วันนี้ (18 ธันวาคม) พรรคประชาธิปัตย์จัดประชุมใหญ่สามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2564 โดยมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค, ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึง บัญญัติ บรรทัดฐาน และสมาชิกพรรคเข้าประชุม
โดยมีวาระการประชุม เพื่อรับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2563 ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 การดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 43 และ มาตรา 61 รายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีที่ผ่านมา รับรองงบการเงิน ประจำปี 2563 พิจารณาแผนยุทธศาสตร์ของพรรค แผนหรือโครงการที่จะดำเนินการกิจกรรมสำหรับปีต่อไป โดยเฉพาะการหารายได้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทางการเมืองและการพัฒนาบุคลากรทางการเมือง
และวาระสำคัญคือ การเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคแทนตำแหน่งที่ว่างลง แทน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และ อันวาร์ สาและ รองเลขาธิการพรรค ที่ได้ลาออก ซึ่งมีผู้ท้าชิงคือ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช 9 สมัย และ เดชอิศม์ ขาวทอง หรือนายกฯ ชาย ส.ส. สงขลา สมัยแรก
จุรินทร์ได้กล่าวกับสมาชิกในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เปรียบเหมือนเครื่องบิน แม้จะตกหลุมอากาศบ้าง แต่ก็ผ่านมาได้ อาจมีเลือดไหลออก แต่ก็มีเลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ ถือว่าเป็นพรรคการเมืองของทุกรุ่น และต้องยอมรับว่าหลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคขนาดกลาง มีเพียง 52 ที่นั่ง การตัดสินใจจึงแบ่งเป็น 2 ทาง คือเป็นฝ่ายค้านและร่วมรัฐบาล
แต่สุดท้ายพรรคก็ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ด้วยการลงมติ ภายใต้เงื่อนไขในการเลือกกระทรวงหลัก ก็คือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ได้มาโดยการเจราจา ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการทำงานเพื่อประชาชน ภายใต้วิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ผู้ด้อยโอกาสต้องได้รับการดูแล จึงทำให้มีโอกาสดูแลประชาชนทั่วประเทศในหลากหลายอาชีพ ไม่ต่ำว่า 50 ล้านคน รวมถึงเงื่อนไขนโยบายที่รัฐบาลต้องนำประกันรายได้เข้าไปเป็นนโยบายของรัฐบาล และการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการยึดหลักซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งจุรินทร์ประกาศยืนยันว่า สามารถทำได้ครบแล้ว
ขณะเดียวกัน จุรินทร์ยังกล่าวถึงข่าวสะเทือนใจ การลดโทษให้กับนักโทษในคดีทุจริตจำนำข้าวเหลือเพียงไม่ถึง 10 ปี ได้สร้างกระแสไม่ยอมรับในสังคม ที่การลดโทษเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ที่มีอธิบดีตัดสินใจเพียงคนเดียว และในกฎหมายกรมราชทัณฑ์ก็มีช่องโหว่ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงขอเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้การลดโทษในคดีทุจริตเป็นอำนาจของศาล ไม่ใช่อำนาจของกรมราชทัณฑ์เพียงอย่างเดียว ถือเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืดความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ จากการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์อย่างหนักภายใต้สโลแกน ‘ทำได้ไว ทำได้จริง’ เชื่อมั่นว่าประชาชนมองเห็นและให้การต้อนรับมากขึ้น โดยเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์มาถูกทางแล้ว
จุรินทร์ยังยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เพียวๆ เศรษฐกิจปากท้อง ต้องเดินไปด้วยกัน และขอฝากให้พวกเราช่วยกันทุ่มเท รณรงค์เลือกตั้งซ่อม ส.ส. สงขลา และชุมพร รวมถึงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยให้ระดมสรรพกำลังทั้งหมด และที่สำคัญขอให้พวกเรามีความสามัคคีช่วยกันทำงานเพื่อพรรค ยืนยันคนที่ทำงานทุ่มเทและเสียสละเพื่อพรรค ตนพร้อมให้โอกาสทุกคนโดยไม่ลังเล เพราะเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไปข้างหน้า และจะทำให้ได้รับชัยชนะ
“แม้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคใหญ่ที่สุด แต่เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในพรรคที่ประชาชนตั้งความหวังไว้มากที่สุด เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของประชาชน ต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง พร้อมย้ำภารกิจ 2 ปีเศษที่ผ่านมาต้องพิสูจน์ว่าอะไรที่พรรคพูดกับประชาชน เราทำได้และขึ้นปีที่ 3 เราต้องเดินหน้าต่อไป ทำได้ไว ทำได้จริง และจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป” จุรินทร์กล่าว
จุรินทร์ยังขอบคุณสมาชิกพรรค ขอบคุณกรรมการบริหารพรรค ส.ส. และอภิสิทธิ์ ที่จะร่วมมือกับพรรคในการรณรงค์หาเสียงผู้ว่าฯ กทม.
มีรายงานว่าผลการลงคะแนนเสียงปรากฏว่า เดชอิศม์ได้คะแนน 58.95% ชินวรณ์ ได้คะแนน 39.4% ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3% จากองค์ประชุมทั้งสิ้น 350 คน ทำให้เดชอิศม์ได้ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคใต้อย่างเป็นทางการ
จากนั้นเป็นการเลือกตั้งรองเลขาธิการพรรค แทน อันวาร์ สาและ ส.ส. ปัตตานี ที่ลาออกไป โดยที่ประชุมมีมติเลือก ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส. นครศรีธรรมราช เป็นรองเลขาธิการพรรค ด้วยคะแนน 91.9%