ราเมศกล่าวต่อว่า ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับทักษิณเป็นความลับทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถตอบคำถามใดๆ มีการช่วยปกปิดความจริงอย่างเป็นระบบ หลักนิติธรรมถูกทำลายอย่างไม่มีชิ้นดี เพราะประชาชนติดตามเรื่องนี้ทุกย่างก้าวของปลายทางกระบวนการยุติธรรม คืออำนาจตุลาการถูกท้าทายจากอำนาจราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ประชาชนรู้ทันในการกระทำของรัฐบาล รู้ทันในการวางแผนกรณีของทักษิณเข้าเกณฑ์การพักโทษเพราะว่ามีนักโทษอีกหลายคนที่ได้รับสิทธิในการพักโทษ 

 

“ทักษิณไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว นี่คือสิ่งที่สังคมตั้งคำถามว่าป่วยจริงหรือไม่ รักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ประชาชนรู้ทันหมดครับ ทุกคนในระบบทักษิณถวิลหาความยุติธรรมที่เท่าเทียม บอกว่าต้องการที่จะไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ แต่นั่นเป็นแค่ลมปากของรัฐบาล เป็นแค่ลมปากของผู้ที่มีอำนาจ ไม่ใช่คำพูดที่เกิดจากสามัญสำนึกของตัวผู้มีอำนาจที่แท้จริง ผมกล่าวหาว่านี่คือการเลือกปฏิบัติ การใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน นักโทษที่อยู่ในเรือนจำเป็นประชาชนเหมือนกัน เป็นประชาชนที่มีกฎหมาย มีระเบียบ มีข้อบังคับ ฉะนั้นแล้วทุกคนจะต้องถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน สองมาตรฐานไร้ความเท่าเทียม มิหนำซ้ำเหยียบย่ำอำนาจศาล” ราเมศย้ำ

 

ราเมศกล่าวท้วงติงกระบวนการยุติธรรมอีกว่า ในส่วนของอำนาจราชทัณฑ์อยู่ในหลักเกณฑ์และหลักการของประเทศ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองเดินต่อไปไม่ได้ ไม่ต้องวิเคราะห์เลยว่ากรณีของทักษิณจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ตนว่าการกระทำทั้งหมดจะเป็นคำตอบในอนาคต และในกรณีนี้พรรคจะมีการเก็บข้อมูล ส่วนไหนที่ไม่เป็นไปตามหลักการในฐานะที่เราเป็นนักการเมืองและเป็นฝ่ายค้าน เราจะตามติดเรื่องนี้เหมือนที่ได้กระทำมาก่อนหน้า ซึ่งรัฐบาลที่ไร้ซึ่งหลักนิติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนของการบังคับโทษเป็นเช่นนี้ ตนถามหน่อยว่าแล้วหลักการบ้านเมืองจะเหลืออะไร ประชาชนจะพึ่งหวังกระบวนการต่อจากนี้ไปได้อย่างไร และประชาชนติดใจหลักการกรณีนี้ว่ามีการจำคุกจริงๆ หรือไม่ 

 

ในส่วนของประชาธิปัตย์มีประเด็นที่เกี่ยวข้องเนื่องจากกรณีนี้ เราได้มีการเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา และกฎหมายฉบับนี้ตนในฐานะกรรมการบริหารพรรคจะเสนอต่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้หยิบยกร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มีการแก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ในอำนาจของราชทัณฑ์ในบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง 

 

สาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้ ได้มองเห็นถึงปัญหาของการบังคับโทษในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว แต่ศาลไม่มีอำนาจในการพิเคราะห์พิจารณาว่าจะให้มีการลดโทษหรือพักโทษกับนักโทษคดีนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวควรจะมีโครงสร้างที่มีตัวแทนจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

 

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการป้องกันการใช้อำนาจโดยอำเภอใจโดยองค์กรบางองค์กร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีเดียวกับที่เกิดขึ้นกับทักษิณ จำคุกจริง-ไม่จริง ป่วยจริง-ไม่จริง รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจริง-ไม่จริง ทุกอย่างเป็นความลับทั้งหมด” ราเมศกล่าว 

 

พร้อมกับเพิ่มเติมอีกว่า ในการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น ก็เพื่อให้คงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ปลายทางของกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจของกรมราชทัณฑ์อย่างแท้จริง ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องมีวุฒิภาวะในการตรวจสอบ และดำเนินการให้บ้านเมืองมีกฎเกณฑ์ มีกติกาภายใต้ระบบนิติรัฐ ฉะนั้นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากถูกด้อยค่าให้ลดน้อยถอยลงจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ก็แสดงว่ากำลังเกิดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว

 

“ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าเป็นโรคเช่นเดียวกับทักษิณ ต่อไปอาจมีคนอ้างในระหว่างที่ถูกคุมขังได้ว่าผมเป็นโรคทักษิณ เมื่อเป็นโรคทักษิณก็สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีใครรู้ ไม่ต้องมีใครทราบว่าจะรักษาอย่างไร ผมไม่อยากให้เกิดทักษิณโมเดลในปลายทางของกระบวนการยุติธรรม”

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองทิศทางการเมืองหลังจากนี้อย่างไรบ้าง ราเมศกล่าวว่า ตนมองว่ารัฐบาลนี้มีการสอดคล้องเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เหตุผลของรัฐบาลจะไปปรึกษาทักษิณ หรือใครจะไปดำเนินการอย่างไรตนคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่รัฐบาลต้องตระหนักว่าสิ่งที่ได้ประกาศกับประชาชน สิ่งที่รัฐบาลต้องบริหารราชการแผ่นดินอยู่บนพื้นฐานหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องยึดหลักการนี้ให้มากที่สุด 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีนายกรัฐมนตรี 2 คน ราเมศกล่าวว่า โดยหลักรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วนายกรัฐมนตรีมีคนเดียว แต่ความเชื่อมโยงผูกพันกัน หรือใครสามารถที่จะสั่งการให้นายกฯ ซ้ายหันขวาหันได้ ตนคิดว่าประชาชนทราบดีว่าใครคิดและใครเป็นคนทำ สิ่งนี้ในอนาคตจะเป็นคำตอบทั้งหมดว่าเรามีนายกฯ กี่คน 

 

ส่วนกรณีที่จะมีการยื่นกฎหมายแก้ปัญหาช่องโหว่ของกรมราชทัณฑ์จะต่อเนื่องถึงกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับเข้าประเทศหรือไม่ ราเมศกล่าวว่า ตนไม่ได้คิดว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นกับใคร แต่ถ้าเกิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราตระหนักและคิดอยู่เสมอ เราจะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นเป็นหลักการของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นแล้วการที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์เพื่อให้คงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม ปลายทางของกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจของกรมราชทัณฑ์อย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X