×

ทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ จี้คลังเร่งเบิกจ่ายงบ กระตุ้นเศรษฐกิจสู้พิษโควิด-19 ระลอกใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
20.04.2021
  • LOADING...
ทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์

วันนี้ (20 เมษายน) ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วย ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กระตุ้นเศรษฐกิจแก้พิษโควิด-19 ระลอกใหม่ และชวนคนไทยสร้างการออม เตรียมพร้อมรับวิกฤต พร้อมเสนอ 5 แนวทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างมียุทธศาสตร์ ตามที่ทีมเศรษฐกิจ ปชป. ได้เคยเสนอไปแล้วว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจคือ ‘การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่มีอยู่แล้ว’ อาทิ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และงบอื่นๆ ซึ่งตอนนี้มีเหลือกว่า 2.6 แสนล้านบาท โดยปริญญ์ได้มีข้อเสนอ ดังนี้

 

1. การสร้างงาน เสริมทักษะสมรรถนะของคนในรูปแบบ Up Skill และ Re Skill เนื่องจากคนไทยยังต้องอยู่กับโควิด-19 อีกนาน และรูปแบบการทำงานได้เปลี่ยนไปแล้ว รัฐบาลสามารถลงมือทำได้เลยผ่านกลไกกระทรวงต่างๆ

 

2. การช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) หรือสตาร์ทอัพ โดยการสนับสนุนเงินเดือนหรือรายได้ส่วนหนึ่งให้กับบริษัทขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถดูแลพนักงานต่อไปได้ ไม่ปลดคนงาน จนทำให้เกิดคนว่างงานเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงมาตรการในการลดรายจ่าย เช่น ภาษี

 

3. นำข้อมูลด้านดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลทางดิจิทัลจากโครงการของรัฐมากขึ้น เช่น เราชนะ คนละครึ่ง เป็นต้น ภาครัฐควรนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อาทิ ถือโอกาสนี้นำร้านค้า SME เข้ามาในระบบภาษีมากขึ้น แล้วร้านค้าที่จ่ายภาษีถูกต้องตามกฎหมายก็ควรจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในการสนับสนุนโปรโมชันให้ประชาชนนำเงินไปซื้อสินค้าของ SMEs เหล่านั้น และนําไปหักลดหย่อนภาษีได้ในรูปแบบ ‘ไทยต้องช่วยซื้อไทย’ สนับสนุนสินค้าไทยที่ดีและทำถูกกฎหมาย ส่งเสริมการเรียนรู้งานด้านออนไลน์ การทำคูปองสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรได้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำเกษตรกรรม

 

4. พิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง หรือยกเลิกบางมาตราที่เป็นอุปสรรคในการเบิกจ่าย แต่ยังคงต้องตรวจสอบความโปร่งใสอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ฝ่ายราชการสามารถเร่งอนุมัติโครงการที่จำเป็นได้โดยเร็วที่สุด

 

5. คงมาตรการในการลดภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่รัฐวิสาหกิจต้องยอมอุดหนุนค่าใช้จ่าย เพื่อลดภาระให้กับภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้  

 

ด้านดรุณวรรณกล่าวว่า ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือรัฐยังจำเป็นต้องสนับสนุนการให้องค์ความรู้ด้านการออม แม้ตอนนี้รายได้คนส่วนใหญ่น้อยลง การออมอาจทำได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ภาครัฐควรช่วยสร้างองค์ความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน

 

“ในวิกฤตผู้ที่อยู่รอด คือผู้ที่มีเงินออม การออมคือส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตในระยะยาว รวมทั้งสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เป็นที่น่ายินดีว่าภาครัฐโดยกระทรวงการคลังมีแผนการออมแห่งชาติอยู่แล้วและถือเป็นวาระแห่งชาติ และได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เยาวชนจนถึงวัยเกษียณอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่อยากให้ตระหนักถึงความสำคัญและผลักดันเรื่องนี้ควบคู่กับไปกับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นด้วย” ดรุณวรรณกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การจะออมที่มากขึ้น ต้องมาจากการที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นโครงการที่ทีมเศรษฐกิจ ปชป. รวมถึงพรรค ปชป. ได้ทำผ่านกระทรวงต่างๆ จึงคิดไว้ค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรียนจบพบงาน ที่เปิดตัวมาปีกว่าแล้ว เป็นช่องทางที่จะช่วยให้คนมีงานทำ ช่วย Up Skill และ Re Skill ให้คนมีศักยภาพมากขึ้น เพื่อให้มีโอกาสได้งานที่รายได้สูงขึ้น โครงการ Women Power ปชป. ที่เดินหน้าลงพื้นที่ให้องค์ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินแก่กลุ่มผู้หญิงและกำลังจะขยายไปสู่ทุกคนในสังคมด้วย

 

“สุดท้ายนี้ขอส่งกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังทำหน้าที่อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้เสียสละอย่างมาก อยากให้คนไทยดูแลตัวเองตามมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกคนปลอดภัย” ปริญญ์กล่าวในที่สุด

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X