×

เดโมแครต-รีพับลิกัน โหวตผ่าน กม.ขยายเพดานหนี้ จับตาปัญหา ‘ขาดดุล’ อีกความเสี่ยงใหญ่ที่ต้องแก้ให้ได้

01.06.2023
  • LOADING...
เพดานหนี้

สภาล่างสหรัฐฯ ทั้งฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกัน โหวตผ่านกฎหมายขยายเพดานหนี้ ตามข้อตกลงจำกัดการใช้จ่ายของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตลอดปี 2024 ซึ่งสหรัฐฯ มีกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยคะแนน 314 ต่อ 117 เสียง ช่วยผ่อนคลายความกังวลการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ของสหรัฐฯ จับตาปัญหา ‘ขาดดุลงบประมาณ’ อีกความเสี่ยงใหญ่ที่สหรัฐฯ ต้องแก้ให้ได้

 

ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกัน ร่วมกันอนุมัติร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ ด้วยคะแนน 314 ต่อ 117 เสียง เมื่อช่วงค่ำวันพุธที่ผ่านมา (31 พฤษภาคม) ตามเวลาสหรัฐฯ พร้อมส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ เนื่องจากเส้นตายหรือวันที่เงินสดรัฐบาลสหรัฐฯ หมดเริ่มใกล้เข้ามา

 

Bloomberg รายงานว่า การลงคะแนนเสียงครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเป็นการตอกย้ำชื่อเสียงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้านนักปฏิบัตินิยม และเป็นอีกความสำเร็จครั้งสำคัญของ เควิน แมคคาร์ธี ในบททดสอบครั้งแรกในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยผลลัพธ์ดังกล่าวยังถือเป็นความสำเร็จที่หาได้ยากสำหรับสภาคองเกรสที่ขณะนี้แตกแยกกันอย่างหนัก

 

โดยไบเดนกล่าวว่าการลงคะแนนเสียงครั้งนี้เป็นข่าวดีสำหรับคนอเมริกันและเศรษฐกิจอเมริกัน หลังนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลต่ออันตรายจากการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีกครั้ง

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้จะขจัดภัยความเสี่ยงของวิกฤตการผิดนัดชำระหนี้อีกครั้งสำหรับระยะเวลาที่เหลือในวาระปัจจุบันของไบเดน โดยร่างกฎหมายนี้จะระงับเพดานหนี้ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2025 ภายใต้ข้อตกลงที่ว่า พรรคเดโมแครตต้องจำกัดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง

 

ข้อตกลงนี้พร้อมส่งไปยังวุฒิสภาแล้ว โดยการอนุมัติร่างกฎหมายนี้นั้นค่อนข้างแน่นอน ขณะที่ จอห์น ธูน วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า การโหวตไฟเขียวจะเกิดขึ้นภายในคืนวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าเส้นตายคือวันที่ 5 มิถุนายน ตามคำเตือนของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ

 

การจำกัดการใช้จ่ายในข้อตกลงอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่จะต้องกลับมาชำระเงินกู้เพื่อการศึกษา และชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อยบางรายก็จะถูกจำกัดหรือตัดสวัสดิการไป แต่นักเศรษฐศาสตร์ของ Morgan Stanley ประเมินว่า ทั้งหมดจะมี ‘ผลกระทบเล็กน้อย’ ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังมีโจทย์ใหญ่ท้าทายที่ต้องแก้ต่อจากเพดานหนี้ คือปัญหาขาดดุลงบประมาณ

 

สำนักข่าว AP รายงานความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ที่ออกมาคาดการณ์ว่า แม้ในที่สุดสภาคองเกรสของสหรัฐฯ จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ที่พ่วงด้วยการจำกัดการใช้จ่ายใหม่ที่ตั้งเป้าลดการกู้ยืมลง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นไต่ระดับจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

 

รายงานระบุว่า การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าการบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อาจเป็นเพียงการพักรบชั่วคราว ก่อนที่จะมีการประลองงบประมาณของรัฐบาลกลางอีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า

 

โดยสำนักงานงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 พฤษภาคม) ว่าข้อตกลงจะช่วยลดการใช้จ่าย 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ และการจ่ายดอกเบี้ย 188,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 ปี แต่เงินก้อนนั้นน้อยเกินไปที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของมาตรการต่างๆ เช่น ประกันสังคมและ Medicare เป็นต้น

 

นอกจากนี้ การที่ทั้ง ไบเดนและแมคคาร์ธีตัดเรื่องประกันสังคมและ Medicare ซึ่งเป็น 2 โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสูงวัยทั้งหลายก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มต้นเจรจาเรื่องงบประมาณ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางการเมืองในขณะที่พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า

 

ขณะเดียวกัน การขยายเพดานหนี้ล่าสุดยังมีความเป็นไปได้ที่การใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ จะบานปลาย และทำให้ต้องมีการพูดคุยตกลงขยายเพดาหนี้อีกครั้งในปี 2025

 

ทั้งนี้ บรรดาสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติทราบดีว่ามีตัวเลือกที่ยากลำบากอยู่ข้างหน้า และทางเดียวที่จะผ่านไปได้คือสหรัฐฯ ต้องจัดการลดค่าใช้จ่ายในเชิงลึกผสานกับการขึ้นภาษีในวงกว้าง ตลอดจนการปรับโครงสร้างที่สำคัญต่อรายได้หลังเกษียณและโครงการดูแลสุขภาพที่ใช้ส่วนแบ่งการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางที่เพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับการใช้จ่ายภาคบังคับของรัฐบาลกลางหมายรวมถึงประกันสังคม Medicare และ Medicaid ถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของรัฐบาล โดยหมวดหมู่ดังกล่าวมีขนาดเท่ากับ 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐฯ ขณะที่ทางสำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (CBO) คาดว่าค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวจะขยายตัวเติบโตเป็น 15.6% ภายในปี 2023 สวนทางกับการใช้จ่ายตามโครงการแผนงานประเภทที่รัฐสภาอนุมัติให้เป็นรายปี (Discretionary Spending) เช่น งบประมาณทางทหาร ที่มีแนวโน้มลดลง โดยการใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 6.5% ของ GDP ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะลดลงเหลือ 6% ภายใน 10 ปี

 

มาร์ค โกลด์ไวน์ รองประธานอาวุโสของคณะกรรมการที่รับผิดชอบงบประมาณของรัฐบาลกลาง (Committee for a Responsible Federal Budget) เชื่อว่าไบเดนและแมคคาร์ธีจะสามารถหาทางลดการเติบโตของการใช้จ่ายสำหรับโครงการดูแลสุขภาพและประกันสังคม

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณส่วนหนึ่งกลับเห็นว่า ข้อตกลงการขยายเพดานหนี้ที่มาพร้อมเงื่อนไขในการตัดลดรายจ่ายเป็นเพียงทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยมีแรงจูงใจเพื่อหวังผลทางเมือง โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เห็นตรงกันว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันและชุดต่อๆ ไปในอนาคตต้องทำก็คือการหาหนทางที่จะยุติกลไกเพดานหนี้และเลิกใช้เพดานหนี้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองที่ไร้เหตุผล เพื่อที่ทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตจะได้ไม่มีข้อต่อรองระหว่างกันอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้

 

โดยนักวิเคราะห์เศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่งแย้งว่า แม้รัฐบาลกลางจะมีหนี้ในระดับสูงกว่า 31 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยรวมมีสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ทางการเงินมูลค่ามากกว่า 143 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าภาระหนี้ในปัจจุบันสามารถจัดการได้ ดังนั้นการบอกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ในสภาวะถังแตกจึงไม่ใช่ความจริง และปัญหาการขาดดุลก็ไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงกัน

 

กระนั้นนักวิเคราะห์ยอมรับว่าเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่ควรเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะไม่ดำเนินการปฏิรูปนโยบายการเงินการคลังเพื่อรักษาสมดุลการใช้จ่ายของภาครัฐ เพราะยิ่งดำเนินการล่าช้ามากเท่าไร การเปลี่ยนแปลงนโยบายก็ยิ่งต้องใหญ่ขึ้นเท่านั้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X